5 อาการโรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อม โรคฮิตของวัยทำงานไม่แพ้ออฟฟิศซินโดรม !!
นอกจากอายุที่มากขึ้นแล้ว การนั่งทำงานในท่าเดิมนาน ๆ ก็สามารถส่งผลให้เกิดโรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อมได้ค่ะ ซึ่งในคนที่มีอาการปวดคอ ปวดบ่าไหล่ ปวดร้าวลงไปที่แขน รวมถึงมีอาการชาและอ่อนแรง ในบางคนถึงขั้นยกแขนไม่ขึ้น อาการแบบนี้หากเกิดขึ้นแล้วแน่นอนว่าต้องกระทบกับชีวิตประจำวันดังนั้นจึงต้องระวังให้ดีค่ะ
โรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อมสามารถเกิดขึ้นได้กับหนุ่มสาวคนวัยทำงาน ซึ่งในปัจจุบันก็กลายเป็นโรคยอดฮิตไม่แพ้โรคออฟฟิศซินโดรมกันเลยทีเดียว และถึงแม้ว่าจะสามารถรักษาโรคนี้ได้หลายวิธีทั้งการผ่าตัดและไม่ผ่าตัด แต่การระวังไว้เสียแต่เนิ่น ๆ ไม่ให้เป็นโรคและไม่ให้มีอาการหนักย่อมดีกว่าค่ะ ดังนั้นวันนี้เราจึงได้รวบรวมอาการของโรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อม รวมถึงสาเหตุและวิธีดูแลตัวเองมาให้ด้วย เพื่อเป็นการป้องกันไว้ก่อนดีกว่ามารักษาทีหลังค่ะ
สาเหตุหลักของหมอนรองกระดูกคอเสื่อม
ถึงแม้ว่าโรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อมจะพบมากในผู้สูงอายุและคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไป แต่ในปัจจุบันกลับพบว่าคนวัยทำงานเป็นโรคนี้กันมากขึ้นค่ะ โดยสาเหตุหลัก ๆ ของการเกิดโรคนี้ในกลุ่มคนหนุ่มสาวคือการใช้กล้ามเนื้อที่ผิดลักษณะ เช่น การนั่งทำงานในท่าทางที่ไม่ถูกต้อง การนั่งอยู่ในท่าเดิมนาน ๆ อย่างการใช้คอมพิวเตอร์นาน ๆ หรือการนั่งก้มหน้าเล่นมือถือนาน ๆ ซึ่งท่าทางแบบนี้สามารถทำให้เกิดโรคได้ นอกจากนี้การเกิดอุบัติเหตุบางอย่างก็ทำให้เกิดโรคได้เช่นกัน โดยอุบัติเหตุนั้นทำให้หมอนรองกระดูกมีการเคลื่อนที่ไปกดทับเส้นประสาทหรือไขสันหลังค่ะ
อาการของโรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อม
- ปวดคอ ปวดไหล่ โดยอาจจะมีความรู้สึกปวดร้าวลงไปถึงแขนได้
- รู้สึกชาหรืออ่อนแรงบริเวณแขน มือ ขาและเท้า
- มีอาการคอแข็ง ขยับหรือเคลื่อนไหวคอได้ไม่สะดวก
- อาจมีอาการเดินลำบาก เพราะมีส่วนใดส่วนหนึ่งในร่างกายผิดปกติและไม่สามารถทำงานประสานกันได้เหมือนเดิม
- ในบางรายที่มีอาการหนัก อาจถึงขั้นไม่สามารถควบคุมระบบขับถ่ายได้
วิธีดูแลด้วยตัวเองไม่ให้เป็นโรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อม
วิธีดูแลตัวเองที่ง่ายที่สุดเพื่อให้ห่างไกลจากโรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อมนั่นก็คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมค่ะ การไม่นั่งในท่าเดิมนาน ๆ หรืออยู่ในอิริยาบถเดิมนาน ๆ สามารถช่วยให้เราไม่เป็นโรคนี้ได้ โดยเราควรยืดและเหยียดกล้ามเนื้อ 1 นาที ในทุก ๆ 1 ชั่วโมง และหากต้องนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ก็ควรปรับขนาดหน้าจอให้พอดีกับสายตา นั่งหันหน้าให้ตรงกับจอ ปรับความสูงของโต๊ะและเก้าอี้ให้พอดี เก้าอี้ควรเลือกใช้แบบที่มีพนักพิงและนั่งให้เต็มก้น ซึ่งหากทำได้แบบนี้ก็จะสามารถช่วยให้เราห่างไกลจากโรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อมรวมถึงโรคออฟฟิศซินโดรมได้ และนอกจากจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว การหมั่นออกกลังกายและบริหารกล้ามเนื้อคอให้แข็งแรงก็สามารถช่วยป้องกันโรคนี้ได้อีกทางค่ะ
อ้างอิง
- https://www.phyathai.com/หมอนรองกระดูกคอเสื่อม ภัยเงียบที่ต้องระวัง!
- https://www.samitivejhospitals.com/หมอนรองกระดูกคอเสื่อมโรคฮิตของคนทำงาน
บทความที่คุณอาจสนใจ
- 4 ท่าโยคะ แก้ปวดหลัง ปวดคอ ช่วง Work From Home นั่งทำงานท่าเดิมนานๆ
- 5 ท่าบริหารคอ แก้ปวดต้นคอ สำหรับคนทำงาน นั่งนานๆ ช่วง Work from Home