วิธีรับมือฝุ่น PM 2.5 สำหรับเด็ก ป้องกันอย่างไรไม่ทำร้ายสุขภาพลูก
ฝุ่น PM 2.5 ยุคนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่เอามากๆ โดยเฉพาะกับสุขภาพของเด็กๆ ซึ่งจะต้องมี วิธีรับมือฝุ่น PM 2.5 สำหรับเด็ก ให้เหมาะสม เพราะสุขภาพและไลฟ์สไตล์ของเด็กแตกต่างจากผู้ใหญ่ คงเป็นไปไม่ได้ที่จะปิดกั้นประสบการณ์ด้วยการเก็บลูกๆ ไว้ในบ้านที่มีเครื่องอากาศตลอดไป แต่จะทำอย่างไรให้ลูกได้รับผลกระทบจากฝุ่นจิ๋ว หรือฝุ่น PM 2.5 มากที่สุด เรามีเคล็ดลับดีๆ มาฝากคุณแม่กันค่ะ
ฝุ่น PM 2.5 คืออะไร และเกิดจากอะไร
PM 2.5 หมายถึง ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีขนาดเท่ากับหรือน้อยกว่า 2.5 ไมครอน (micrometer) ส่วนใหญ่มาจากการเผาไหม้พลังงาน เช่นการเผาขยะ เผาซากพืชต่างๆ หรือการทำงานของเครื่องจักรที่ใช้เชื้อเพลิง เช่น รถยนต์ รวมไปถึงฝุ่นจากการก่อสร้างต่างๆ
ด้วยขนาดที่เล็กมาก ทำให้ PM 2.5 สามารถซึมผ่านถุงลมและเข้าสู่ปอดได้ง่าย และมีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดอาการหายใจลำบาก ไอ และมีเสมหะมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อระบบหัวใจและระบบเลือด เช่น เพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดแดง เป็นต้นค่ะ
ฝุ่น PM 2.5 มีผลกับเด็กอย่างไร ทำไมถึงอันตรายมาก
เด็กๆ อาจมีผลกระทบที่รุนแรงยิ่งกว่าผู้ใหญ่ เพราะระบบทางเดินหายใจและระบบต่างๆ ยังพัฒนา ไม่สมบูรณ์ ทำให้เด็กๆ มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจาก PM2.5 มากขึ้น
โดยข้อมูลการแพทย์ระบุไว้ว่า ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกับเด็กตั้งแต่ "อยู่ในครรภ์มารดา" เลยทีเดียวค่ะ โดย รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวว่า หากคุณแม่ตั้งครรภ์ในสภาพแวดล้อมที่มีฝุ่น PM2.5 จะเสี่ยงต่อการที่ทารกคลอดออกมาน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ และยังเสี่ยงพิการแรกคลอด โดยเฉพาะกลุ่มโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดอีกด้วย
และจากบทความเรื่องผลของ PM2.5 ต่อทารกในครรภ์จนถึงวัยเด็กเล็ก ซึ่งติดตามเด็กอนุบาล 115,023 คน จาก 551 เมืองในประเทศจีน พบว่า การสัมผัสฝุ่น PM2.5 ปริมาณสูงตั้งแต่ในครรภ์จนถึงวัยเด็กเล็ก สัมพันธ์กับคุณภาพการนอนของเด็ก เช่น หายใจผิดปกติขณะหลับ รู้สึกง่วงซึมมากกว่าเดิมในตอนกลางวัน ซึ่งอาจทำให้กระทบต่อพัฒนาการทางสมองตามไปด้วย
5 วิธีรับมือฝุ่น PM 2.5 สำหรับเด็ก
เมื่อรู้อันตรายจาก PM 2.5 แบบนี้คงจะนิ่งนอนใจไม่ได้แล้วล่ะค่ะ ช่วงไหนที่ค่าฝุ่นสูงลองปฏิบัติตามแนวทางต่อไปนี้กันดูนะคะ เชื่อว่าจะช่วยลดผลกระทบไม่มากก็น้อยแน่นอน
- เช็กค่าฝุ่นเสมอก่อนทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยจะเช็กจากแหล่งข้อมูลของรัฐ หรือใช้เครื่องวัดปริมาณฝุ่นแบบพกพาก็ได้ จะช่วยให้คุณแม่วางแผนกิจกรรมต่างๆ ของลูกน้อยได้ดีมากขึ้นค่ะ โดยถ้าหากค่าฝุ่น PM 2.5 สูงกว่า 50 มคก./ลบ.ม. ควรงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง หากเลี่ยงไม่ได้ควรใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลานะคะ
- สร้างสภาพแวดล้อมในร่มที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ในวันที่ไม่ควรออกนอกบ้าน ลองปรับสภาพแวดล้อมในบ้านให้เป็นโลกแห่งการเรียนรู้ดูสิคะ ไม่ว่าจะเป็นการจัดมุมระบายสี มุมประดิษฐ์ของเล่น มุมร้องเพลง มุมออกกำลังกาย มุมเล่านิทาน ไม่สำคัญว่าบ้านจะต้องใหญ่แค่ไหน อาศัยจินตนาการก็ช่วยให้สนุกได้ ยิ่งคุณแม่ร่วมเล่นด้วยก็ยิ่งสนุกจนลืมเวลาไปเลยล่ะค่ะ
- ดื่มน้ำสะอาดอย่างเพียงพอ น้ำจะช่วยขับเอาฝุ่น PM2.5 ในกระแสเลือดออกจากร่างกายในรูปของปัสสาวะได้มากขึ้น ดังนั้นต้องพยายามดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ ซึ่งแนะนำว่าเป็นน้ำเปล่าดีที่สุดค่ะ
- ทานผักและผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง จะช่วยลดการทำลายเซลล์และเนื้อเยื่อจากพิษของฝุ่นได้ ควรทานอะไรดีคลิกเลย รวมผักผลไม้ ต้านมะเร็ง สารต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง
- อยู่ในที่ๆ มีต้นไม้ใบเขียวเยอะๆ เพราะพืชใบเขียวจะช่วยดูดซับฝุ่นในอากาศได้มากขึ้น แต่ควรเลือกเป็นช่วงกลางวันที่พืชคายออกซิเจน หากจะปลูกในบ้านควรเลือกพันธุ์ที่เหมาะสม และไม่ก่อให้เกิดความชื้นภายในบ้านมากเกินไปนะคะ
คลิกดูเพิ่มเติม ห้องไหนปลูกอะไรดี? รวมสายพันธุ์ต้นไม้ฟอกอากาศที่เหมาะกับการปลูกในแต่ละห้อง
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก Facebook fanpage นิธิพัฒน์ เจียรกุล
บทความที่คุณอาจสนใจ