รีเซต

เว้นระยะห่างจากสังคม (Social Distancing) อย่างไร ไม่ให้เสียสุขภาพกายและจิต

เว้นระยะห่างจากสังคม (Social Distancing) อย่างไร ไม่ให้เสียสุขภาพกายและจิต
เฮลโลคุณหมอ
9 เมษายน 2563 ( 13:00 )
313
เว้นระยะห่างจากสังคม (Social Distancing) อย่างไร ไม่ให้เสียสุขภาพกายและจิต

 

ในช่วงที่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือไวรัสโควิด-19 (COVID-19) กำลังระบาดนี้ เราได้เห็นมาตราการในการรับมือกับโรค และการเปลี่ยนแปลงในสังคมมากมาย ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ต่างก็รณรงค์ให้เราทำงานที่บ้าน หรือเว้นระยะห่างจากสังคม (Social Distancing) สำหรับคำว่า “ทำงานที่บ้าน” นั้น หลายคนน่าจะพอรู้จักกันอยู่แล้ว แต่คำว่า “เว้นระยะห่างจากสังคม” นั้น เชื่อว่าหลายคนอาจจะยังรู้จักไม่ดีพอ วันนี้ Hello คุณหมอ เลยอยากชวนคุณมาทำความรู้จักกับการเว้นระยะห่างจากสังคมให้ถ่องแท้ยิ่งขึ้น จะได้ช่วยกันป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้จริงๆ

การเว้นระยะห่างจากสังคม (Social Distancing) คืออะไร

การเว้นระยะห่างจากสังคม (Social Distancing) หรือที่หลายคนมักเรียกว่าแบบติดตลกว่า การ “ห่างกันสักพัก” คือสุขปฏิบัติ (Health Practice) อย่างหนึ่ง ที่ทุกคนต้องปฏิบัติเพื่อป้องกันไม่ให้คนป่วยสัมผัสหรือใกล้ชิดกับคนที่สุขภาพดี ความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อโรคจะได้ลดลง ซึ่งอาจช่วยชะลอการแพร่ระบาดของโรค หรือช่วยหยุดโรคระบาดนั้นๆ ได้ในที่สุด

วิธีเว้นระยะห่างจากสังคมนั้นมีด้วยกันหลายวิธี เช่น

  • อยู่ห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตร เพราะละอองน้ำมูกน้ำลายสามารถกระเด็นออกไปได้ไกล 1-2 เมตร จะได้ปลอดภัยขึ้น หากมีคนรอบข้างไอจาม
  • ลดการพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูง หรืออยู่ในที่ที่คนพลุกพล่าน เช่น ผับบาร์ ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ งานคอนเสิร์ต
  • ไม่ออกไปข้างนอกโดยไม่จำเป็น
  • ลดการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ หากเลี่ยงไม่ได้ ควรอยู่ในจุดที่ห่างจากผู้อื่นให้มากที่สุด
  • งดใช้ลิฟต์ โดยเฉพาะหากคนใช้ลิฟต์เยอะ หันมาใช้บันไดแทน แต่แนะนำว่าอย่าจับราวบันได วิธีนี้นอกจากจะช่วยป้องกันเชื้อโรค เช่น ไวรัสโควิด-19 ยังเป็นการออกกำลังกายอย่างหนึ่งด้วย
  • ทำงานที่บ้าน (Work From Home) แทนการออกไปทำงานข้างนอก หรือเข้าออฟฟิศ
  • กินอาหารจานใครจานมัน หลีกเลี่ยงอาหารบุฟเฟต์ หรือการร่วมสำรับกับผู้อื่น

ป้องกันการระบาดของโรคได้ แต่ก็อาจทำเราป่วยได้…

ต่อให้คุณเป็นมนุษย์ที่สุขภาพกายใจสมบูรณ์แข็งแรงดี แต่การต้องเว้นระยะห่างจากสังคม ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น โดยเฉพาะเมื่อต้องทำติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของคุณได้ โดยผลการศึกษาวิจัยหลายชิ้นพบว่า ความเหงาสามารถนำไปสู่โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคภูมิคุ้มกันต่อต้านเนื้อเยื่อของตนเองหรือโรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง (Autoimmune Disease) เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคลูปัส และโรคร้ายแรงอื่นๆ ได้อีกมากมาย

ยิ่งหากคุณมีสภาวะเหล่านี้ การต้องห่างกันสักพักเพราะโควิด -19 ก็จะยิ่งทำให้คุณเสี่ยงมีปัญหาสุขภาพจิตได้ง่ายและหนักกว่าคนอื่น

  • เป็นผู้หญิง
  • มีอายุ 16-24 ปี
  • เคยมีประวัติเป็นโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล
  • เป็นบุคลากรทางการแพทย์

เว้นระยะห่างจากสังคม ยังไง ไม่ให้ทำร้ายสุขภาพ

อย่างที่เราบอกไปข้างต้นแล้วว่า บางครั้ง การเว้นระยะห่างจากสังคมก็อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพจิต เราเลยมีวิธีใช้ชีวิตในช่วงที่ต้องเว้นระยะห่างจากสังคม แบบไม่กระทบสุขภาพมาฝาก ดังนี้

มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเสมอ

การที่คุณต้องเว้นระยะห่างจากสังคม ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องปลีกวิเวก หรือแยกตัวออกจากสังคมโดยสิ้นเชิง คุณควรหาเวลาพูดคุยกับคนรอบข้างบ้าง  หากเป็นคนในบ้าน คุณสามารถคุยกันได้ตามปกติ เพียงแค่ต้องอยู่ในระยะที่เหมาะสม หรือหากเป็นคนที่อยู่ไกลกัน วิธีที่ดีที่สุดคือ โทรศัพท์คุย หรือวิดีโอคอลล์กัน แต่หากไม่สะดวก การคุยกันผ่านแชต การส่งข้อความก็ช่วยได้

ฝึกการหายใจ

การหายใจเข้า-ออกช้าๆ ลึกๆ หรือการหายใจแบบมีสติ รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ จะช่วยให้คุณผ่อนคลาย และได้ประโยชน์จากการหายใจอย่างสูงสุด นอกจากจะช่วยคลายเครียด ทำให้สมองแจ่มใส และอารมณ์ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี ระบบเผาผลาญทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งประโยชน์เหล่านี้ ล้วนแต่ส่งเสริมสุขภาพของคุณทั้งสิ้น

เสพสื่อแบบมีสติ

แม้การติดตามข่าวสารในช่วงที่มีโรคระบาดจะเป็นเรื่องที่สมควรทำ แต่คุณก็ไม่ควรเสพสื่อ หรือเล่นโซเชียลจนจิตตก หรือไม่ยอมหลับยอมนอน คุณควรจำกัดเวลาในการเสพสื่อให้เหมาะสม ทั้งสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และสื่อทางอินเตอร์เน็ต และอย่าลืมลุกจากหน้าจอไปทำงานอดิเรก หรือกิจกรรมสันทนาการอื่นๆ ที่ดีต่อสุขภาพกว่าบ้าง เช่น ทำขนม อ่านหนังสือ เล่นดนตรี ออกกำลังกาย เขียนไดอารี่

แชร์มีมขำๆ หรือโพสต์ดีๆ

ถึงอยู่ในสถานการณ์ตึงเครียด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า คุณจะต้องจริงจังกับทุกอย่างจนทำให้เครียดกว่าเดิม การแชร์ข้อความดีๆ อินโฟกราฟิกที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะในการช่วยป้องกันโรค หรือแม้แต่มีมตลกๆ ดูแล้วขำกลิ้ง ถือเป็นสิ่งที่คุณควรทำ เพราะจะช่วยทำให้ทั้งคุณและคนรอบข้างรู้สึกดี หรือมีอารมณ์ดีขึ้น เมื่อสุขภาพจิตแข็งแรง สุขภาพกายก็จะได้ดีไปด้วย แต่ขอเตือนว่า ก่อนจะแชร์โพสต์อะไร คุณควรดูกาลเทศะด้วยว่าเหมาะสมหรือไม่ จะได้ไม่เกิดปัญหาตามมา

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใดและ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
สัมผัสโลกไร้ขีดจำกัดกับทรูไอดี