เสี่ยง-ไม่เสี่ยง ก็ต้องตรวจเอชไอวี รู้เร็ว ฟื้นฟูเร็ว
ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณะสุขเผยว่า จากการคาดประมาณผู้ติดเชื้อ เอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ในประเทศไทยโดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ Spectrum-AEM คาดว่าในปี 61มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ประมาณ 6,400 คน (เฉลี่ยวันละ 17 คน) ผู้เสียชีวิตเนื่องมาจากเอดส์ 18,000 คน (เฉลี่ยวันละ 49 คน) และมีผู้ติดเชื้อที่มีชีวิตอยู่ประมาณ 480,000 คน
ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปีเดียวกันพบว่ามีผู้ติดเชื้อที่มีชีวิตอยู่ได้รับการวินิจฉัยหรือรู้สถานะว่าตนเองติดเชื้อแล้ว 451,384 คน ดังนั้นคาดว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวีอีกประมาณ 28,000 คน ที่ยังไม่รู้สถานะการติดเชื้อและยังไม่ได้รับการรักษา ที่สำคัญคือสามารถส่งถ่ายเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้โดยไม่รู้ตัว
เทคนิคและเคล็ดลับการดูแลร่างกาย
เทคนิคและเคล็ดลับการดูแลสุขภาพร่างกายไม่ว่าคุณจะเป็นเพศใดและมีรสนิยมแบบไหน ศ.ดร.พิเชษฐ์ วิริยะจิตรา หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ผู้คร่ำหวอดในการคิดค้นและให้คำแนะนำการบำบัดรักษาและดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี ดังนี้
1. ตรวจเลือดเป็นประจำทุก 3-12 เดือน
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมความเสี่ยงในการมีเพศสัมพันธ์หรือความถี่ในการสัมผัสสารคัดหลั่ง “ทุกวันนี้ เอชไอวี ตรวจฟรี ตรวจเร็ว โดยให้คนไทยที่มีบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก สามารถตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวีได้ฟรี ปีละ 2 ครั้ง ทุกโรงพยาบาลที่ให้บริการภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ประกอบกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยทำให้สามารถตรวจหาเชื้อเอชไอวีได้รวดเร็ว และแม่นยำ และควรตรวจหาเชื้อเอชไอวีหลังจากมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ไม่สวมถุงยางอนามัยหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น ประมาณ 1 เดือน เมื่อทราบผลว่าไม่ติดเชื้อเอชไอวี จะได้รับการปรึกษาเรื่องการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ต่อไป หากพบการติดเชื้อเอชไอวีจะได้เข้ารับการรักษาโดยเร็ว
2. เอชไอวี รู้เร็ว ยังมีโอกาสใช้ชีวิตได้ปกติ
แต่หากเข้ารักษาล่าช้าจะเริ่มป่วยและมีอาการของโรคแทรกซ้อนตามมาส่งผลให้ภูมิคุ้มกันต่ำเกิดโรคเรื้อรังได้ง่ายแล้วเชื้อเอชไอวีในร่างกายจะเพิ่มขึ้นจนถ่ายทอดเชื้อ เอชไอวี ไปสู่คู่และผู้อื่นได้
3. สำหรับผู้ที่ทราบถึงภาวะการติดเชื้อแล้ว
ไม่ต้องกังวลและเครียดเกินเหตุแต่จำเป็นต้องรักษาสุขภาพร่างกาย ไปพร้อมกับสภาพจิตใจที่ดี สุขภาพจิตส่งผลต่อร่างกายและตัวโรคทุกโรคอย่างมีนัยยะดังคำที่มีคนกล่าวว่า ‘ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว’ ระหว่างการบำบัดรักษา จำเป็นจะต้องดูแลจิตใจของตนเองรวมถึงคนใกล้ชิดจำเป็นต้องให้กำลังใจและให้ความหวังต่อผู้ติดเชื้อในการดำรงชีวิตต่อไป
4. ดูแลร่างกายสม่ำเสมอ
กินอิ่ม นอนหลับ กินอาหารดีมีประโยชน์และพักผ่อนเพียงพอ เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ร่างกายต้องการเหมือนกับทุกๆ โรค เมื่อป่วยก็ต้องการการเยียวยาและฟื้นฟู ไม่ลืมเสริมด้วยการออกกำลังกายพอเหมาะ ทั้งนี้ต้องปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับสมรรถภาพของแต่ละคน
5. อาหารเสริมและวิตามินที่ช่วยเพิ่มซีดีโฟร์
ปัจจุบันวิตามินและอาหารเสริมในท้องตลาดอาจมีให้เลือกมากมาย แต่จำเป็นต้องพิจารณาองค์ประกอบและความน่าเชื่อถือควบคู่ไปกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยในแต่ละบุคคล