โรคกลัวเข็ม คืออะไร? ... อาการที่เราเป็นใช่โรคนี้หรือไม่ จะรับมืออย่างไรดี

ความกลัว ถือเป็นเรื่องปกติของคนทั่วไปที่สามารถเกิดขึ้นได้ค่ะ แต่เมื่อใดก็ตามที่ความกลัวมีมากเกินกว่าจะควบคุมได้และกระทบกับชีวิตประจำวันของเรา เมื่อนั้นก็ต้องรีบรักษาให้ดีขึ้นโดยด่วน โรคกลัวเข็มฉีดยา ก็เช่นเดียวกันค่ะ ยิ่งในช่วงนี้มีเรื่องของการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโควิดด้วย จึงทำให้มีหลายคนสงสัยว่าตนเองนั้นจะเป็นโรคกลัวเข็มฉีดยาหรือเปล่า แล้วโรคกลัวเข็มคืออะไร มีสาเหตุหรือไม่ รวมถึงเมื่อมีอาการขึ้นมาแล้ว เราจะจัดการกับอาการกลัวของตัวเองอย่างไรดี วันนี้เรามีคำตอบมาให้ค่ะ
โรคกลัวเข็ม คืออะไร
โรคกลัวเข็ม Trypanophobia (ทริปพาโนโฟเบีย) หรือ Needle Phobia คือความกลัวต่อกระบวนการทางการแพทย์ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการฉีดยาหรือเข็มฉีดยา อาการนี้มักพบในเด็กและอาจลดลงเมื่ออายุมากขึ้น และอาการอาจลดลงได้ในกลุ่มผู้ที่ต้องเข้ารับการทำหัตถการและการฉีดยาบ่อยๆ อย่างไรก็ตามสำหรับบางคนความกลัวต่อเข็มฉีดยานี้อาจยังคงรุนแรงและน่ากังวลอยู่แม้ว่าจะเข้าช่วงวัยผู้ใหญ่แล้วก็ตาม
โรคกลัวเข็มถือเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคกลัวเฉพาะอย่าง (Specific Phobia) โรคชนิดนี้ถูกบันทึกไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1994 โดยได้ระบุไว้ว่าเป็นความกลัวต่อการทำหัตถการทางการแพทย์ เช่น การฉีดยา เจาะเลือด เย็บแผล รวมไปถึงการที่มีของแหลมคมมาสัมผัสโดนตัว ซึ่งโรคกลัวเข็มฉีดยานี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนและทุกวัย โดยสาเหตุนั้นอาจจะมาจากพันธุกรรม ประสบการณ์ในการเลี้ยงดู หรือการได้รับความกระทบกระเทือนทางอารมณ์ทำให้คนไข้ฝังใจและเกิดความกลัวต่อสิ่งนั้น
สาเหตุของโรคกลัวเข็ม
ในทางการแพทย์ยังไม่สามารถสรุปให้แน่ชัดได้ว่าเกิดจากสาเหตุใดกันแน่ที่เป็นสาเหตุของอาการกลัวเข็ม แต่สันนิษฐานว่าน่าจะมีสาเหตุเช่นเดียวกับโรคกลัวอื่นๆ โดยปัจจัยหลายอย่างอาจมีบทบาทที่นำไปสู่โรคได้ เช่น
1. ประสบการณ์ชีวิต
อาจเป็นประสบการณ์เชิงลบเกี่ยวกับเข็มหรือหัตถการทางการแพทย์และทำให้เป็นตัวก่อให้เกิดอาการกลัวเข็ม เช่น ผู้ที่เป็นโรคกลัวเข็มฉีดยาอาจะเกิดจากผู้ที่มีภาวะเจ็บป่วยเรื้อรังจนต้องฉีดยาเป็นประจำ
2. พันธุกรรมและประวัติครอบครัว
มีความเป็นไปได้ว่าผู้ที่เป็นโรคกลัวเข็มอาจจะได้รับการสืบทอดมาจากผู้ใหญ่ในครอบครัว โดยอาจจะมีญาติเป็นโรคกลัวแบบเดียวกัน ซึ่งความกลัวแบบนี้อาจมาการเรียนรู้ในครอบครัวมากกว่าที่จะถ่ายทอดทางพันธุกรรม
อาการของโรคกลัวเข็ม
ในผู้ป่วยที่เป็นโรคกลัวเข็ม แน่อนว่าต้องมีอาการกลัวการถูกฉีดยาหรือเมื่อต้องเข้ารับการทำหัตถการ โดยอาจจะมีความดันโลหิตสูง อัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้นหรืออาจจะมีภาวะความดันโลหิตลดลงอย่างรวดเร็วและอาจเป็นลมได้ นอกเหนือจากนี้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคกลัวเข็ม ยังมีอาการอื่นๆ ได้อีก ดังนี้
- วิตกกังวล
- เวียนหัว
- นอนไม่หลับ
- คลื่นไส้
- หัวใจเต้นแรง
- หายใจเร็ว
- เหงื่อออก
- ตัวสั่น
