4 วิธีเช็คสุขภาพทางการเงินแบบง่ายๆ เพื่อความสบายในอนาคต
นอกเหนือจากสุขภาพร่างกายที่จะต้องแข็งแรงแล้ว สุขภาพจิตใจก็จะต้องดีด้วย แต่อีกหนึ่งสิ่งที่ทุกคนควรหมั่นตรวจสอบให้มีสุขภาพดีไม่แพ้กันก็คือสุขภาพทางการเงินค่ะ ว่าตอนนี้สุขภาพทางการเงินของเราเป็นอย่างไรบ้าง มีจุดไหนผิดพลาดหรือว่าจะต้องปรับแก้ไข เพื่อที่จะทำให้การเงินของเรามั่นคงแข็งแรงต่อไปในอนาคตค่ะ
วันนี้เราได้รวบรวมวิธีเช็คสุขภาพทางการเงิน เพื่ออนาคตทางการเงินที่แข็งแรง ใครที่อยากรู้ว่าสุขภาพทางการเงินของเราเป็นอย่างไร ดีหรือไม่ หรือว่ามีตรงไหนที่ควรจะต้องปรับปรุงแก้ไข วันนี้เรามาตรวจสุขภาพทางการเงินไปพร้อมๆ กันดีกว่าค่ะ
4 วิธีเช็คสุขภาพทางการเงินแบบง่ายๆ
1. เช็คภาระหนี้
ภาระหนี้สินที่เราควรตรวจสอบนั้น แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักค่ะ ก็คือ 1. หนี้สินระยะสั้น หมายถึงหนี้สินที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี ไม่ว่าจะเป็นหนี้ผ่อนสินค้า บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หรือว่าเงินที่หยิบยืมคนอื่นมา และ 2. หนี้สินระยะยาว ซึ่งก็คือหนี้สินที่มีอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นการผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หรือหนี้สหกรณ์ หนี้ธนาคารที่มีการกู้ยืมมา เป็นต้น
จดบันทึกหนี้สินของเราทั้งหมดออกมา เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าตอนนี้เรามีหนี้อยู่เท่าไหร่ เรามีหนี้หรือภาระหนี้ที่จะต้องจ่ายมากเกินไปหรือเปล่า สรุปทั้งเดือนเราจะต้องจ่ายกี่บาท ซึ่งเราจะต้องระวังไม่ให้มีหนี้เกิน 40 เปอร์เซ็นต์ของรายรับของเรานะคะ เช่น ถ้าเรามีรายรับ 30,000 บาทต่อเดือน หนี้ต่างๆ ที่รวมกันทั้งหมดก็ไม่ควรเกิน 12,000 บาทค่ะ เพราะว่าถ้าเรามีหนี้มากไป ก็จะกลายเป็นว่าเราหารายได้มาเท่าไหร่ก็ไม่พอจ่าย แทบจะไม่เหลือกินเหลือใช้เลย ทำให้ไม่ได้เริ่มเก็บออม ไม่ได้เริ่มลงทุนค่ะ หากคนไหนที่ลองตรวจดูแล้วในข้อนี้ยังไม่ผ่าน ก็จะต้องหาทางปรับปรุงแก้ไขนะคะ ไม่ว่าจะเป็นการไม่สร้างหนี้เพิ่ม การลดรายจ่ายหรือว่าเพิ่มรายรับ เพื่อที่จะมาลดเปอร์เซ็นต์ของหนี้ลง และก็เพื่อที่เราจะได้เอาเงินไปทำอย่างอื่นบ้างค่ะ
2. เช็คเงินออมฉุกเฉิน
เงินออมฉุกเฉินของเรามีเพียงพอไหม เพราะเงินออมฉุกเฉินคือรากฐานแรกของความมั่นคงทางการเงิน และเป็นสิ่งที่จะช่วยเราได้มากเวลาเราจำเป็น เราเดือดร้อน เราตกงาน เงินก้อนนี้จะช่วยเราได้ค่ะ เราจะรู้สึกไม่เครียดเพราะไม่ต้องไปหยิบยืมใคร ซึ่งเงินออมฉุกเฉินควรมีเก็บอย่างน้อยๆ 6 เท่าของรายจ่ายในแต่ละเดือนค่ะ ส่วนใครที่ยังไม่มีครอบครัวอาจจะเก็บแค่ 3 เท่าของรายจ่ายก็ได้ แต่หากสามารถเก็บได้ถึง 6 เท่าก็จะยิ่งดีค่ะ
