รีเซต

ความเสี่ยงกองทุนคืออะไร !! 8 ระดับความเสี่ยงกองทุนรวม ที่นักลงทุนมือใหม่ควรรู้

ความเสี่ยงกองทุนคืออะไร !! 8 ระดับความเสี่ยงกองทุนรวม ที่นักลงทุนมือใหม่ควรรู้
Beau_Monde
11 ธันวาคม 2563 ( 13:49 )
824

     "การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน" ... ประโยคแบบนี้เราคุ้นๆ ว่าเคยได้ยินจากโฆษณาชี้ชวนการลงทุนต่างๆ ใช่ไหมคะ

     สำหรับนักลงทุนมือใหม่หรือคนที่กำลังจะเริ่มซื้อกองทุนรวม อาจจะกำลังสงสัยว่าความความเสี่ยงกองทุนรวมคืออะไร เราจะพิจารณาซื้อกองทุนอย่างไรดี หากกองทุนที่เราหมายตาไว้มีความเสี่ยงสูง สำหรับใครที่กำลังจะกดซื้อกองทุน วันนี้เรามีสรุปเรื่องความเสี่ยงให้อ่านกันค่ะ 

 

 

ความเสี่ยงกองทุนคืออะไร

     ความเสี่ยงกองทุนรวม หมายถึง ปัจจัยต่างๆ ที่มากระทบกับกองทุนนั้นๆ และทำให้ราคาหลักทรัพย์หรือราคาทรัพย์สินที่กองทุนรวมเข้าไปลงทุนมีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้มูลค่ากองทุนรวมนั้นเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามไปด้วย ซึ่งเมื่อมูลค่าของกองทุนรวมเปลี่ยนแปลงไป ก็จะส่งผลกระทบถึงผลตอบเทนที่เราควรได้รับเมื่อเราลงทุนในกองทุนนั้นๆ ค่ะ โดยความเสี่ยงกองทุนรวมถูกแบ่งออกเป็น 8 ระดับ ไล่ตั้งแต่ความเสี่ยงต่ำมากไปจนถึงความเสี่ยงสูงมาก ดังนี้

 

8 ระดับความเสี่ยงกองทุนรวม

ความเสี่ยงระดับที่ 1 : กองทุนรวมตลาดเงินในประเทศ

     กองทุนรวมตลาดเงินที่ลงทุนเฉพาะในประเทศ มีนโยบายการลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ระยะสั้น โดยตราสารหนี้ระยะสั้น คือตราสารที่มีอายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี และอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้รวมถึงกองทุนรวมไม่เกิน 3 เดือน ซึ่งส่วนใหญ่กองทุนรวมประเภทนี้จะมีสภาพคล่องสูง ผู้ลงทุนสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้ทุกวันทำการ และในวันรุ่งขึ้นก็จะได้รับเงินค่ะ

 

ความเสี่ยงระดับที่ 2 : กองทุนรวมตลาดเงินต่างประเทศ

     กองทุนรวมตลาดเงิน ในความเสี่ยงระดับนี้ก็จะคล้ายๆ กับแบบที่ 1 ค่ะ แต่ว่าความเสี่ยงระดับ 2 นี้จะมีการลงทุนในต่างประเทศด้วยบางส่วนแต่ไม่เกิน 50% ของการลงทุนทั้งหมด นโยบายจัดการคือการลงทุนในเงินฝากและสารหนี้ที่มีระยะสั้น อายุคงเหลือของตราสารไม่เกิน 1 ปี อายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ในกองทุนนี้รวมแล้วไม่เกิน 3 เดือนค่ะ

 

ความเสี่ยงระดับที่ 3 : กองทุนรวมพันธบัตรรัฐบาล

     กองทุนรวมพันธบัตรรัฐบาล นโยบายการลงทุนในความเสี่ยงนี้ก็คือ ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเป็นหลักไม่น้อยกว่า 80% ของการลงทุนทั้งหมดค่ะ กองทุนนี้ก็จะเข้าไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งอายุของพันธบัตรจะยาวมากกว่าความเสี่ยง 2 ระดับแรก คือจะลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุประมาณ 1 ปีขึ้นไป

 

ความเสี่ยงระดับที่ 4 : กองทุนรวมตราสารหนี้

     กองทุนรวมตราสารหนี้ ไม่ว่าจะเป็นตราสารหนี้จากทางภาครัฐ รัฐวิสาหกิจหรือว่าเอกชนก็ตาม โดยตราสารหนี้ภาครัฐ ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรออมทรัพย์ เป็นต้น ส่วนตราสารหนี้ภาคเอกชนก็คือหุ้นกู้ค่ะ ซึ่งสำหรับอัตราส่วนหรือว่าสัดส่วนในการลงทุน จะลงทุนเท่าไหร่ก็เป็นไปตามนโยบายการลงทุนของแต่ละกองทุนค่ะ

 

ความเสี่ยงระดับที่ 5 : กองทุนรวมผสม

     กองทุนรวมผสมก็ตามชื่อเลยค่ะ คือลงทุนผสมกันตามสัดส่วนและตามนโยบายการลงทุน มีการผสมกันทั้งในตราสารหนี้ภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงลงทุนในตราสารทุนด้วย ซึ่งตราสารทุนก็คือหุ้นนั่นเองค่ะ ซึ่งในข้อนี้ก็จะมีระดับความเสี่ยงที่สูงขึ้นมาค่ะ

 

ความเสี่ยงระดับที่ 6 : กองทุนรวมตราสารทุน

     ตราสารทุนก็คือการลงทุนในหุ้นค่ะ นโยบายของกองทุนประเภทความเสี่ยงนี้ ก็จะลงทุนในหุ้นเป็นหลักไม่ว่าจะเป็นหุ้นไทยหรือหุ้นต่างประเทศค่ะ

 

ความเสี่ยงระดับที่ 7 : กองทุนรวมตามหมวดอุตสาหกรรม

     กองทุนรวมตามหมวดอุตสาหกรรม ข้อนี้ก็จะลงทุนในตราสารทุนหรือว่าหุ้นเป็นหลักเหมือนกัน แต่ว่าในความสี่ยงระดับ 7 นี้ จะเป็นหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่เฉพาะเจาะจงค่ะ เช่น ลงทุนในหุ้นพลังงานเป็นหลัก หรือลงทุนในหุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์ กลุ่มโรงพยาบาล กลุ่มสุขภาพค่ะ การลงทุนในความเสี่ยงระดับนี้ เราจะต้องอาศัยความรู้และความเข้าใจที่มากขึ้นในหมวดอุตสาหกรรมนั้นๆ ค่ะ

 

ความเสี่ยงระดับที่ 8 : กองทุนรวมสินทรัพย์ทางเลือก

     กองทุนรวมที่มีการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกไม่ว่าจะเป็น โครงสร้างพื้นฐาน ทองคำหรือว่าน้ำมัน เป็นต้น ข้อนี้จัดว่ามีความเสี่ยงสูงสุด เพราะว่าเราจะต้องใช้ความรู้และความเข้าใจอย่างมากในการลงทุนค่ะ ยกตัวอย่างเช่นทองคำ ทองคำก็จะอยู่ในหมวดระดับความเสี่ยงที่ 8 นี้ เพราะว่าทองคำมีการผันผวนของราคาค่ะ ผู้ที่จะเลือกลงทุนในกลุ่มนี้จะต้องเข้าใจธรรมชาติในการลงทุนของสินทรัพย์นั้นๆ ที่เราจะลงทุนก่อนว่ามีความเสี่ยงสูงค่ะ

 

บทความที่คุณอาจสนใจ

กองทุนรวมคืออะไร? ... 4 ข้อควรรู้ก่อนซื้อกองทุน สำหรับมือใหม่

3 แหล่งซื้อกองทุน ซื้อกองทุนรวมที่ไหน และวิธีเลือกสำหรับมือใหม่

ข้อแตกต่างของกองทุนรวม SSF และ RMF และวิธีการเลือกให้เหมาะกับตัวเอง

 

บทความที่เกี่ยวข้อง