รีเซต

วิธีปฐมพยาบาลแผลไฟไหม้ สำลักควันไฟ ต้องทำอย่างไรให้รอด !!

วิธีปฐมพยาบาลแผลไฟไหม้ สำลักควันไฟ ต้องทำอย่างไรให้รอด !!
Beau_Monde
6 กรกฎาคม 2564 ( 11:38 )
3.8K

     เหตุอัคคีภัย ไฟไหม้ในสถานที่ต่างๆ ถือเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ สถานการณ์ไฟไหม้ถือเป็นเรื่องที่สามารถเกิดได้ขึ้นตลอดเวลาและทุกสถานที่ ศึ่งเมื่อเกิดไฟไหม้ขึ้นมาแล้วก็มักจะมีผู้ที่บาดเจ็บรวมไปถึงเสียชีวิตค่ะ

     การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ อาจเกิดได้จากการโดนไฟคลอก การสำลักควันไฟ รวมไปถึงการบาดเจ็บสาหัสจากแผลไฟไหม้ การติดเชื้อจากแผลไฟไหม้ ซึ่งหากเราสามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างถูกวิธีให้กับผู้ที่บาดเจ็บจากเหตุอัคคีภัย ก็จะสามารถช่วยบรรเทาความเจ็บปวดและอาจจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ค่ะ และวิธีการช่วยเหลือจะต้องทำอย่างไรบ้างรวมถึงอะไรที่ไม่ควรทำบ้าง วันนี้เรามีข้อมูลมาบอกกันค่ะ

 

 

ระดับของแผลไฟไหม้

     บาดแผลไฟไหม้ สามารถแบ่งเป็น 3 ระดับ โดยดูจากความรุนแรงและความลึกของบาดแผล ดังนี้

1. บาดแผลไฟไหม้ระดับแรก

     บาดแผลจะอยู่แค่เพียงผิวหนังชั้นหนังกำพร้า โดยจะมีอาการแดง คัน แสบเล็กน้อย คล้ายกับอาการผิวไหม้เวลาโดนแสงอาทิตย์ โดยปกติจะหายได้เร็วประมาณ 7 วันและไม่เกิดแผลเป็น

2. บาดแผลไฟไหม้ระดับสอง

     บาดแผลในระดับนี้จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทย่อย นั่นก็ระดับตื้นและระดับลึก โดยจะเกิดการบาดเจ็บในบริเวณชั้นหนังกำพร้าและหนังแท้ โดยในระดับตื้นจะมีอาการเกิดตุ่มน้ำใส พุพอง ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกเจ็บและปวดแผลมาก ส่วนบาดแผลในระดับลึก จะมีผิวหนังเหลืองหรือซีด มีตุ่มน้ำใส พุพอง บาดแผลประเภทนี้ถ้าไม่มีภาวะติดเชื้อแทรกซ้อน มักจะหายภายใน 2-3 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับความลึกของบาดแผล

3. บาดแผลไฟไหม้ระดับสาม

     บาดแผลเกิดจากชั้นผิวหนังทั้งหมดถูกทำลายด้วยความร้อน คนไข้จะไม่มีอาการเจ็บเนื่องจากเส้นประสาทถูกทำลายไปทั้งหมด ผิวหนังจะมีสีขาวซีด แห้ง แข็งกร้าน ในระยะนี้จะต้องได้รับการรักษาโดยแพทย์เท่านั้น ซึ่งอาจจะต้องให้ศัลยแพทย์เป็นผู้ดูแลค่ะ

 

การปฐมพยาบาลแผลไฟไหม้

     สำหรับผู้ที่เป็นแผลจากการโดนความร้อน ไม่ว่าจะเป็นการโดนไฟไหม้ น้ำร้อนลวก วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น สามารถทำได้ ดังนี้ค่ะ

  • ล้างบาดแผลด้วยน้ำสะอาด

     หากพบผู้ป่วยที่มีแผลไฟไหม้หรือแผลที่โดนความร้อน ให้เรารีบนำน้ำสะอาดอุณหภูมิห้องหรือน้ำสบู่อ่อนล้างบาดแผลให้สะอาด

  • นำผ้าสะอาดพันแผล

     ใช้ผ้าสะอาดหรือผ้าก็อซ หรือผ้าที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้วพันแผลไว้ จากนั้นให้รีบนำส่งโรงพยาบาลค่ะ

