แคโรทีนอยด์มีอะไรบ้าง พร้อมอาหารที่มีแคโรทีนอยด์สูง ป้องกันมะเร็งได้
แคโรทีนอยด์ (Carotenoids) คือ สารพฤษเคมีที่มีคุณสมบัติช่วยต้านอนุมูลอิสระและมะเร็งได้เป็นอย่างดี ซึ่งมีการค้นพบแคโรทีนอยด์มากถึง 600 ชนิดกันเลยทีเดียว! แต่แคโรทีนอยด์ชนิดที่ร่างกายนำมาใช้ในกระแสเลือดหรือเนื้อเยื่อ และเป็นที่รู้จักกันดี มีทั้งหมด 6 ชนิดด้วยกัน ได้แก่ ลูทีน (Lutein), ซีแซนทีน (Zeaxanthin), ไลโคปีน (Lycopene), เบต้าแคโรทีน (Beta carotene), อัลฟ่าแคโรทีน (Alpha carotene) และเบต้าคริปโตแซนทีน (Beta cryptoxanthin)
ลูทีน (Lutein) และ ซีแซนทีน (Zeaxanthin)
ลูทีนและซีแซนทีน คือ สารที่อยู่ในกลุ่มของแคโรทีนอยด์ โดยถือเป็นสารธรรมชาติที่มักจะพบในผักและผลไม้หลายชนิด ซึ่งลูทีนและซีแซนทีนนั้นถือเป็นสารที่มีส่วนช่วยบำรุงดวงตาได้เป็นอย่างดี เพราะสารชนิดนี้จะพบอยู่ในบริเวณจุดรับภาพของจอตา ซึ่งทำหน้าที่ปกป้องดวงตาจากรังสียูวี ป้องกันเซลล์จอประสาทตาเสื่อม ดังนั้นใครที่อยากถนอมสายตา บำรุงดวงตาให้สุขภาพดีไปนานๆ แนะนำให้กินอาหารที่มีลูทีนและซีแซนทีนสูงเลยค่ะ
อาหารที่มีลูทีนและซีแซนทีน เช่น
- ปวยเล้ง
- ถั่วพิสตาชิโอ
- กะหล่ำดาว
- บรอกโคลี
- ฟักทอง
- หน่อไม้ฝรั่ง
ไลโคปีน (Lycopene)
ไลโคปีน คือ สารสีแดง ซึ่งถือเป็นสารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มของแคโรทีนอยด์ โดยส่วนมากแล้วจะพบในผักและผลไม้ โดยเฉพาะมะเขือเทศ อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีอาหารชนิดอื่นๆ ที่อุดมไปด้วยไลโคปีนไม่แพ้กัน โดยไลโคปีนมีส่วนช่วยต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งบางชนิด รวมถึงโรคหลอดเลือดสมองและโรคหลอดเลือดหัวใจ นอกจากนั้นยังช่วยบำรุงผิวพรรณ ลดความดันโลหิตสูง และลดระดับไขมันในเลือดได้อีกด้วยค่ะ
อาหารที่มีไลโคปีน เช่น
- ฝรั่ง
- แตงโม
- มะเขือเทศ
- มะละกอ
- เกรปฟรุต
เบต้าแคโรทีน (Beta carotene)
เบต้าแคโรทีน คือ สารที่ทำให้ผักหรือผลไม้เป็นสีส้ม แดง และเหลือง โดยเบต้าแคโรทีนถือเป็นโปรวิตามินเอ ที่เมื่อกินเข้าไปแล้ว ร่างกายก็จะสามารถเปลี่ยนเป็นวิตามินเอได้ รวมถึงเบต้าแคโรทีนยังถือเป็นสารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มแคโรทีนอยด์อีกด้วย เรียกได้ว่ามีประโยชน์ต่อร่างกายของเราหลายๆ ด้านด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการช่วยต้านอนุมูลอิสระ บำรุงผิว บำรุงสายตา ช่วยให้สุขภาพหัวใจและปอดแข็งแรง รวมถึงยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งบางประเภทได้ โดยเฉพาะมะเร็งปอด มะเร็งตับอ่อน และมะเร็งเต้านมก่อนวัยหมดประจำเดือน นอกจากนั้นยังมีส่วนชวยป้องกันการเกิดอัลไซเมอร์ได้อีกด้วยค่ะ
อาหารที่มีเบต้าแคโรทีน เช่น
- มันเทศ
- ผักเคล
- แครอท
- ปวยเล้ง
- แคนตาลูป
- พริกหวานสีแดง
อัลฟ่าแคโรทีน (Alpha carotene)
อัลฟ่าแคโรทีน คือ สารตั้งต้นของวิตามินเอ เหมือนกับเบต้าแคโรทีน ซึ่งก็ถือเป็นสารในกลุ่มแคโรทีนอยด์ด้วยเช่นกัน โดยอัลฟ่าแคโรทีนมีส่วนช่วยต้านอนุมูลอิสระ เสริมสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายให้แข็งแรง ต้านทานโรค ช่วยลดการเจริญเติบโตของเซลล์ผิดปกติ ช่วยป้องกันความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งปอด มะเร็งต่อมลูกหมาก รวมถึงยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ โรคระบบทางเดินหายใจ และโรคเบาหวานอีกด้วย
อาหารที่มีอัลฟ่าแคโรทีน เช่น
- ฟักทอง
- แครอท
- ส้มแทนเจอรีน (Tangerines) เช่น ส้มเขียวหวาน, ส้มบางมด, ส้มสายน้ำผึ้ง, ส้มโชกุน
- มะเขือเทศ
- คะน้าฝรั่ง
- ผักกาดขาว
- มันเทศ
- อะโวคาโด
- กล้วย
เบต้าคริปโตแซนทีน (Beta cryptoxanthin)
เบต้าคริปโตแซนทีน คือ สารตั้งต้นของวิตามินเอเช่นเดียวกันค่ะ โดยร่างกายจะสามารถดูดซึมสารชนิดนี้ได้ดีและนําไปใช้ได้ดีเลยทีเดียว ที่สำคัญยังถือเป็นสารที่อยู่ในกลุ่มแคโรทีนอยด์อีกด้วย โดยเบต้าคริปโตแซนทีนมีส่วนช่วยต้านอาการอักเสบของร่างกาย เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์ อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งปอดและมะเร็งปากมดลูกได้อีกด้วยค่ะ
อาหารที่มีเบต้าคริปโตแซนทีน เช่น
- มะม่วงสุก
- มะละกอ
- ส้ม, ส้มแทนเจอรีน (Tangerines) เช่น ส้มเขียวหวาน, ส้มบางมด, ส้มสายน้ำผึ้ง, ส้มโชกุน
- ลูกพีช
- ข้าวโพด
- พริกหยวก
- ไข่แดง
บทความที่คุณอาจสนใจ