รีเซต

เจ็บแปลบที่หน้าอก อาการที่มาเยือนวัยทำงาน คืออะไรกันแน่?

เจ็บแปลบที่หน้าอก อาการที่มาเยือนวัยทำงาน คืออะไรกันแน่?
หมอดี
13 มกราคม 2566 ( 10:45 )
3.8K
เจ็บแปลบที่หน้าอก อาการที่มาเยือนวัยทำงาน คืออะไรกันแน่?

     อาการเจ็บที่หน้าอก พบได้ค่อนข้างบ่อยในคนวัยทำงาน เมื่อคุณหันไปถามเพื่อนร่วมงานในแผนกเดียวกัน คุณอาจจะแปลกใจได้ว่ามีเพื่อนอย่างน้อย 1 คน ที่เคยมีอาการนี้ ส่วนอาการเจ็บนั้นอาจจะรู้สึกแตกต่างกัน บางคนเจ็บมาก เจ็บน้อย บางคนเป็นบ่อย เป็นไม่บ่อย ซึ่งแต่ละอาการอาจมีปัจจัย และสาเหตุการเกิดที่แตกต่างกัน วันนี้ นพ.ฤทธิกร อภิณหพานิชย์ อายุรแพทย์เฉพาะโรคทางเดินหายใจและเวชบำบัดวิกฤต  ประจำแอปฯ หมอดี จะมาเล่าสู่กันฟัง เกี่ยวกับอาการเจ็บหน้าอกในแต่ละแบบ คุณจะได้รู้เท่าทันโรค หากเสี่ยงอันตราย เสี่ยงโรคร้าย จะได้รีบรักษากันนะคะ แอปฯ หมอดี อยากให้ทุกคนมีสุขภาพแข็งแรงค่ะ ✌️

 

 

อาการ “เจ็บหน้าอก” ของคนวัยทำงาน บ่งบอกอะไรได้บ้าง ?

     “อาการเจ็บหน้าอก” เป็นสัญญาณบอกได้หลายโรค และมีความเชื่อมโยงกันระหว่างสาเหตุของอาการเจ็บแต่ละแบบ อาการเจ็บหน้าอกที่พบบ่อย ได้แก่


อาการเจ็บหน้าอกที่เกิดจากการเคลื่อนไหวผิดท่า

     เป็นอาการเจ็บหน้าอกที่เกิดจากการบาดเจ็บของเส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อ ที่สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวผิดท่า เช่น การเอี้ยวตัวหยิบของที่ผิดวิธีจนเกิดการเกร็งตัว จนกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอกเกิดการอักเสบ ลักษณะการเจ็บจะเป็นแบบเจ็บแปล๊บ ๆ จี๊ด ๆ อยู่ดี ๆ ก็เจ็บหลังเคลื่อนไหวท่าที่ผิดธรรมชาติดังกล่าว โดยอาการจะเป็นได้นานราว 1-2 สัปดาห์ สามารถหายไปได้เอง หากเป็นบ่อยก็สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อกินยาที่ช่วยกลุ่มลดอักเสบและคลายกล้ามเนื้อให้อาการดีขึ้นได้


อาการเจ็บหน้าอกที่เกิดจากความเครียด

     การเจ็บหน้าอกจากความเครียดนั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุดในคนวัยทำงานก็ว่าได้ ลักษณะอาการมักเป็นแบบเจ็บแปลบ หรือเจ็บจี๊ด ๆ ประมาณ 2-3 นาที มักหายไปในวันเดียวกัน ในเวลาที่อยู่เฉย ๆ ก็ลองทบทวนตัวเองดูได้ว่าช่วงนี้ได้รับความเครียดบ่อยเกินไปหรือไม่ โดยความเครียดในระดับที่รุนแรง อาจส่งผลให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น จนเกิดเป็น อาการเจ็บหน้าอก พร้อมทั้งมีอาการใจสั่นร่วมด้วย


อาการเจ็บหน้าอกที่เกิดจากการออกกำลังกายอย่างหักโหม

     การหักโหมออกกำลังกายอย่างเกินพอดีจนเจ็บกลางหน้าอก หรือเจ็บแน่นหน้าอกแล้วร้าวไปที่หลัง ไหล่ซ้าย ต้นแขนซ้าย หรือลงไปถึงลิ้นปี่ แต่ไม่ถึงสะดือ โดยอาการเจ็บสัมพันธ์กับการออกแรง ให้ระวังในเรื่องของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หากมีอาการข้างต้น ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจ 

 

อาการเจ็บหน้าอกที่เป็นสัญญาณของโรคกรดไหลย้อน 

     มักมีอาการเจ็บแบบแน่น ๆ ร่วมกับรู้สึกแสบร้อนกลางอก (หรือไม่มีก็ได้) สาเหตุมาจากการที่กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับ และดันขึ้นไปสู่หลอดอาหาร (หลอดที่เชื่อมต่อลำคอกับกระเพาะอาหาร) และเนื่องจากกรดในกระเพาะมีความเป็นกรดสูงมาก จึงเป็นเหตุให้รู้สึกแสบร้อนนั่นเอง สาเหตุมักเป็นจากอุปนิสัยการกินอาหารใกล้เวลานอนมากเกินไป (น้อยกว่า 1-2ชม. ก่อนนอน) หรือกินอาหารมื้อใหญ่บ่อยครั้ง สาเหตุอื่น ๆ ได้แก่ กินอาหารที่มีส่วนผสมของกาเฟอีน อาหารไขมันสูง แอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ หากอาการแสบร้อนกลางอกเกิดขึ้นสัปดาห์ละ 2 ครั้ง หรือมากกว่า อาจเป็นไปได้ว่ากำลังเป็นโรคกรดไหลย้อน ควรเริ่มปรับพฤติกรรมโดยทันที และปรึกษาแพทย์เพื่อกินยาลดอาการเมื่อปรับแล้วไม่ดีขึ้น