วิธีการคิดว่าเราควรมีเงินออมฉุกเฉินเท่าไหร่ ให้คำนวนจากรายจ่ายต่อเดือนค่ะ รวมทุกสิ่งทุกอย่างเลย ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าบ้าน ค่ากิน ค่าจิปาถะอะไรอย่างนี้ ลองบันทึกเป็นรายจ่ายว่าเราใช้อยู่แต่ละเดือนประมาณเท่าไหร่ ยกตัวอย่าง ถ้าเรามีรายจ่ายอยู่ที่เดือนละ 20,000 บาท เราก็ต้องมีเงินออมฉุกเฉินอย่างน้อย 120,000 บาทค่ะ หากใครที่ยังไม่มีเป้าหมาย ยังไม่รู้จะเก็บเงินไปเพื่ออะไร แนะนำให้เริ่มที่เงินออมฉุกเฉินข้อนี้เลยค่ะ ส่วนใครที่มีเงินออมฉุกเฉินที่มีสภาพคล่องเกิน 6 เท่าของค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว ก็ถือว่าฐานะทางการเงินข้อนี้ผ่านค่ะ แต่ว่าถ้าใครยังมีไม่ถึง หรือว่าถ้าใครยังไม่มีเลย ก็ต้องรีบวางแผนการเก็บแล้วค่ะ
3. เช็คแผนเกษียณ
เราได้มีการวางแผนและเริ่มเก็บออมสำหรับการเกษียณหรือยัง เพราะว่าเงินสำหรับการเกษียณถือเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่เพราะว่าไม่ได้เร่งด่วน คนส่วนใหญ่ก็เลยยังไม่ได้เริ่มทำ หรือบางคนก็คิดว่าเดี๋ยวค่อยทำก็ได้ ซึ่งจริงแล้วเงินสำหรับเกษียณถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ถ้าสมมุติเราเริ่มก่อน เราก็จะได้เปรียบ ไม่ต้องทำงานไปตลอดชีวิตค่ะ แต่ว่าสิ่งที่สำคัญคือเราจะต้องมีเป้าหมายในการเกษียณที่แน่นอน เพื่อที่เราจะได้วางแผนเก็บเงินถูก ว่าเราจะเก็บเดือนละเท่าไหร่ เก็บปีละเท่าไหร่ แล้วก็เก็บไว้ที่ไหน เพื่อตอนที่เราเกษียณแล้วเราจะได้มีเงินใช้ตามที่คาดหวังค่ะ สำหรับใครที่เก็บเงินก้อนนี้แล้ว มีเป้าหมายแล้ว มีการเก็บที่แน่นอนในแต่ละเดือน มีเครื่องมือในการเก็บออมแล้ว และกำลังทำอยู่อย่างต่อเนื่อง ข้อนี้ก็ถือว่าผ่านเพราะว่ามีการเตรียมตัววางแผนที่ดีแล้วค่ะ
- 5 วิธีออมเงินเพื่อการเกษียณ สำหรับมนุษย์เงินเดือนและพนักงานประจำ
- 3 วิธีเก็บเงินเพื่อการเกษียณอย่างไร ให้มีกินใช้หลังออกจากงาน
4. เช็คการลงทุน
หมั่นตรวจสอบพอร์ตการลงทุนของตัวเองว่ามีการกระจายความเสี่ยงหรือไม่ ไม่ใช่ว่าไปลงทุนทุกบาททุกสตางค์ไว้ในสิ่งเดียว เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ค่ะ การกระจายความเสี่ยงก็คือการกระจายให้เหมาะสมกับการลงทุน รวมถึงอย่ากลัวเกินไปจนเสียโอกาสในการลงทุนค่ะ ลองศึกษาให้ดีก่อนที่เราจะนำเงินไปลงทุน เพราะว่าถ้าเรามีความรู้ในเรื่องนั้นๆ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงได้ และเราก็ควรจัดสรรเงินให้ดีก่อนการลงทุน ควรดูว่าในกองทุนที่เราลงทุนไป เราสามารถรับความเสี่ยงได้แค่ไหน เพราะการลงทุนเป็นการเปิดโอกาสให้เงินทำงาน สามารถออกดอกออกผลให้เรามากขึ้น หากมีการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเองแล้ว และรู้สึกว่าเรามีพอร์ตที่โอเค มีการกระจายความเสี่ยง รวมถึงเราเองก็ลงทุนอยู่อย่างสม่ำเสมอ ในข้อนี้ก็ถือว่าผ่านค่ะ
- กองทุนรวมคืออะไร? ... 4 ข้อควรรู้ก่อนซื้อกองทุน สำหรับมือใหม่
- 3 แหล่งซื้อกองทุน ซื้อกองทุนรวมที่ไหน และวิธีเลือกสำหรับมือใหม่