  • ทำ CPR

     หากพบผู้ผ่วยที่หมดสติ เรียกแล้วไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ ให้รับทำ CPR เพื่อกระตุ้นการหายใจค่ะ

 

การดูแลผู้ที่สำลักควันไฟ

     การสำลักควันไฟ ถือเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่สามารถคร่าชีวิตได้ และถือเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตมากที่สุดในกรณีเพลิงไหม้ด้วยค่ะ ซึ่งหากเราสามารถปฐมพยาบาลผู้ที่บาดเจ็บจากสาเหตุนี้ได้ ก็จะช่วยให้เกิดการรอดชีวิตมากขึ้น ซึ่งโดยปกติควันไฟจะถูกแบ่งเป็น 2 แบบ ดังนี้

1. ควันในที่เปิด

     ควันไฟที่เกิดขึ้นในบริเวณที่เปิดโล่งจะมีความร้อนและเขม่าซึ่งสามารถเข้าไปสู่ทางเดินหายใจ และมีโอกาสจะทำให้เกิดการระคายเคืองรวมถึงมีอาการบวมจนไปถึงขั้นมีการอุดกั้นทางเดินหายใจได้

2. ควันในที่ปิด

     หากเกิดไฟไหม้ในบริเวณห้องที่ปิด อาจจะมีการสะสมของสารต่างๆ จนก่อให้เกิดปฏิกิริยาเคมีและทำให้เกิดสารพิษขึ้นมา เช่น ก๊าซไฮโดรเจนไซยาไนด์ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซไฮโดรเจนคลอไรด์ ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ หากผู้ประสบเหตุโดนควันไฟไหม้ลักษณะนี้ก็มีโอกาสที่จะซึมและหมดสติได้

 

อาการของคนที่สำลักควันไฟ

  • ระคายเคืองทางเดินหายใจ

     สำหรับในช่วงแรกของผู้ที่มีอาการสำลักควันไฟ นั่นก็คือการรู้สึกคันจมูก ไอ จาม เนื่องจากมีการระคายเคืองบริเวณทางเดือนหายใจ

  • เสียงแหบ

     หากควันไฟและความร้อนลงไปลึกกว่าบริเวณทางเดินหายใจส่วนต้น และลงไปจนถึงบริเวณตำแหน่งเส้นเสียง ก็จะทำให้เสียงแหบได้ 

  • ขาดอาการหายใจ

     หากควันไฟลงไปจนถึงตำแหน่งของปอดก็จะมีอาการหายใจเร็ว ขาดอากาศหายใจได้ สุดท้ายก็จะทำให้การแลกเปลี่ยนแก๊สผิดปกติในปอด และไปจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ค่ะ

     หากโดนควันไฟและความร้อนอย่างเดียว ผู้ประสบภัยอาจจะหมดสติจากการขาดอากาศหายใจหรือว่าขาดออกซิเจน ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 5 นาทีเป็นต้นไป แต่หากผู้ประสบภัยหมดสติจากการโดนสารพิษ ที่เกิดจากการเผาไหม้จนก่อให้เกิดปฏิกิริยาเคมี จะทำให้มีความเป็นกรดในเลือดสูงขึ้น สมองทำงานผิดปกติ หากสูดอากาศที่เป็นกรดเหล่านี้มากเกินไป จะทำให้เนื้อปอดเสียหาย หายใจไม่ออกและน้ำท่วมปอดจนเสียชีวิตในที่สุด

 

การปฐมพยาบาลผู้ที่สำลักควันไฟ

     ถ้าเกิดเราเจอเหตุไฟไหม้ แล้วพบผู้บาดเจ็บวิ่งออกมาได้แล้ว แต่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีก็มีโอกาสที่จะทำให้ผู้บาดเจ็บเสียชีวิตได้ค่ะ เนื่องจากในบางครั้งอาการที่เราเห็นในช่วงแรกอาจจะไม่ได้บ่งบอกว่าผู้บาดเจ็บจะมีอาการรุนแรงในอนาคตได้ เพราะว่าเราไม่สามารถมองเห็นอาการบวมที่ทางเดินหายใจได้จากภายนอก แต่เราก็ยังสามารถสังเกตถึงเขม่าในจมูกและในปากได้ หากพบเจอว่ามีเขม่า ให้รีบปฐมพยาบาลเบื้องต้น ดังนี้ค่ะ