นอกจากนี้ผู้ป่วยจะมีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการเข้ารับการฉีดยาหรือเข้ารับการทำหัตถการ และอาจส่งผลต่อการรักษาพยาบาลได้ เพราะผู้ป่วยจะปฏิเสธการรักษาเนื่องจากกลัวเข็มฉีดยา และในบางกรณีความรู้สึกวิตกกังวลเหล่านี้อาจรุนแรงจนบุคคลประสบกับอาการตื่นตระหนก ช็อคและหมดสติจนก่อให้เกิดอันตรายอื่นๆ ได้ตามมา
ผลกระทบของโรคกลัวเข็ม
นอกเหนือจากอาการทางร่างกายที่มักเกิดร่วมกับภาวะนี้ โรคกลัวเข็มยังสามารถสร้างอันตรายเพิ่มเติมได้อีก โดยผู้ป่วยอาจหลีกเลี่ยงการไปพบแพทย์หรือทันตแพทย์ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องฉีดยาใดๆ
แม้ว่าความหวาดกลัวที่เกิดขึ้นจะมาจากการใช้เข็ม แต่ก็สามารถนำไปสู่ความกลัวในวงกว้างมากขึ้นต่อผู้ให้บริการด้านการแพทย์และทันตกรรม ในกรณีที่รุนแรง คนที่เป็นโรคกลัวเข็มนี้อาจปฏิเสธที่จะรับการตรวจร่างกายตามปกติ และหลีกเลี่ยงการไปพบแพทย์เพื่อจะได้ไม่ต้องเผชิญกับสิ่งที่ตนเองกลัว ซึ่งอาจจะทำให้โรคเจ็บป่วยอื่นๆ ที่เป็นอยู่เกิดการลุกลามและยากต่อการรักษา จนไปถึงขั้นเสียชีวิตได้
การจัดการกับอาการกลัวเข็มฉีดยา
สิ่งหนึ่งที่อาจช่วยให้คุณรับมือกับความกลัวเข็มฉีดยาและการฉีดยาได้คือการพยายามผ่อนคลายค่ะ เช่น
- หายใจลึกๆ
- หันหน้าหนีแล้วมองไปทางอื่น
- ผ่อนคลายกล้ามเนื้อในร่างกายด้วยการนั่งสบายๆ
- ทำสมาธิแล้วพยายามควบคุมอารมณ์และร่างกายของตัวเองให้อยู่นิ่ง
- เบี่ยงเบนความสนใจของตัวเองไปที่อื่น โดยลองหันเหความสนใจของตัวเองด้วยการฟังเพลงหรือพูดคุยกับบุคคลอื่นในระหว่างการฉีดยา
การรักษาโรคกลัวเข็ม
สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคกลัวเข็ม แพทย์อาจจะรักษาโรคกลัวนี้ด้วยการใช้จิตบำบัด แต่บางครั้งอาจมีการสั่งยาเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยรับมือกับอาการวิตกกังวลที่เกิดจากโรคดังกล่าวได้ค่ะ
โดยการรักษาแบบจิตบำบัด แพทย์จะใช้เทคนิคในการรักษาต่างๆ ซึ่งมีเป้าหมายในการรักษาเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติมากที่สุด โดยแพทย์อาจจะให้คุณได้ลองสัมผัสเข็มในสภาพแวดล้อมที่มีการควบคุมและปลอดภัย ซึ่งอาจจะเริ่มจากการเห็นหลอดฉีดยาที่ไม่มีเข็ม จากนั้นจึงใช้เข็มฉีดยาที่มีเข็ม และสุดท้ายก็ให้คุณจับเข็มได้ ส่วนยาที่ใช้ในการรักษา แพทย์จะจ่ายยาให้เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยได้ลดความวิตกกังวลและบรรเทาอาการต่างๆ ของผู้ป่วยที่แสดงออกมาค่ะ
โรคนี้ถือเป็นอาการร้ายแรงที่ควรได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เนื่องจากในที่สุดแล้วอาจทำให้คุณพลาดการรักษาพยาบาลที่จำเป็นได้ค่ะ และถ้าคนมีคนใกล้ตัวที่เป็นโรคนี้ก็ให้รีบพาไปรักษาอย่างจริงจัง เพราะถึงแม้ว่าจะมีอาการหนักแค่ไหน แต่โรคนี้ถือเป็นโรคที่รักษาได้ อย่าปล่อยให้ความหวาดกลัวต่อเข็มฉีดยามารบกวนกับการใช้ชีวิต รีบปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเกี่ยวกับทันทีเพื่อรับการรักษาโดยด่วนค่ะ
อ้างอิง
- โรคกลัว | Re-Mind : อารมณ์ ความคิด พฤติกรรม [Mahidol Channel]
- https://hellokhunmor.com/รู้จักกับ โรคกลัวเข็ม โรคใกล้ตัวที่คุณอาจเป็นแบบไม่รู้ตัว
- https://www.verywellmind.com/What Is Trypanophobia?
บทความที่คุณอาจสนใจ
- วิธีรับมือกับสุขภาพจิตช่วงวิกฤต COVID-19 เราแค่ระวังตัวมาก หรือ พารานอยด์กันแน่?
- เช็กตัวเอง! เรากลัวการฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือเปล่า