รีเซต

7 กลุ่มคนที่ไม่ควรทำ IF อันตรายต่อสุขภาพ เสี่ยงร่างกายทรุดโทรม

7 กลุ่มคนที่ไม่ควรทำ IF อันตรายต่อสุขภาพ เสี่ยงร่างกายทรุดโทรม
BeauMonde
28 มีนาคม 2565 ( 14:03 )
3.4K

     ถึงแม้ว่าการทำ Intermittent Fasting หรือ IF จะเป็นวิธีลดน้ำหนักพร้อมดูแลสุขภาพที่มีประโยชน์และทำตามได้ง่ายไม่ยุ่งยากซับซ้อน จนมีคุณหมอหลาย ๆ ท่านออกมาแนะนำให้คนที่สนใจได้ลองทำตาม แต่หากเราไม่มีความรู้อย่างเพียงพอ การทำ IF อาจจะก่อให้เกิดโทษกับร่างกายได้ค่ะ นอกจากการเสี่ยงที่ร่างกายจะเข้าสู่ภาวะขาดสารอาหารได้ หากเราทำอย่างผิดวิธี การทำ IF ก็ไม่ได้เหมาะกับคนทุกประเภทค่ะ วันนี้เราได้รวบรวมคน 7 ประเภทที่ไม่ควรทำ IF เพราะอาจจะเกิดอันตรายกับร่างกายได้ค่ะ ใครที่สนใจจะลดน้ำหนักด้วยวิธี  Intermittent Fasting ลองมาเช็คกันก่อนว่าเราเข้าข่ายอยู่ในคน 7 ประเภทนี้หรือไม่ จะได้ระวังไว้ก่อนค่ะ 

 

 

7 กลุ่มคนที่ไม่ควรทำ IF 

 

1. อายุน้อยกว่า 25 ปี

     อายุยังน้อย ร่างกายของเราก็ยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่และยังต้องการสารอาหารต่าง ๆ เพื่อทำให้ร่างกายเจริญเติบโตต่อไปได้ค่ะ รวมถึงร่างกายของเราในวัยต่ำกว่า 25 ปี ก็ยังไม่ควรต้องได้รับความเครียดมากเพราะอาจจะกระทบกับฮอร์โมนในร่างกายได้ ซึ่งส่งผลไปยังการทำงานของเซลล์ก็จะผิดปกติตามไปด้วย ดังนั้นการทำ intermittent fasting โดยเฉพาะการทำแบบที่ยาวนานเกินไป เช่น การรับประทานวันละมื้อ (20/4, 22/2, 23/1) หรืออดอาหารนาน 24-48 ชั่วโมง แบบนี้จะมีปัญหาเรื่องฮอร์โมนไม่สมดุล ส่งผลไปถึงเรื่องของการเจริญเติบโต เรื่องความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และทำให้เกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ตามมาได้อีกมากเลยค่ะ 

 

2. ผู้ที่เพิ่งผ่าตัด

     ผู้ที่กำลังอยู่ในช่วงพักฟื้นหลังจากการเจ็บป่วยรวมถึงผู้ที่เพิ่งผ่าตัดเสร็จ คนกลุ่มนี้ก็เป็นอีกกลุ่มที่ยังไม่เหมาะกับการทำ IF ค่ะ เพราะร่างกายกำลังต้องการสารอาหารเพื่อไปฟื้นฟูและซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย เพราะฉะนั้นเราก็ควรรอให้ร่างกายเป็นปกติก่อน แล้วค่อยมาทำ IF ค่ะ

 

3. ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์และให้นมบุตร

     ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือผู้ที่กำลังอยู่ในภาวะให้นมบุตรต้องระวังในการทำ IF ค่ะ เพราะร่างกายของกลุ่มคนเหล่านี้กำลังต้องการสารอาหาร อย่างผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ร่างกายยิ่งต้องการสารอาหารมาก ๆ เพื่อไปบำรุงเด็กในครรภ์ รวมถึงในผู้ที่กำลังให้นมบุตรด้วยที่ร่างกายก็ต้องการสารอาหารเพื่อไปบำรุงตนเอง การทำ IF อาจทำให้เราเกิดภาวะขาดสารอาหารได้โดยเฉพาะการทำ IF ที่นานเกินไปรวมถึงการทำแบบผิดวิธีค่ะ ดังนั้นในคนกลุ่มนี้แนะนำว่าให้ผ่านการให้นมบุตรไปให้เรียบร้อยเสียก่อน ค่อยเริ่มทำ IF ก็ได้ค่ะ

 

4. ผู้ที่เป็นโรคกลัวอ้วน (Anorexia Nervosa)

     สำหรับผู้ที่เป็นโรคกลัวอ้วน (Anorexia Nervosa) รวมถึงโรคกินแล้วทำให้อาเจียน หรือที่เรารู้จักกันในชื่อโรคบูลิเมีย (Bulimia nervosa) ผู้ที่ป่วยด้วยโรคเหล่านี้มักจะกลัวการกินอาหารแทบทุกประเภท ซึ่งสามารถทำให้ผู้ป่วยขาดสารอาหารอย่างรุนแรง เมื่อขาดสารอาหารอยู่แล้วยิ่งมาทำ IF ก็จะยิ่งไปกันใหญ่ได้เลยค่ะ ร่างกายก็จะแย่ลงมาก ๆ ดังนั้นใครที่เป็นอยู่ต้องรีบรักษาให้หาย และไม่ควรทำ IF อย่างเด็ดขาดค่ะ

 

5. ผู้ที่มีค่า BMI น้อย

     ผู้ที่มีค่า BMI น้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด หมายความว่าเราค่อนข้างจะผอมมาก ๆ อยู่แล้ว การทำ IF โดยเฉพาะการทำที่ผิดวิธี เช่น การลดปริมาณสารอาหาร การกินอาหารน้อย ๆ แบบนี้ยิ่งจะทำให้เราขาดสารอาหารที่จำเป็นได้ค่ะ ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเราขาดสารอาหารแล้ว ก็จะส่งผลให้ร่างกายของเราแย่ลงเรื่อย ๆ และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดสารอาหารได้ ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ทำค่ะ

 

6. ผู้ที่มีโรคประจำตัว

     ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงหรือต่ำ ไขมันในเลือด หรือโรคประจำตัวอื่น ๆ แนะนำให้ปรึกษาคุณหมอก่อนจะทำค่ะ เพื่อให้คุณหมอดูแลการทํา IF คู่ไปกับการรักษาโรค เพราะหากเราฝืนทำเองก็อาจจะกระทบกับร่างกายและเกิดอันตรายมากกว่าเดิมได้ค่ะ

 

7. ผู้ที่ต้องการส้รางกล้ามเนื้อ

     ในกลุ่มคนที่ออกกำลังกายและคนที่ต้องการเล่นกล้าม ก็เป็นอีกกลุ่มที่ต้องการสารอาหารมากและไม่ควรทำ IF ค่ะ เพราะกลุ่มคนที่ออกกำลังกายและเล้นกล้าม ต้องการสารอาหารเพื่อไปสร้างกล้ามเนื้อและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ การทำ IF ก็อาจจะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอและอาจส่งผลให้กล้ามขึ้นช้าได้ค่ะ 

 

 

บทความที่คุณอาจสนใจ

 

ยอดนิยมในตอนนี้

สิทธิประโยชน์แนะนำ

แท็กยอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
สัมผัสโลกไร้ขีดจำกัดกับทรูไอดี