5 วิธีรักษาหากรับไซยาไนด์ และอาการเมื่อสัมผัส Cyanide เป็นอย่างไร ?
ไซยาไนด์ Cyanide เป็นสารที่เกิดขึ้นในธรรมชาติที่สามารถพบได้ในอาหารและพืชบางชนิด รวมถึงผลไม้และในเมล็ดของผลไม้บางชนิดด้วยเช่นกัน ไซยาไนด์ถูกใช้ในเชิงอุตสาหกรรมด้วย โดยใช้ในการทำกระดาษ สิ่งทอ และพลาสติก เป็นสารที่ใช้ในการชุบและทำความสะอาดโลหะ ใช้ในการช่วยสกัดทองคำออกจากแร่ ก๊าซไซยาไนด์ถูกนำไปใช้ในการกำจัดแมลงศัตรูพืชและสัตว์ทั้งในเรือและในอาคาร
ไซยาไนด์เป็นสารเคมีที่ออกฤทธิ์เร็วและอาจทำให้ผู้ที่สัมผัสถึงตายได้ โดยจะเข้าไปรบกวนความสามารถของร่างกายในการนำออกซิเจนไปใช้ ไซยาไนด์สามารถเป็นได้ทั้งก๊าซหรือของเหลวที่ไม่มีสี เช่น ไฮโดรเจนไซยาไนด์ (HCN) หรือไซยาโนเจนคลอไรด์ (CNCl) และสามารถเป็นรูปแบบผลึกหรือของแข็งได้ เช่น โซเดียมไซยาไนด์ (NaCN) หรือโพแทสเซียมไซยาไนด์ (KCN)
อาการของการได้รับสารไซยาไนด์
อาการเป็นพิษจากไซยาไนด์ จะปรากฏให้เห็นในเวลาเป็นนาทีหรือภายใน 1 ชั่วโมงเป็นอย่างช้าหลังได้รับสารพิษ โดยอาการต่อไปนี้อาจปรากฏขึ้นหลังจากได้รับไซยาไนด์แบบที่มีความเข้มข้นต่ำ
- อาการเจ็บหน้าอกและแน่นหน้าอก
- อาการสับสน วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ
- ปวดตา น้ำตาไหล
- หายใจลำบาก
- คลื่นไส้ อาเจียน
- หายใจเร็ว หายใจถี่หรือหายใจช้าผิดปกติ
- หายใจดังเสียงฮืด ๆ
- อัตราการเต้นของหัวใจเร็วหรือช้าผิดปกติ
- ไม่มีสติ
- ความดันโลหิตสูงหรือต่ำ
- มีอาการชักเกร็ง
- เสียชีวิต
อาการพิษจากไซยาไนด์จะแสดงได้รวดเร็วมากขึ้นเมื่อสัมผัสกับไซยาไนด์ในปริมาณมาก และการได้รับไซยาไนด์ในปริมาณมากไม่ว่าทางใดก็ตาม อย่างเช่น การหายใจ การดูดซึมทางผิวหนัง การรับประทานหรือการดื่ม อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อหัวใจ สมอง และเส้นประสาท ไปจนถึงการเสียชีวิต
5 วิธีรักษาเบื้องต้นหากรับสารไซยาไนด์
1. รีบออกจากสถานที่ที่มีการปล่อยไซยาไนด์
พยายามออกจากสถานที่ที่มีการปล่อยไซยาไนด์และสูดอากาศบริสุทธิ์ให้เร็วที่สุด หากสารไซยาไนด์รั่วไหลออกมาข้างนอก ให้เข้าไปข้างในและหาที่กำบัง ปิดหน้าต่างและปิดระบบระบายอากาศเพื่อป้องกันมลพิษเข้าสู่ตัวบ้าน หากคุณไม่สามารถเข้าไปข้างในได้ ให้ออกห่างจากตำแหน่งที่มีไซยาไนด์หกหรือปน เปื้อนให้มากที่สุด หากไซยาไนด์รั่วไหลในอาคารและคุณไม่สามารถออกมาได้ ให้ก้มต่ำลงบนพื้น
2. ทำความสะอาดร่างกายให้เร็วที่สุด
วิธีที่ดีที่สุดในการกำจัดไซยาไนด์ออกจากร่างกายคือการถอดเสื้อผ้ารวมถึงเครื่องประดับต่าง ๆ ออกให้เร็ว และทางที่ดีที่สุดคือควรอาบน้ำให้เร็วเท่าที่จะทำได้
3. หลับตาและกลั้นหายใจ
หลับตา ปิดปาก และกลั้นหายใจ หากคุณต้องถอดเสื้อผ่านศีรษะ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ไซยาไนด์เข้าตา จมูก หรือปาก หรือหากจะให้ดีที่สุด ให้ถอดเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนออกด้วยการใช้กรรไกรตัดเสื้อผ้าออกเป็นชิ้น ๆ และหากคุณใส่คอนแทคเลนส์ หลังจากที่ถอดออกแล้ว ให้ทำความสะอาดดวงตาด้วยการปล่อยให้น้ำไหลผ่านประมาณ 10 นาที และห้ามใส่คอนแทคเลนส์คู่นั้นอีก
4. รีบล้างร่างกายบริเวณที่สัมผัส
หากคุณได้รับไซยาไนด์ที่เป็นลักษณะผงหรือเป็นแบบเม็ด ให้รีบล้างร่างกายตรงบริเวณที่สัมผัสโดยเร็วที่สุด แล้วซับแต่ละส่วนของร่างกายด้วยผ้าแห้งหรือกระดาษเช็ดมือที่สะอาด ซับผิวเป็นเวลา 10 - 30 วินาที หากยังรู้สึกไม่สะอาด ให้ทำซ้ำวิธีนี้หลาย ๆ ครั้ง ใช้ผ้าสะอาดหรือกระดาษเช็ดมือสำหรับแต่ละส่วนของร่างกายและไม่ใช้ซ้ำกับส่วนอื่น ๆ
5. ห้ามผายปอด
หากพบเจอผู้ที่หมดสติด้วยการได้รับสารไซยาไนด์ ให้รีบส่งโรงพยาบาลทันที ห้ามเป่าปากหรือผายปอด เพื่อป้องกันการรับสารพิษ
อ้างอิง: