เจ็บหน้าอก...เจ็บเต้านม!! สัญญาณอันตรายในผู้หญิง เจ็บแบบไหนควรไปหาหมอ
อาการเจ็บปวดบริเวณเต้านมมักเป็นอาการที่พบได้บ่อยในช่วงใกล้จะมีรอบเดือนค่ะ ซึ่งเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อในเต้านมและนำไปสู่ความเจ็บปวดและรู้สึกไม่ค่อยสบายตัว อาการเจ็บปวดแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราวและถือได้ว่าเป็นเรื่องปกติ
แต่เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าอาการเจ็บเต้านมที่เป็นอยู่นั้น เป็นอาการปกติของการใกล้จะมีรอบเดือนหรือแท้จริงแล้วเต้านมของเราเกิดความผิดปกติ วันนี้เราลองมาเช็คกันดูค่ะ ว่าอาการเจ็บเต้านมที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอาการที่มาจากอะไร และเจ็บแบบไหนที่เราควรไปพบแพทย์
ประเภทของอาการเจ็บเต้านม
1. อาการเจ็บเต้านมที่สัมพันธ์กับประจําเดือน (Cyclical Breast Pain)
เป็นอาการเจ็บเต้านมในช่วงที่ใกล้มีประจำเดือนหรือในช่วงมีประจำเดือน สาเหตุเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย โดยอาการคร่าวๆ ที่สามารถสังเกตได้คือ
- มีอาการเจ็บในช่วงก่อนมีประเดือนและจะค่อยๆ ลดความเจ็บลงจนหายสนิทเมื่อประจำเดือนหมดแล้ว
- เต้านมบวม แข็งเป็นก้อน
- ปวดทั้ง 2 ข้างโดยความเจ็บปวดอาจลามไปถึงบริเวณรักแร้และต้นแขน
- มักเกิดในช่วงอายุ 20 -30 ปี
2. อาการเจ็บเต้านมที่ไม่สัมพันธ์กับประจําเดือน (Noncyclic Breast Pain)
เป็นอาการเจ็บปวดเต้านมโดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับการมีรอบเดือน ซึ่งอาจเกิดได้จากการบาดเจ็บที่เต้านม การบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อรวมถึงเนื้อเยื่อบริเวณเต้านมและเป็นสาเหตุให้เกิดอาการเจ็บปวดเต้านมตามมา โดยอาการคร่าวๆ ที่สามารถสังเกตได้คือ
- ปวดเต้านมเฉพาะจุดหรือปวดข้างใดข้างหนึ่ง
- ปวดเรื้อรัง หรือปวดเป็นพักๆ
- พบในผู้หญิงวัยใกล้หมดประจำเดือนและวัยหมดประจำเดือน
เจ็บเต้านมแบบไหนที่ควรไปหาหมอ
โดยปกติแล้วการเจ็บเต้านม เป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นได้ในผู้หญิง โดยเฉพาะในช่วงที่มีรอบเดือนค่ะ แต่หากพบว่าอาการเจ็บเต้านมนั้นยังไม่มีทีท่าว่าจะหายไป ซ้ำยังดูเหมือนจะมีอาการรุนแรงขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที โดยสามารถสังเกตอาการได้ดังนี้
- เจ็บปวดเต้านมนานติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์
- เจ็บเต้านมพร้อมกับมีอาการเสียวที่บริเวณแขนขา
- คลำเต้านมแล้วพบก้อน
- อาการเจ็บกระจุกตัวอยู่ที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งของเต้านม
- มีอาการเจ็บปวดมากขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับใครที่เริ่มมีอาการเจ็บหน้าอกดังที่กล่าวมาข้างต้น ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยด่วน เนื่องจากอาการเจ็บเต้านมนั้น สามารถบ่งบอกได้หลายโรค เช่น โรคหัวใจวายเฉียบพลัน โรคมะเร็งเต้านม ถุงน้ำหรือซีสต์ รวมถึงโรคอันตรายอื่นๆ ได้อีกค่ะ
บทความที่คุณอาจสนใจ
5 สัญญาณมะเร็งปากมดลูก รวมถึงวิธีป้องกันตนเอง
6 ผลไม้ต้านมะเร็ง กินได้ทุกวัน สำหรับคนป่วยและไม่ป่วย
5 อาหารต้านมะเร็ง ป้องกันโรคร้าย มะเร็งไม่มาเยือน