รีเซต

5 ยาทาสิวเชื้อรา สาเหตุและวิธีรักษาสิวเชื้อรา สิวที่มากับอากาศร้อนชื้นหน้าฝน!

5 ยาทาสิวเชื้อรา สาเหตุและวิธีรักษาสิวเชื้อรา สิวที่มากับอากาศร้อนชื้นหน้าฝน!
pommypom
21 พฤษภาคม 2564 ( 14:00 )
15.9K
1

     สาเหตุของการเกิดสิวนั้นเกิดได้จากหลายๆ ปัจจัยด้วยกัน โดยส่วนมากเราจะทราบดีกว่าหลักๆ แล้ว เชื้อแบคทีเรียเป็นตัวการที่ทำให้เกิดสิว แต่! นอกไปจากเชื้อแบคทีเรียแล้ว ยังมีอีกเชื้อหนึ่งนะคะที่ก็ทำให้เกิดสิวได้ด้วยเช่นกัน นั่นก็คือ “เชื้อรา” นั่นเอง ซึ่งเชื้อราสามารถส่งผลให้เกิด “สิวเชื้อรา” ได้ ดังนั้นมาเช็คกันดีกว่าค่ะว่าสิวที่เรากำลังเป็นอยู่นั้นคือสิวชนิดใด จึงจะสามารถแก้ไขได้อย่างตรงจุด และถ้าหากใครรู้แน่ชัดแล้วว่าตัวเองกำลังเป็นสิวเชื้อราอยู่แน่ๆ เราขอแนะนำยาทาสิวเชื้อรา 5 ตัวนี้เลยค่ะ ใช้แล้วจะช่วยกำจัดเชื้อราได้เป็นอย่างดีเลย

 


สาเหตุของสิวเชื้อรา

     “สิวเชื้อรา” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “สิวยีสต์” แท้จริงแล้วถือเป็นอาการของ “โรครูขุมขนอักเสบจากเชื้อรา” ค่ะ โดยมีสาเหตุมาจากเชื้อราประเภทยีสต์ในกลุ่ม “มาลาสซีเซีย” (Malassezia) และแม้ว่าเชื้อชนิดนี้จะมีอยู่ที่บริเวณผิวหนังของคนเราอยู่แล้ว แต่หากตัวเชื้อมีการเจริญเติบโตมากผิดปกติ ก็จะทำให้เกิดโรคผิวหนังตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็น โรครูขุมขนอักเสบ รวมไปถึงเกลื้อนและโรครังแคอักเสบอีกด้วยค่ะ

     นอกจากนั้นปัจจัยการใช้ชีวิตประจำวันของเราก็มีผลกระตุ้นให้เกิดสิวเชื้อราได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะผู้ที่มีผิวมัน เหงื่ออกง่าย อาศัยอยู่ในสภาพอากาศร้อนชื้นอย่างช่วงหน้าฝน ความอ้วน ความเครียด พักผ่อนน้อย ภูมิคุ้มกันบกพร่อง การใช้ยาปฏิชีวนะมาเป็นเวลานาน รวมไปถึงรูขุมขนอุดตันจากการใช้สกินแคร์บำรุงผิวต่างๆ ล้วนแล้วแต่กระตุ้นให้เกิดสิวเชื้อราได้ทั้งนั้นค่ะ 


ลักษณะของสิวเชื้อรา

     ด้วยความที่สิวเชื้อรามีลักษณะเป็นผื่นเม็ดเล็กๆ คล้ายกับสิวผดทั่วไป หลายๆ คนจึงแยกไม่ค่อยออก แต่เนื่องจากสิวเชื้อราเกิดจากเชื้อมาลาสซีเซียเจริญเติบโตมากผิดปกติบริเวณรูขุมขน จึงทำให้พบอาการอักเสบเป็นตุ่มแดงและอาจมีตุ่มหนองร่วมด้วย ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของสิวอุดตันแต่อย่างใด และถ้าหากทำการตรวจตุ่มหนองก็จะพบเชื้อยีสต์อยู่ข้างในค่ะ โดยสิวเชื้อราจะชอบอยู่กระจุกเรียงกันเป็นแพ มีขนาดใกล้เคียงกัน เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 มิลลิเมตร ที่สำคัญสิวเชื้อราจะมีอาการคันร่วมด้วยค่ะ จึงทำให้มีความแตกต่างไปจากสิวโดยทั่วไปที่ไม่ค่อยพบอาการคันนั่นเอง 

 

