รีเซต

7 อาหารช่วยลดแก๊สในกระเพาะ ลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ พะอืดพะอม

7 อาหารช่วยลดแก๊สในกระเพาะ ลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ พะอืดพะอม
BeauMonde
29 สิงหาคม 2566 ( 10:42 )
326

     อาการท้องอืดท้องเฟ้อ มีแก๊สในกระเพาะ ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ ในบางรายอาจเป็นบ่อยหรือในบางรายอาจเป็นมากจนมีอาการพะอืดพะอมหรืออาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ซึ่งสาเหตุของปัญหาท้องอืดท้องเฟ้อ มีแก๊สในกระเพาะ อาจมาจากการรับประทานอาหารที่เร็วเกินไป เคี้ยวไม่ละเอียด อาหารที่ย่อยยาก หรืออาจมาจากความอ่อนแอของระบบทางเดินอาหาร

     อาการเหล่านี้ยังมีความเกี่ยวข้องกับความเครียด ปัญหากระเพาะอาหารผิดปกติ ความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคลำไส้แปรปรวน (IBS) และโรคลำไส้อักเสบ (IBD) หรือการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในลำไส้ที่มากเกินไป ความไม่สมดุลของฮอร์โมน และการรับประทานยาบางชนิดก็มีส่วน

     อาการท้องอืดและการมีแก๊สในกระเพาะอาหารอาจเป็นเหตุการณ์ปกติหลังจากรับประทานอาหารบางอย่าง การบริโภคอาหารที่มีไฟเบอร์และไขมันมากเกินไปอาจทำให้การย่อยอาหารในกระเพาะช้าลง ถึงแม้จะทำให้ท้องอิ่มแต่ก็อาจจะรู้สึกอึดอัดในภายหลัง การใช้หลอดดูดก็สามารถดึงอากาศบางส่วนเข้าไปในทางเดินอาหารและทำให้เกิดปัญหาแก๊สในกระเพาะได้ด้วยเช่นกัน

     หากอาการท้องอืดไม่หายไปเสียที และมีอาการแย่ลงอย่างต่อเนื่อง หรือในบางคนมีปัญหาพฤติกรรมการขับถ่ายเปลี่ยนแปลงไป ควรได้รับการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างเร่งด่วน แต่สำหรับผู้ที่มีปัญหาท้องอืดและแก๊สในกระเพาะอาหารเป็นประจำและไม่มีอาการแทรกซ้อนที่ผิดปกติ ลองใช้วิธีรักษาแบบธรรมชาติง่าย ๆ ด้วยการเลือกรับประทานอาหารเหล่านี้ เพื่อให้ระบบย่อยอาหารของเราทำงานได้ดีขึ้น

 

 

7 อาหารช่วยลดแก๊สในกระเพาะ ลดท้องอืด

 

1. ขิง

 

 

     ขิงสามารถกระตุ้นการเคลื่อนไหวภายในทางเดินอาหารและช่วยบรรเทาอาการท้องผูกรวมถึงอาการท้องอืดได้ รวมถึงขิงยังเป็นยาตามธรรมชาติที่ช่วยแก้อาเจียน พะอืดพะอม ตามข้อมูลของ University of Michigan Health เราสามารถรับประทานได้ทั้งขิงสด ชาขิง หรือขิงผงแบบบรรจุแคปซูล ก็สามารถช่วยบรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อได้

 

2. สะระแหน่

 

 

     สะระแหน่มีสารประกอบอินทรีย์ที่เรียกว่า แอล-เมนทอล ซึ่งช่วยลดอาการระคายเคืองภายในกระเพาะอาหารและลำไส้ ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อในระบบทางเดินอาหาร และอาจช่วยบรรเทาอาการปวดท้องรวมถึงอาการท้องอืดได้ อย่างไรก็ตามหากเรามีความเสี่ยงต่อโรคกรดไหลย้อน ควรเว้นการดื่มชาเปเปอร์มิ้นต์ ชามิ้นต์และสะระแหน่

 

3. สับปะรด

 

 

     สับปะรดมีเอนไซม์ที่เรียกว่าโบรมีเลนซึ่งช่วยในการย่อยโปรตีน สารชนิดนี้สามารถช่วยรักษาอาการอาหารไม่ย่อยและอาการอักเสบในร่างกาย การรับประทานสับปะรดอาจมีส่วนช่วยกระตุ้นการย่อยอาหาร ลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยขับปัสสาวะและช่วยลดปัญหาแก๊สในกระเพาะอาหาร

 

4. มะละกอ

 

 

     เช่นเดียวกับสับปะรด มะละกอมีเอนไซม์ที่เรียกว่าปาเปนซึ่งช่วยสลายโปรตีนในระหว่างการย่อยอาหาร และอาจให้สรรพคุณเดียวกันกับสับปะรดในการช่วยลดปัญหาท้องอืด นอกจากนี้มะละกอยังเป็นแหล่งไฟเบอร์ ซึ่งอาจช่วยขับถ่ายและอาจช่วยลดอาการบวมได้ด้วย

 

5. แตงกวา

 

 

     การให้ความชุ่มชื้นกับร่างกายก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยลดอาการผิดปกติต่าง ๆ ในระบบทางเดินอาหารได้ หากคุณมีปัญหาท้องอืดท้องเฟ้อจนรู้สึกว่าท้องของเราบวมขึ้น การรับประทานผักที่มีน้ำสูงอย่างเช่น แตงกวา ซึ่งมีน้ำเป็นองค์ประกอบมากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ ก็สามารถช่วยเพิ่มปริมาณของเหลวในร่างกายได้ และนอกจากยังอาจช่วยลดอาการท้องอืดได้อีกด้วย

 

6. กีวี

 

 

     ผลไม้ชนิดนี้อุดมไปด้วยโพแทสเซียม ซึ่งเป็นอิเล็กโทรไลต์สำคัญที่ช่วยขับโซเดียมออกจากร่างกาย การกักเก็บโซเดียมจะทำให้ร่างกายกักน้ำไว้ซึ่งอาจทำให้ท้องอืดได้ ดังนั้นอาหารที่มีโพแทสเซียมสูงก็อาจช่วยลดอาการท้องอืดได้เช่นกัน นอกจากนี้สารประกอบในกีวีที่เรียกว่าแอคตินิดิน ก็ช่วยทำหน้าที่เป็นเครื่องช่วยย่อยอาหาร ทำให้การรับประทานกีวีอาจสามารถช่วยลดปัญหาอาหารไม่ย่อยได้

 

7. คื่นฉ่าย

 

 

     คื่นฉ่ายเป็นผักที่สามารถช่วยให้ความชุ่มชื้นแก่ร่างกายได้เพราะมีน้ำอยู่ถึงร้อยละ 95 เช่นเดียวกับแตงกวา คื่นฉ่ายยังทำหน้าที่เป็นยาขับปัสสาวะและมีเส้นใยที่เป็นมิตรต่อลำไส้ ซึ่งอาจลดอาการท้องอืดและอาการท้องผูกได้

 

บทความที่คุณอาจสนใจ

 

บทความที่เกี่ยวข้อง