รีเซต

7 วิธีรักษาเส้นเลือดขอดด้วยตัวเอง เพื่อขาเนียนสวย ลดปัญหาลุกลาม

7 วิธีรักษาเส้นเลือดขอดด้วยตัวเอง เพื่อขาเนียนสวย ลดปัญหาลุกลาม
BeauMonde
13 กันยายน 2566 ( 10:45 )
318

     แม้ว่าเส้นเลือดขอดอาจดูเหมือนเป็นปัญหาด้านความสวยความงาม แต่หลายคนที่เป็นก็ประสบกับความเจ็บปวด เช่นการปวดกล้ามเนื้อ และปัญหาอื่น ๆ ได้เช่นกัน และหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษา อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น เจ็บและเป็นแผลที่ผิวหนัง

     โดยปกติแล้วแพทย์หรือผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพ สามารถช่วยรักษาเส้นเลือดขอดให้หายไปได้ ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดหรือใช้วิธีการอื่น ๆ ซึ่งการรักษาเส้นเลือดขอดนั้นในปัจจุบันก็ใช้เวลาไม่นาน แต่หากเราไม่ต้องการที่จะรักษาโดยแพทย์ อยากจะลองรักษาเส้นเลือดขอดด้วยตัวเองก่อน วันนี้เราก็มีวิธีมาฝากกัน

 

 

อาการของเส้นเลือดขอด

     อาการที่เด่นชัดของเส้นเลือดขอดคืออาการที่เราสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาถึงเส้นเลือดบนผิว แต่นอกจากนี้ยังมีอาการอื่น ๆ อีกเช่น

  • มีเส้นเลือดดำคล้ำ ม่วงหรือเขียวบนผิว (บางคนอาจสังเกตเห็นสีที่ต่างกัน เช่น สีแดงหรือน้ำเงินด้วย)
  • มีเส้นเลือดฝอยปรากฏชัดที่ขา และมีลักษณะขดไปมาคล้ายเชือก 
  • อาจปวดกล้ามเนื้อที่ขา ตะคริว หรือมีอาการแสบร้อนและบวมได้
  • อาจมีอาการปวดรุนแรงขึ้นหลังจากนั่งหรือยืนเป็นเวลานาน

 

7 วิธีรักษาเส้นเลือดขอดด้วยตัวเอง

 

1. ออกกำลังกาย

     ด้วยการออกกำลังกายมากขึ้น จะช่วยทำให้การไหลเวียนโลหิตของเราดีขึ้น การเคลื่อนไหวร่างกายยังช่วยลดปัญหาเส้นเลือดในขาและช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดเส้นเลือดขอดได้

 

2. หลีกเลี่ยงเสื้อผ้าที่รัดและคับ

     เสื้อผ้าที่รัดและคับเกินไป อาจทำให้การไหลเวียนโลหิตเป็นไปได้ยากซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพ และเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดเส้นเลือดขอดได้ ดังนั้นจึงแนะนำให้สวมเสื้อผ้าที่ใส่สบายไม่รัดเกินไป 

 

3. หลีกเลี่ยงรองเท้าส้นสูง

     พยายามสวมรองเท้าที่ใส่สบายและหลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าส้นสูงเป็นเวลานาน เพราะรองเท้าส้นเตี้ยที่ใส่สบายจะดีต่อกล้ามเนื้อน่องและเส้นเลือด 

 

4. ยกขา

     การยกขาขึ้นสามารถลดแรงกดบนหลอดเลือดและช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น การยกขาเพื่อลดเส้นเลือดขอดนั้นควรยกขาให้สูงเท่ากับหัวใจหรือสูงกว่า เราสามารถฝึกวิธีนี้ได้หลายครั้งทั้งกลางวันและกลางคืน ใช้หมอน 2 - 4 ใบวางรองใต้ขา ขณะนอนที่เรานอนราบบนเตียง ในแต่ละครั้งให้ยกขาขึ้นประมาณ 10 - 15 นาที 

 

5. ลดโซเดียม

     ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคเกลือและโซเดียมที่มากเกินไป เนื่องจากอาจทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อหลอดเลือดทุกส่วนในร่างกาย

 

6. เพิ่มการบริโภคโพแทสเซียม

     โพแทสเซียมช่วยลดการกักเก็บน้ำและลดผลกระทบของโซเดียม ซึ่งอาหารที่มีโพแทสเซียม เช่น ถั่วพิสตาชิโอ อัลมอนด์ มันฝรั่ง ผักใบเขียว และปลาแซลมอน แต่หากเราเป็นโรคไต โรคเลือดออกผิดปกติ หรือโรคหัวใจ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเปลี่ยนแปลงการกินอาหาร 

 

7. เพิ่มอาหารที่อุดมด้วยฟลาโวนอยด์

     ฟลาโวนอยด์อาจช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ช่วยลดความดันโลหิตในหลอดเลือดแดง และทำให้ผนังหลอดเลือดยืดหยุ่นได้ดี ซึ่งอาหารที่มีฟลาโวนอยด์ ได้แก่ ผลไม้กลุ่มเบอร์รี่ กะหล่ำปลีม่วง ดาร์กช็อกโกแลต และผลไม้รสเปรี้ยว

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

สิทธิประโยชน์แนะนำ

แท็กยอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง