รีเซต

วิธีแก้ปัญหา ทำ IF แล้วน้ำหนักไม่ลด น้ำหนักคงที่ ทำยังไงดี ?

วิธีแก้ปัญหา ทำ IF แล้วน้ำหนักไม่ลด น้ำหนักคงที่ ทำยังไงดี ?
Faii_Natnista
28 เมษายน 2564 ( 17:00 )
26.3K

     ทำ IF แล้วน้ำหนักไม่ลด น้ำหนักคงที่ ทำยังไงดี ? ต้องบอกว่าการลดน้ำหนักด้วยวิธี Intermittent Fasting หรือ IF เป็นวิธีลดน้ำหนักที่ดีวิธีหนึ่งเลยค่ะ แต่หลายๆ คนก็มักจะเจอปัญหาที่ว่า เมื่อทำ IF ไปได้สักพักหนึ่งแล้ว น้ำหนักดันคงที่ ไม่ลดลงเลย มันเป็นเพราะอะไรกันนะ? วันนี้เรามีคำตอบ พร้อมนำวิธีแก้ปัญหามาฝากกันแล้วค่ะ ใครที่ไม่อยากเครียดกับเข็มของตาชั่งที่ไม่ขยับสักที ลองมาดูวิธีแก้ปัญหากันเลยค่า

 

 

ทำไมทำ IF แล้วน้ำหนักไม่ลด น้ำหนักคงที่?

     หลายๆ คนอาจจะคิดว่าการลดน้ำหนักด้วยการทำ IF หรือ Intermittent Fasting ทำยังไงน้ำหนักก็ลดแน่ๆ แต่ทำไปเพียงไม่นาน ก็กลับพบว่าน้ำหนักไม่ลดบ้างล่ะ บ้างก็น้ำหนักคงที่ตาชั่งแทบไม่ขยับจากเดิม ซึ่งนั่นก็อาจเกิดขึ้นได้ค่ะ ถ้าคุณมีปัญหาและพฤติกรรมเหล่านี้!

1. กินอาหารแต่ละชนิดในสัดส่วนที่ไม่เหมาะสม

     แม้การทำ IF จะมีหลักการว่าคุณสามารถกินอะไรก็ได้ในช่วงเวลา Feeding แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราควรจะกินทุกอย่างในอัตราที่เยอะจนเกินไปค่ะ การกินอาหารบางชนิดในสัดส่วนที่เยอะเกินไปหรือน้อยเกินไปก็อาจส่งผลต่อระบบเผาผลาญได้เช่นกัน

2. กินถี่หรือบ่อยเกินไป ในช่วง Feeding

     สาเหตุนี้จะคล้ายๆ กับข้อที่ 1 ค่ะ แม้ว่าเราจะอยู่ในช่วง Feeding แต่ก็ไม่จำเป็นต้องกินตลอดเวลา หรือกินจุกจิกอยู่บ่อยๆ จนหมดเวลา Feeding เพราะนั่นก็อาจเป็นการเพิ่มแคลอรี่มากเกินไปโดยที่เราไม่รู้ตัวเลยค่ะ

3. ไม่ออกกำลังกาย

     การทำ IF จะเห็นผลดีและเร็วมากขึ้นถ้าเรามีการออกกำลังกายร่วมด้วยค่ะ หากโฟกัสแต่การกินอย่างเดียวแต่ไม่ได้มีการขยับตัวหรือเพิ่มการเผาผลาญบ้าง น้ำหนักก็อาจจะคงที่ได้

4. มีความเครียดมากเกินไป

     ความเครียดมีผลต่อการกินของเราเป็นอย่างมากเลยล่ะค่ะ ซึ่งเมื่อเรามีความเครียด จะเกิดการหลั่งของฮอร์โมนที่ตอบสนองต่อความเครียด ที่ชื่อว่า คอร์ติซอล (Cortisol) ออกมา ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้จะทำให้ร่างกายของเราหิวง่ายกว่าปกติ ซึ่งส่งผลให้เรากินอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต หรือน้ำตาลมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ฮอร์โมนตัวนี้ยังส่งผลไปถึงเซลล์ไขมัน ทำให้เซลล์ไขมันมาสะสมบริเวณพุงมากขึ้นอีกด้วย!

5. มีโรคประจำตัว

     โรคประจำตัวหรือปัญหาสุขภาพบางชนิดก็ส่งผลต่อการลดน้ำหนักเช่นกันค่ะ โดยโรคที่ส่งผลต่อการลดน้ำหนักส่วนใหญ่นั้นจะเป็นโรคที่เกี่ยวกับฮอร์โมนทำงานผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นไทรอยด์ต่ำ (Hypothyroidism) ต่อมหมวกไตล้า (Adrenal fatigue syndrome) หรือถุงน้ำรังไข่มาก (PCOS) เป็นต้น นอกจากนี้คนที่มีโรคประจำตัวและต้องกินยาบางชนิดเป็นประจำก็ส่งผลต่อการเผาผลาญของร่างกายด้วยเช่นกันค่ะ โดยยาที่ส่งผลต่อการเผาผลาญก็ได้แก่ ยานอนหลับ ยาต้านซึมเศร้า ยาแก้โรควิตกกังวล ยาเม็ดฮอร์โมนคุมกำเนิด เป็นต้น

6. ขาดสารอาหารบางอย่าง

     สารอาหารบางชนิดก็ส่งผลต่อระบบเผาผลาญของร่างกาย หากได้รับน้อยเกินไป ก็อาจทำให้ระบบเผาผลาญทำงานได้ไม่เต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นวิตามินดี โครเมียม สังกะสี ทองแดง ซีลีเนียม แมกนีเซี่ยม หรือธาตุเหล็ก หากได้รับสารอาหารเหล่านี้ไม่เพียงพอการเผาผลาญไขมันก็ลดต่ำลงไปด้วย

 

วิธีแก้ปัญหา ทำ IF แล้วน้ำหนักไม่ลด

1. แบ่งสัดส่วนการกินในอัตราที่เหมาะสม

     ควรแบ่งสัดส่วนในอัตราที่เหมาะสมหรือจำกัดการกินอาหารบางประเภท โดยแนะนำให้ปรับการกินเป็นแบบโลว์คาร์บ ลดการรับประทานอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลลง เปลี่ยนไปกินโปรตีนทั้งจากพืชและสัตว์ รวมถึงไขมันดีให้มากขึ้น ซึ่งเมื่อเราลดปริมาณคาร์บลง และทำ IF ร่วมไปด้วย ร่างกายจะผลิตคีโตนจากไขมันมากขึ้น และช่วยกระตุ้นให้เกิดการเผาผลาญไขมันมากขึ้นนั่นเอง

2. ลดการกินจุกจิก ในช่วง Feeding

     แนะนำให้แบ่งการกินออกเป็น 2 มื้อ ในช่วง Feeding และในระหว่างมื้อก็ลดการกินจุกจิก ลดการกินขนม หรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง แต่ปรับมากินอาหารหรือขนมที่มีแคลอรี่ต่ำ ดื่มเครื่องดื่มที่มีแคลอรี่น้อยๆ อย่างกาแฟดำ หรือชาเขียวแบบไม่มีน้ำตาลหรือน้ำตาลน้อยแทน

3. ลุกมาออกกำลังกายบ้าง

     การทำ IF จะได้ผลดีมากขึ้นหากเราหันมาโฟกัสการออกกำลังกายร่วมด้วยค่ะ โดยแนะนำให้ออกกำลังกายในช่วง Fasting เพราะเป็นช่วงที่ร่างกายดึงเอาไขมันสะสมออกมาเป็นพลังงานได้ดี ที่สำคัญการออกกำลังกายอย่างการเล่นเวทเทรนนิ่งจะยิ่งช่วยได้มากค่ะ เพราะเป็นการออกกำลังกายที่ช่วยรักษาและสร้างมวลกล้ามเนื้อ ช่วยแก้ปัญหาน้ำหนักนิ่งได้เป็นอย่างดี เพราะหากเรามีมวลกล้ามเนื้อมากขึ้น ร่างกายก็จะเผาผลาญพลังงานได้มากขึ้นด้วย หรือหากไม่อยากออกกำลังกาย การขยับตัวให้มากขึ้น ลุกเดินให้มากขึ้น ก็จะช่วยให้เราเผาผลาญพลังงานได้มากขึ้นเช่นกันค่ะ

4. ลดความเครียด นอนหลับพักผ่อนให้มากขึ้น

     ในช่วงที่เครียด คงจะห้ามใจในการกินได้ยากค่ะ ฉะนั้นต้องหาทางคลายเครียด หรือหากิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดให้ลดลง โดยงานวิจัยก็บอกว่าวิธีที่ช่วยลดฮอร์โมนเครียดได้ดีก็คือ การทำสมาธิ นอนหลับ และออกกำลังกายค่ะ โดยเฉพาะการออกกำลังแบบแอโรบิก เช่น วิ่ง ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ และเต้นแอโรบิก

 

บทความที่คุณอาจสนใจ

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
สัมผัสโลกไร้ขีดจำกัดกับทรูไอดี