  • ใช้ผ้าชุบน้ำปิดปากและจมูก

     เพื่อไม่ให้ควันไฟหรือว่าความร้อนเข้าไปในทางเดินหายใจได้ง่าย

  • จับผู้บาดเจ็บนั่งหลังตรง

     เนื่องจากมีการระคายเคืองทางเดินหายใจ ทำให้มีพวกสารคัดหลั่งออกมาเยอะ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการสำลักได้ง่าย

  • รีบส่งโรงพยาบาล

     หลังจากการฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้ว ให้รีบนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลโดยทันทีเพื่อให้แพทย์รักษาและพยาบาลชำนาญการดูแลอย่างถูกวิธีต่อไป

     

แต่หากผู้บาดเจ็บหมดสติ ในขั้นตอนแรกของการปฐมพยาบาล ควรทำดังนี้

  • ดูพื้นที่ให้ปลอดภัยก่อน

     ขั้นแรกเลยนั่นก็คือการดูพื้นที่ให้มีความปลอดภัยก่อนการเข้าช่วยเหลือค่ะ เพราะมีความเป็นไปได้ว่าไฟอาจจะกลับมาไหม้หรืออาจมีการปะทุของไฟได้อีก

  • พยายามปลุก

     ลองพยายามปลุกผู้บาดเจ็บก่อน โดยให้ตบที่บริเวณไหล่พร้อมทั้งส่งเสียงเรียก หากไม่ฟื้นให้รีบโทรเรียกรถพยาบาลที่เบอร์ 1669 

  • ทำ CPR

     ในช่วงระหว่างรอรถพยาบาล ให้ทำ CPR เพื่อปั๊มหัวใจและทำการเปิดทางเดินหายใจ โดยมีขั้นตอนดังนี้ค่ะ

     - วัดกึ่งกลางหน้าอก โดยกึ่งกลางหน้าอกจะอยู่ตรงกลางระหว่างหัวนมทั้ง 2 ข้าง

     - วางส้นมือบนกึ่งกลางหน้าอก มืออีกข้างมาประกบ

     - แขนตึง ตั้งฉากกับหน้าอก 90 องศา

     - โน้มตัวไปข้างหน้า กดบนหน้าอกของผู้ประสบภัยตรงๆ ลึก 5-6 เซนติเมตร อัตราการกด 100 - 120 ครั้งต่อนาที จนผู้ป่วยกลับมาหายใจได้ปกติอีกครั้งหนึ่ง

 

 

     สำหรับความเชื่อที่แนะนำให้เอาน้ำล้างจมูกผู้ป่วยเพื่อให้หายใจคล่องขึ้น ความเชื่อนี้เป็นความเชื่อที่ผิดมากๆ และไม่แนะนำให้ทำอย่างเด็ดขาด เพราะหากล้างเศษเขม่าออกไปแล้ว เมื่อมาถึงโรงพยาบาลแพทย์จะวินิจฉัยไม่ได้เลยว่าปริมาณเขม่าควันที่เข้าไปในจมูกหรือทางเดินหายใจเยอะแค่ไหน

     รวมถึงการล้างเขม่าควันออกไปไม่ได้ทำให้การระคายเคืองหรือการผลิตสารคัดหลั่งรวมถึงอาการบวมของทางเดินหายใจลดน้อยลง นอกจากคุณหมอจะประเมินได้ยากแล้วยังมีโอกาสที่จะทำให้การรักษาเป็นไปในทิศทางที่ผิดได้

 

 

อ้างอิง

Rama Square : การปฐมพยาบาล เมื่อเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ : วิธีรับมือกับเหตุฉุกเฉิน 8.8.2562

Rama Square : สำลักควันไฟ ต้องปฐมพยาบาลอย่างไรให้ถูกต้อง : วิธีรับมือกับเหตุฉุกเฉิน 19.9.2562

การทำ CPR & การใช้ AED สิ่งที่ควรรู้ ของที่ต้องมี : We Mahidol

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

สิทธิประโยชน์แนะนำ

แท็กยอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
สัมผัสโลกไร้ขีดจำกัดกับทรูไอดี