อาการเจ็บหน้าอกที่เป็นสัญญาณของโรคกระเพาะหรือนิ่วในถุงน้ำดี 

     มักมีอาการเจ็บหน้าอกแบบจุกแน่นบริเวณลิ้นปี่ อาจเจ็บค่อนไปทางใต้ชายโครงขวา มักจะเกิดจากอาการด้านทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นอาการที่สัมพันธ์กับการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ที่มักเป็นไลฟ์สไตล์ที่พบได้บ่อยสำหรับมนุษย์ออฟฟิศที่รับประทานฟาสต์ฟู๊ดเป็นประจำ


อาการเจ็บหน้าอกที่เป็นสัญญาณของโรคหัวใจ

     ในปัจจุบันพบว่าคนอายุ 25 – 40 ปี ก็เป็นโรคหัวใจแล้ว โดยเฉพาะคนวัยทำงานที่มีพฤติกรรม สูบบุหรี่จัด ชอบดื่มแอลกอฮอล์ พักผ่อนน้อย ไม่ออกกำลังกาย และรับประทานอาหารที่ทำให้เกิดไขมันในเลือดสูง โดยพบในเพศชายเสียเป็นส่วนใหญ่ สำหรับใครที่มีพฤติกรรมเสี่ยงแต่ยังไม่เคยตรวจร่างกาย ลองพิจารณาดูว่าเคยมีอาการนี้หรือไม่ เช่น อาการเจ็บแน่นบริเวณหน้าอกด้านซ้าย หายใจไม่สะดวก เหนื่อยง่ายมาก แม้แต่ตอนทำกิจกรรมที่ทำเป็นประจำ เช่น การเดินขึ้นลงบันได เป็นต้น 

 

 

วิธีป้องกันอาการเจ็บหน้าอกแบบต่าง ๆ ในกลุ่มคนวัยทำงาน

 

1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต

     หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เน้นการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ พยายามหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด และมีรสเค็ม ควบคุมน้ำตาล รวมทั้งควบคุมน้ำหนักให้เป็นไปตามเกณฑ์ หลีกเลี่ยงการทำงานอย่างหักโหมจนเกิดความเครียดมากเกินไป และขยับเคลื่อนไหวบ่อย ๆ หรือฝึกยืดเหยียดกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น เพื่อที่จะได้ลดอาการเกร็งและความเจ็บปวดในอริยาบถต่าง ๆ

 

2. หมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ

     ในกรณีที่ไม่มีอาการ แล้วตรวจพบความเสี่ยงที่จะเป็นโรค ก็สามารถทำการรักษาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ และยังช่วยให้คนไข้ลดโอกาสการเกิดอันตรายต่อชีวิต และช่วยลดค่าใช้จ่ายของการรักษาในระยะยาวได้


3. การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 

     ควรออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละไม่ต่ำกว่า 20 นาที  โดยออกกำลังกายแบบใดก็ได้ ขอให้เป็นการออกกำลังที่มีการเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ของร่างกายตลอดเวลา การออกกำลังกายโดยให้มีชีพจรเต้นเพิ่มมากขึ้น โดยมากกว่าขณะพัก ตั้งแต่ 10 ครั้งต่อนาทีขึ้นไป จะมีประโยชน์มาก แต่ไม่ควรออกกำลังกายหักโหมจนเกินไป

 

 

     หากมีอาการเจ็บแปลบบริเวณหน้าอก เจ็บจี้ดที่หน้าอกข้างใดข้างหนึ่ง หรืออาการเจ็บหน้าอกอื่น ๆ แล้วสงสัยว่าอาการที่เป็นนั้นคืออะไร ร้ายแรงหรือไม่ คลายความสงสัยด้วยการปรึกษาแพทย์ในแอปฯ หมอดี ได้เลย

 

 

📲 5 ขั้นตอนง่ายๆ ในการปรึกษาแพทย์ ผ่านแอปฯ หมอดี


1. ดาวน์โหลดแอปฯ คลิก>> https://mordee.app.link/mordee จากนั้นเลือกเมนูโปรไฟล์ เพื่อลงทะเบียนเข้าใช้งาน

2. ไปที่หน้าแรกของแอปฯ กดแถบค้นหา เลือกแผนก หรืออาการ ที่ต้องการปรึกษา

3. เลือกแพทย์ที่ต้องการปรึกษา และทำนัดหมาย โดยเลือกวันและเวลาที่ต้องการ แล้วเลือกรูปแบบการปรึกษาเป็น วิดีโอคอล โทร หรือ แชต จากนั้นทำการชำระเงิน หรือกรอกโค้ดส่วนลด (ถ้ามี)

4. เข้าห้องสนทนาในแอปฯ เพื่อทำการปรึกษาแพทย์ เมื่อถึงเวลานัดหมาย

5. รอสรุปผลการปรึกษาจากแพทย์ พร้อมใบสั่งยา(หากมี) โดยสามารถสั่งซื้อยา แล้วรอรับยาที่บ้านได้

💬 สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line ID: @mordeeapp

👉👉 อ่านสาระสุขภาพจากอป หมอดี เพิ่มเติม คลิก >> https://mordeeapp.com/th/article

 

 

บทความที่คุณอาจสนใจ

 

บทความที่เกี่ยวข้อง