รีเซต

ข้อแตกต่างของกองทุนรวม SSF และ RMF และวิธีการเลือกให้เหมาะกับตัวเอง

ข้อแตกต่างของกองทุนรวม SSF และ RMF และวิธีการเลือกให้เหมาะกับตัวเอง
Beau_Monde
4 ธันวาคม 2563 ( 10:46 )
3.6K

     กองทุนรวมที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ ตอนนี้มีหลักๆ อยู่ 2 กองทุน คือ SSF และ RMF ค่ะ ทั้ง 2 กองทุนนี้มีเพื่อการลงทุนระยะยาว แต่ว่าในรายละเอียดของทั้ง 2 กองทุนนี้แตกต่างกันอย่างไร เราควรที่จะเลือกลงทุนกองทุนไหน ถ้าใครที่กำลังมองหากองทุนที่ลงทุนระยะยาวและอยากจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี ปลายปีแบบนี้ก็ห้ามพลาดการซื้อทั้ง 2 กองทุนนี้ค่ะ แต่ว่าเราควรจะซื้อตัวไหนที่เหมาะกับเรามากที่สุด วันนี้เรามีวิธีเลือกมาฝากกันค่ะ

 

 

ความแตกต่างของกองทุน SSF และ RMF

     แต่ก่อนที่จะไปซื้อกองทุน เรามาทำความรู้จักกับทั้ง 2 กองทุนกันแบบคร่าวๆ กันก่อนดีกว่า ซึ่งเราจะสรุปแบบให้เข้าใจง่ายๆ ค่ะ เริ่มกันที่ 

1.กองทุน SSF 

     กองทุน SSF หรือชื่อเต็มก็คือ Super Saving fund เป็นกองทุนรวมเพื่อการออม โดยตัวนี้มีมาแทน LTF ค่ะ กองทุน SSF นั้นมีรายละเอียดเริ่มจากวงเงินหรือว่าสิทธิ์ในการลดหย่อนภาษี คือไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมินทั้งปี และสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท ยกตัวอย่างเช่นปี 63 ทั้งปีนี้ เรามีรายได้ 3000,000 บาท จะนำไปลดหย่อนได้ไม่เกิน 90,000 บาทค่ะ แต่สำหรับบางคนที่มีรายได้เยอะก็จะลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาทค่ะ 

     นอกจากนี้ยังมีเพดานอีกขั้นหนึ่งด้วย เมื่อนำมานับรวมกับการลงทุนเพื่อเกษียณอื่นๆ ก็จะลดหย่อนไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งสิ่งที่จะนำมานับรวมก็จะมี SSF, RMF, PVD, กบข., กอช. และประกันชีวิตแบบบำนาญ  ซึ่งพวกนี้คือพวกที่เกี่ยวกับการลงทุนเพื่อเกษียณทั้งหลายค่ะ

     ต่อมาก็เป็นหลักทรัพย์ที่นำไปลงทุน กองทุน SSF นั้นมีให้เลือกลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นตลาดเงิน ตราสารหนี้ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศและ SSF มีทั้งกองทุนที่มีนโยบายจ่ายปันผลและไม่จ่ายปันผล ซึ่งเราสามารถเลือกได้ รวมถึง SSF ยังไม่มีขั้นต่ำในการซื้อนะคะ หมายความว่า เราจะซื้อกี่กองทุนก็ได้ ซื้อกี่ครั้งก็ได้ และไม่จำเป็นต้องซื้อทุกปี ซื้อปีไหนก็ลดหย่อนภาษีปีนั้น ยกตัวอย่างเช่น หากเราต้องการลดหย่อนภาษีปี 63 ก็สามารถซื้อภายในปีนี้ได้เลย แต่แนะนำว่าให้ซื้อกองทุน SSF ให้เสร็จภายใน 31 ธันวาคม 63 ค่ะ โดยระยะเวลาในการลดหย่อนภาษีนั้นได้ตั้งแต่ปี 2563 - 2567 

     และสุดท้ายก็คือระยะเวลาถึอครองหรือว่าวันที่เราจะขายคืนได้ โดยเราจะต้องถือครองกองทุน SSF เป็นระยะเวลา 10 ปีค่ะ นับแบบวันชนวัน และนับเป็นแต่ละกองทุนไปค่ะ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าปีนี้เราซื้อครั้งแรกวันที่ 1 ธันวาคม 2563 กองทุนนี้จะขายคืนได้เมื่อครบ 10 ปี และถ้านับแบบวันชนวันก็คือจะขายคืนได้ในวันที่ 2 ธันวาคม 2573 นับเป็นรอบใครรอบมัน คล้ายกับสลากออมทรัพย์นั้นเองค่ะ

     

2. กองทุน RMF

     กองทุน RMF หรือกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพค่ะ กองทุนนี้มีมาหลายปี แต่ว่าก็มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดอยู่เรื่อยๆ ซึ่งเราจะมาอัพเดทเงื่อนไขล่าสุดของปีนี้ให้ค่ะ

     สำหรับวงเงินหรือว่าสิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีจะได้อยู่ที่ไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ของเงินได้พึงประเมินทั้งปี แต่ว่าเพดานของกองทุนนี้จะสูงกว่า คือไม่เกิน 500,000 บาทค่ะ ยกตัวอย่าง หากเรามีรายได้ทั้งปีที่ 300,000 บาท ก็จะนำมาลดหย่อนได้ไม่เกิน 90,000 บาท แต่ว่าใครที่มีรายได้เยอะๆ ก็จะมีเพดานสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท และสิ่งที่จะนำมานับรวมก็จะคล้ายๆกับ SSF ในข้อแรกค่ะ คือ SSF, RMF กองทุนกบข., ประกันชีวิตแบบบำนาญและกองทุนกอช. ซึ่งรวมทั้งหมดนี้จะนำมาลดหย่อนได้ไม่เกิน 500,000 บาทค่ะ

     หลักทรัพย์ที่กองทุน RMF สามารถลงทุนได้ ก็มีให้เลือกลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์เลย เช่น ตราสารหนี้, หุ้นต่างประเทศหรือสินทรัพย์อื่นๆ แต่กองทุน RMF ทุกกอง ไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผลนะคะ เพราะเป็นกองทุนเพื่อการเกษียณจริงๆ 

     ต่อมาก็คือขั้นต่ำในการซื้อ ซึ่งรายละเอียดอัพเดทล่าสุดก็คือ ไม่มีขั้นต่ำในการซื้อ เราจะซื้อเท่าไหร่ก็ได้ กี่กองทุนก็ได้ กี่ครั้งก็ได้ แต่ว่าเงื่อนไขของกองทุน RMF คือเราจะต้องลงทุนต่อเนื่อง 5 ปี ขาดได้ไม่เกิน 1 ปีติดต่อกัน หมายถึงว่า ถ้าสมมุติเราเริ่มซื้อตอนแรกในปี 63 ก็จะต้องซื้อในปี 64 รวมถึงปี 65 66 และ 67 เพื่อจะได้ครบ 5 ปี แต่หากปีใดปีหนึ่งขาดไป เช่น ปี 64 เราไม่ได้ซื้อ ก็ยังถือว่าอยู่ในเงื่อนไขเพราะขาดได้ไม่เกิน 1 ปีค่ะ และการลดหย่อนภาษีของกองทุนนี้คือซื้อปีไหนลดหย่อนปีนั้นค่ะ

     สุดท้ายก็คือระยะเวลาถือครองหรือว่าเงื่อนไขที่จะขายคืน ต้องถือครองอย่างน้อย 5 ปี นับจากวันที่เข้าซื้อครั้งแรกค่ะ ยกตัวอย่าง หากเราซื้อปี 63 เราก็ต้องถือครองไปจนถึงปี 67 และเงื่อนไขที่ 2 ก็คือ เราจะขายได้ก็ต่อเมื่อเราอายุ 55 ปีบริบูรณ์เป็นต้นไปค่ะ เพราะกองทุนนี้มีสำหรับการเกษียณค่ะ 

 

3 วิธีเลือกลงทุนในกองทุน SSF และ RMF

1. พิจารณาจากเป้าหมาย

     ก่อนที่เราจะซื้อหรือว่าจะเลือกลงทุนในกองทุนไหน เราก็ต้องรู้ว่าจุดประสงค์ของการลงทุนของเราคืออะไร และต้องการการลงทุนเพื่อประโยชน์ใด เพราะว่าทั้ง 2 กองทุนนี้มีระยะเวลาแตกต่างกัน ถ้าเรามองไว้ว่าเราต้องการใช้เงินตอนอายุ 55 หรือว่าตอนเกษียณอายุเลย RMF ก็จะตอบโจทย์มากกว่า แต่ว่าถ้าเราเน้นการออมระยะยาวแต่แค่ประมาณ 10 ปี พอครบ 10 ปีก็ขายได้แล้วอะไรแบบนี้ ก็ให้เลือก SSF จะตอบโจทย์มากกว่าค่ะ

 

2. พิจารณาจากอายุ

     ดูอายุของตัวเราเองประกอบกับระยะเวลาในการลงทุนค่ะ ยกตัวอย่าง ถ้าเราอายุยังไม่ถึง 45 ปี การที่เราเลือกลงทุนในกองทุน SSF ก็จะใช้เวลาในการลงทุนที่สั้นกว่า เพราะว่า SSF กำหนดเอาไว้ที่ 10 ปี ถ้าเราเริ่มซื้อกองทุน SSF เมื่ออายุ 30 ปี เราก็จะขายคืนหน่วยลงทุนได้เมื่อตอนอายุ 40 ปี ซึ่งจะเห็นได้ว่าการลงทุนจะสั้นกว่าการเลือกแบบ RMF ค่ะ ในทางกลับกัน หากเราอายุ 50 ปีขึ้นไป การเลือกลงทุนในกองทุน RMF จะใช้เวลาที่สั้นกว่า SSF เพราะว่าจะสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้เมื่อตอน 55 ปีบริบูรณ์เท่ากับว่าเราใช้เวลาลงทุนเพียง 5 ปีค่ะ

 

3. ภาระผูกพัน

     หากไม่อยากต้องมีภาระผูกพัน อยากจะซื้อกันเป็นปีต่อปี เราก็เลือกซื้อ SSF ค่ะ อย่างเช่นปีไหนที่เราน่าจะเสียภาษีเยอะ เราก็ซื้อ ปีหน้าเราไม่เสียภาษีแล้ว ก็ไม่ต้องซื้อ ถ้าเป็นแบบนี้ก็เลือก SSF จะง่ายกว่าและจะคล่องตัวกว่า เพราะไม่มีภาระผูกพัน ไม่ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปีเหมือน RMF ค่ะ

 

บทความที่คุณอาจสนใจ

กองทุนรวมคืออะไร? ... 4 ข้อควรรู้ก่อนซื้อกองทุน สำหรับมือใหม่

3 แหล่งซื้อกองทุน ซื้อกองทุนรวมที่ไหน และวิธีเลือกสำหรับมือใหม่

บทความที่เกี่ยวข้อง