ยาทาสิวเชื้อรา

     หากอยากรักษาสิวเชื้อราให้หาย ก็ต้องทราบสาเหตุที่แท้จริงก่อนว่าสิวที่เกิดขึ้นเป็นสิวชนิดใด และถ้าเป็นสิวเชื้อราจริงๆ เราก็ควรใช้ยาประเภทยาฆ่าเชื้อรามารักษาค่ะ เนื่องจากมีสาเหตุการเกิดมาจากเชื้อรา จึงต้องรักษาที่ต้นเหตุจึงจะช่วยยับยั้งสิวที่เกิดขึ้นได้นั่นเอง โดยตัวยาที่ใช้กำจัดเชื้อรา ได้แก่

 

1. คีโตโคนาโซล (Ketoconazole)

     คีโตโคนาโซล เป็นยาต้านเชื้อรา ที่มีทั้งแบบยาทาผิวหนัง ยาน้ำแบบแชมพู และยาเม็ดสำหรับรับประทาน เมื่อใช้แล้วตัวยาจะเข้าไปยับยั้งสารสังเคราะห์สารอาหารในเชื้อรา ลดการลำเลียงสารอาหารที่ผนังเซลล์ของเชื้อรา ทำให้เชื้อราขาดสารอาหาร เมื่อเชื้อราไม่ได้รับสารอาหารก็จะหยุดเจริญเติบโตได้ในที่สุด

 

2. ไมโคนาโซล (Miconazole)

     ไมโคนาโซล เป็นยาต้านเชื้อราในกลุ่มเอโซล (Azole Antifungals) ซึงจะมีทั้งที่เป็นแบบยาทาผิวหนัง ผงโรยผิวหนัง ยาเจลป้ายปาก และยาเหน็บช่องคลอด โดยตัวยาจะเข้าไปยับยั้งการสร้างสารเออร์โกสเตอรอล (Ergosterol) ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของเยื่อหุ้มเซลล์ จึงทำให้เชื้อราสามารถหยุดการเจริญเติบโตได้ และเมื่อเชื้อราไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้ก็จะตายลงในที่สุดนั่นเอง

 

3. อีโคนาโซล (Econazole)

     อีโคนาโซล เป็นยาต้านเชื้อรากลุ่มเอโซล (Azole Antifungals) เช่นเดียวกันค่ะ ซึ่งตัวยาจะมีฤทธิ์ช่วยต้านเชื้อราและยีสต์ที่ก่อให้เกิดโรคผิวหนังได้ มีทั้งแบบที่เป็นครีม, ผง, สเปรย์ปั๊ม, ครีมทาช่องคลอด และยาเหน็บช่องคลอดค่ะ

 

4. โคลไตรมาโซล (Clotrimazole)

     อีกหนึ่งยาต้านเชื้อรากลุ่มเอโซล (Azole Antifungals) ก็คือ อีโคนาโซล ค่ะ โดยจะมีทั้งที่เป็นแบบยาทาผิว ยาอม ยาเหน็บช่องคลอด รวมไปถึงยาครีมทาช่องคลอด เมื่อใช้แล้วตัวยาจะทำงานโดยการป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อราได้ดีค่ะ

 

5. ซีลีเนียมซัลไฟด์ (Selenium Sulfide)

     ซีลีเนียมซัลไฟด์ เป็นอีกหนึ่งตัวยาที่มีฤทธิ์ช่วยต้านเชื้อราค่ะ ซึ่งจะมีทั้งที่เป็นแบบครีมและแชมพู โดยเฉพาะแชมพูที่มีส่วนช่วยขจัดรังแค เพราะนอกไปจากการช่วยกำจัดเชื้อราแล้ว ซีลีเนียมซัลไฟด์ยังมีส่วนช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย ขจัดรังแค ลดอาการคันศีรษะ และรักษาเกลื้อนได้อีกด้วยค่ะ

 

คำแนะนำก่อนการใช้ยา

     เนื่องจากตัวยาทั้ง 5 ชนิดนี้เป็นยาตามคำสั่งแพทย์ เราจึงต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อนใช้ว่าตัวไหนจะเหมาะสมกับเราที่สุด ซึ่งเราสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาและสถานพยาบาลค่ะ ก่อนซื้อก็อย่าลืมปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนด้วยนะคะ เพื่อความปลอดภัยและการรักษาอย่างตรงจุดค่ะ

 

 

 

บทความที่คุณอาจสนใจ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
สัมผัสโลกไร้ขีดจำกัดกับทรูไอดี