โรคซึมเศร้าของนักศึกษา ปัญหาเรื้อรัง ที่หากไม่ระวัง อาจนำมาสู่การสูญเสีย
เมื่อก้าวเข้าสู่วัยมหาวิทยาลัย ก็เป็นเสมือนก้าวหนึ่งที่เข้าใกล้วัยผู้ใหญ่ขึ้นไปอีกขั้น หลายๆ คนอาจจะต้องจากบ้าน มาเรียนในมหาวิทยาลัยที่อยู่ต่างบ้านต่างถิ่น บ้างก็ต้องเช่าหออยู่ บ้างก็อาจจะต้องเดินทางไปกลับโดยใช้เวลานาน ไหนยังจะเรื่องเรียน เรื่องกิจกรรม หรือเรื่องการใช้ชีวิตในสังคม ที่ต่างก็ถาโถมเข้ามา จนอาจทำให้นักศึกษาต้องเจอกับปัญหา และนำไปสู่การเกิดโรคซึมเศร้าได้ บทความนี้จะมานำเสนอเรื่อง โรคซึมเศร้าของนักศึกษา ปัญหาสำคัญที่ควรได้รับการดูแล ก่อนจะนำมาซึ่งการสูญเสียที่ไม่อาจแก้ไขได้
โรคซึมเศร้าของนักศึกษา ปัญหาสำคัญที่มักถูกมองข้าม
โรคซึมเศร้าของนักศึกษานั้นเป็นความผิดปกติทางอารมณ์ เหมือนกับโรคซึมเศร้าตามปกติ ไม่ได้มีข้อบ่งชี้ในการวินิจฉัยที่ชัดเจน ใช้เรียกโรคซึมเศร้าที่เกิดกับนักศึกษาที่เรียนอยู่ในระดับมหาวิทยาลัยเท่านั้น
เมื่อเข้าสู่ช่วงเรียนมหาวิทยาลัย หลายๆ คนก็จะต้องพบเจอกับความท้ายทายและอุปสรรคต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน เรื่องความรัก เรื่องเพื่อน การเข้าสังคม การทำกิจกรรม เงิน หรือการเตรียมตัวเข้าสู่ช่วงวัยทำงานต่อไป จัดได้ว่าเป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ ก่อนที่จะต้องไปพบเจอกับความยากลำบากในวัยทำงาน
การเรียนในช่วงวัยมหาวิทยาลัยนั้น บ่อยครั้งที่จะต้องอดนอนเพื่อทำงานให้เสร็จทันส่ง หรืออ่านหนังสือโต้รุ่งเพื่อนำไปสอบในวันถัดไป ไหนจะเรื่องของการกินที่อาจจะไม่ถูกสุขลักษณะ ของเพียงให้อร่อย สะดวก และราคาสมกับฐานะของตัวเองก็เพียงพอแล้ว นอกจากนี้หลายๆ คนก็จะต้องแบกรับปัญหาทางด้านการเงิน ไม่ว่าจะเป็นค่าเทอม ค่ากิน ค่าที่พัก ไหนจะยังปัญหาต้องเจอกับปัญหา โฮมซิก (homesick) เพราะอาจจะต้องห่างไกลจากครอบครัว เพื่อมาเรียนในมหาวิทยาลัยที่ไกลจากบ้าน ปัญหาเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ก็สร้างความวิตกกังวล และนำไปสู่การเกิดโรคซึมเศร้าได้ในที่สุด
สัญญาณที่บ่งบอกถึงโรคซึมเศร้าในนักศึกษา
การจะบ่งบอกได้ว่านักศึกษาคนไหนเป็นโรคซึมเศร้านั้นอาจจะเป็นเรื่องยาก เพราะสัญญาณของโรคซึมเศร้านั้นอาจจะแตกต่างกันออกไป ตั้งแต่อาการของโรคซึมเศร้าตามปกติ ไปจนถึงอาการเฉพาะตัวของนักศึกษา แต่เราสามารถสังเกตสัญญาณของโรคซึมเศร้าในนักศึกษาได้ดังนี้
- รู้สึกเศร้า สิ้นหวัง ว่างเปล่า
- ร้องไห้
- หงุดหงิด อารมณ์ร้าย
- ไม่อยากทำอะไร แม้กระทั่งงานอดิเรกหรือกีฬาที่ชอบ
- ไม่มีสมาธิ
- การนอนหลับผิดปกติ เช่น นอนมากเกินไป หรือนอนน้อยเกินไป
- รู้สึกไม่มีแรง อ่อนเพลีย
- ปลีกตัวออกจากคนอื่น
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง หรือบางคนอาจจะกินเยอะจนน้ำหนักขึ้น
- มีความกังวล กระวนกระวาย
- มีปัญหาเรื่องความจำ
- มีความคิดเรื่องฆ่าตัวตาย หรือพยายามฆ่าตัวตาย
- รู้สึกผิดและไร้ค่า
สิ่งที่ผู้ปกครองทำได้หากลูกมีอาการซึมเศร้า
การจะสังเกตว่าลูกมีอาการซึมเศร้าหรือไม่อาจจะเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะหากคุณไม่ได้อยู่กับลูก และบ่อยครั้งที่วัยรุ่นเหล่านี้มักจะไม่มาปรึกษาปัญหากับพ่อแม่ สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถทำได้ เพื่อช่วยให้ลูกรับมือกับโรคซึมเศร้าได้มีดังต่อไปนี้
พูดคุยรับฟังปัญหาของลูก คุณควรใช้เวลาในการรับฟังปัญหาของลูก ไม่รีบด่วนตัดสินใจ และพยายามให้คำปรึกษาที่ดี เพราะบ่อยครั้งที่พ่อแม่มักจะรีบตัดสินใจและไม่ยอมรับฟังปัญหาของลูก จนทำให้ลูกไม่ยอมมาปรึกษาอะไรด้วย กว่าพ่อแม่จะรู้ว่าเกิดปัญหา ก็อาจจะสายไปแล้ว
พาลูกไปรับการรักษา โรคซึมเศร้านั้นก็เป็นโรคชนิดหนึ่ง ควรรับการรักษาโรคผู้เชี่ยวชาญ เมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองรับรู้ว่าลูกของตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า ควรพาลูกไปรับการรักษากับผู้เชี่ยวชาญให้เร็วที่สุด
ให้การสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นการให้กำลังใจ คอยกระตุ้นให้พวกเขาทำกิจกรรมต่างๆ รับประทานอาหารที่เหมาะสม ออกกำลังกาย และใช้เวลากับงานอดิเรก หรือพูดคุยกับลูก จะช่วยให้ลูกสามารถรับมือกับโรคซึมเศร้าได้ดียิ่งขึ้น
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด