รีเซต

5 วิธีบริหารเงิน เมื่อรายได้ลดลง แต่รายจ่ายเท่าเดิม

5 วิธีบริหารเงิน เมื่อรายได้ลดลง แต่รายจ่ายเท่าเดิม
Beau_Monde
10 ธันวาคม 2563 ( 15:12 )
3.4K

     รายได้ลดลง แต่ว่ารายจ่ายเท่าเดิม หากใครที่รู้สึกว่าชีวิตช่วงนี้ อะไรก็ติดขัดไปหมด เราแนะนำให้ลองจัดระเบียบทางการเงิน รีบหาแนวทางจัดสรรเงินเสียใหม่ ซึ่งหากเรารู้สาเหตุ รู้วิธีการแก้ปัญหาได้อย่างชัดเจน ก็ไม่แน่ว่าสถานการณ์ที่เป็นวิกฤต อาจจะสร้างโอกาสที่ดีกว่าเดิมให้กับทุกคนก็ได้ค่ะ

      สำหรับคนที่รู้สึกว่ากำลังงงหรือสับสนกับชีวิตในช่วงนี้ หรือรู้สึกว่ามีปัญหาเข้ามาโดยเฉพาะในเรื่องของการเงิน วันนี้เรามี 5 แนวทางในการบริหารจัดการเงิน เมื่อรายได้ของเราลดลง แต่ว่าค่าใช้จ่ายของเรายังเท่าเดิม สำหรับใครก็ตามที่เจอวิกฤตในช่วงนี้ ไม่ว่าจะมาจากทั้งโควิด-19 หรือพิษเศรษฐกิจที่มีการปรับลดแรงงาน 5 แนวทางที่จะช่วยเรานั้นมีอะไรบ้าง ลองมาดูไอเดียที่เรานำมาฝากกันค่ะ

 

 

5 วิธีบริหารเงิน เมื่อรายได้ลดลง แต่รายจ่ายเท่าเดิม

1. สำรวจหนี้สิน

     เราจะต้องตรวจสอบหนี้ที่เรามีอยู่ตอนนี้ทั้งหมด ว่าเบ็ดเสร็จแล้วเรามีอยู่เท่าไหร่ ซึ่งในขั้นตอนนี้ แนะนำให้ทุกคนเขียนออกมาค่ะ เพราะว่าการเขียนจะทำให้เราเห็นภาพในมุมที่กว้างขึ้น จากนั้นลองดูว่าหนี้ส่วนไหนที่เราจำเป็นจะต้องจ่ายโดยทันที หรือว่าหนี้ส่วนไหนที่เราสามารถผ่อนผันไปก่อนได้ อย่างการเข้าไปคุยกับธนาคารเพื่อขอผ่อนผันชำระหนี้ หรือมีวิธีไหนที่จะช่วยให้เราเสียดอกเบี้ยน้อยลง เพื่อที่เราจะได้นำเงินที่มีไปทำอย่างอื่นก่อนค่ะ 

 

2. ควบคุมรายจ่าย

     แบ่งเงินใช้ให้เป็นสัดส่วน และอาจจะต้องมีการตีกรอบกับตัวเองนิดนึงค่ะ เพราะว่ารายได้ของเราลดน้อยลง แต่ว่าก็อยากให้ทุกคนคิดแบบนี้ว่ามันจะเป็นเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น เพราะช่วงนี้ชีวิตของเราได้เงินน้อยลง เราก็เลยต้องมีมาตรการที่เข้มข้น ไม่อย่างนั้นเงินที่มีก็จะไม่พอใช้ค่ะ ข้อนี้เราแนะนำเหมือนเดิมเลยคือให้เขียนออกมาว่าเราจะจัดสรรเงินที่เราได้รับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร ค่ากินต้องใช้เท่าไหร่ต่อเดือน ค่าเดินทางต้องใช้เท่าไหร่ค่ะ

 

3. ประหยัด

     หันมาประหยัดและใช้สิ่งที่เรามีอยู่แล้วให้เต็มที่ อย่างเช่นค่าอาหาร ซึ่งค่าอาหารเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะเราจะต้องกินวันละ 3 มื้อ แต่ถ้าในช่วงนี้ เราซื้อกินทุกมื้อหรือว่าสั่งร้านอาหารก็มากินทุกๆ วัน อย่างนี้ก็ไม่ไหวค่ะ เพราะว่ารายได้ของเรานั้นลดน้อยลง เราก็อาจจะต้องทำอาหารกินเองบ้าง โดยการทำแบบง่ายๆ ก็ได้ ซื้อวัตถุดิบมาเก็บเอาไว้ อย่างเนื้อสัตว์ ไข่และข้าวสาร แล้วก็ประกอบอาหารกินเองแบบง่ายๆ เป็นมื้อๆ ไป ซึ่งสิ่งที่เราจะได้นอกจากการประหยัดเงินในกระเป๋าแล้ว เรายังไม่ต้องกังวลเรื่องของความสะอาด และยิ่งถ้าเราอยู่เป็นครอบครัวใหญ่ อยู่อาศัยกันหลายคน ก็จะทำให้เฉลี่ยต้นทุนและประหยัดได้มากกว่าเดิมค่ะ

 

4. เห็นคุณค่าของการออม

     ยามที่ชีวิตของเรามีปัญหาและเกิดวิกฤตแบบนี้ คนที่มีเงินเงินเก็บจะได้เปรียบมากกว่าคนอื่นค่ะ เพราะว่าสามารถที่จะเอาเงินที่เราเก็บออมไว้มาใช้ได้ ทำให้ชีวิตเราเหมือนเดิมค่ะ เพราะฉะนั้นต่อให้มีรายได้น้อยลง หรือรายได้ลดลงมากแค่ไหนก็อย่าลืมให้ความสำคัญกับการเก็บออมนะคะ เรายังคงต้องเก็บออมเหมือนเดิมทุกวัน แต่เราก็สามารถลดจำนวนการเก็บออมลงหากวิกฤติมากๆ เช่น จากเคยเก็บเดือนละ 2,000 - 3,000 บาท อาจจะเหลือเก็บเดือนละ 100 - 200 บาทก็ได้ เพราะอย่างไรก็ยังดีกว่าไม่มีเงินเก็บเลยค่ะ

 

5. มองหาโอกาส

     ข้อนี้ก็เป็นอีกข้อสำคัญค่ะ หลายๆ คนในช่วงนี้อยู่บ้านกันมากขึ้น ไม่ค่อยได้ออกไปไหนตามนโยบายของรัฐ ในช่วงเวลาแบบนี้เราก็สามารถใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ได้ด้วยการฝึกทักษะให้กับตัวเอง อย่างการเรียนตามคอร์สออนไลน์ฟรีต่างๆ หรือการฝึกทำสิ่งของผ่านยูทูปก็ได้ เพื่อเป็นการเพิ่มความสามารถให้กับตัวเอง ไม่แน่ว่าคุณก็อาจจะได้อาชีพเสริมและได้รายได้จากการฝึกด้วยตัวเองแบบนี้ก็ได้ค่ะ

 

บทความที่คุณอาจสนใจ

5 วิธีออมเงิน ที่ลองทำแล้วชีวิตจะดี มีเงินเก็บเพียบ!

5 ขั้นตอนการเก็บเงินที่ควรทำตั้งแต่ต้นปี เพื่อให้มีเงินเหลือใช้ ไม่เดือดร้อน

บทความที่เกี่ยวข้อง