รีเซต

การใช้ยาปฏิชีวนะ มีอะไรบ้างที่คุณควรรู้ เพื่อการใช้ยาอย่างมีประสิทธิภาพ

การใช้ยาปฏิชีวนะ มีอะไรบ้างที่คุณควรรู้ เพื่อการใช้ยาอย่างมีประสิทธิภาพ
เฮลโลคุณหมอ
30 พฤศจิกายน 2563 ( 11:00 )
395
การใช้ยาปฏิชีวนะ มีอะไรบ้างที่คุณควรรู้ เพื่อการใช้ยาอย่างมีประสิทธิภาพ

เวลาร่างกายเกิดโรคจากการติดเชื้อ เช่น ไข้หวัดธรรมดา ไข้หวัดใหญ่ ผิวหนังติดเชื้อ ไม่ว่าใครก็คงอยากให้อาการเจ็บป่วยเหล่านั้นหายไปโดยเร็วที่สุด และวิธีรักษาโรคติดเชื้อที่คนเรามักนึกถึงเป็นอันดับแรกก็คือ การใช้ยาปฏิชีวนะ แต่คุณรู้ไหมว่า ยาปฏิชีวนะก็ไม่ได้ช่วยรักษาอาการติดเชื้อได้ทุกประเภท และหากใช้ผิดวิธี นอกจากจะไม่ทำให้อาการป่วยดีขึ้นแล้ว ยังอาจมีผลข้างเคียงตามมาด้วย Hello คุณหมอ เลยอยากให้คุณใช้ยาปฏิชีวนะให้ถูกวิธี เพื่อให้สามารถรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ส่งผลเสียต่อร่างกายของคุณด้วย

ยาปฏิชีวนะ คืออะไร

ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) เป็นยาที่ช่วยให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับการติดเชื้อแบคทีเรียได้ดีขึ้น ยาชนิดนี้ทำงานโดยการฆ่า หรือยับยั้งการแบ่งตัวของแบคทีเรียในร่างกาย

โดยปกติแล้ว เมื่อเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันของเราจะกำจัดเชื้อแบคทีเรียก่อนที่เชื้อจะแบ่งตัวและก่อให้เกิดโรค หรือต่อให้เกิดโรคจากการติดเชื้อแบคทีเรียแล้ว ระบบภูมิคุ้มกันของเราก็สามารถกำจัดเชื้อได้อยู่ดี แต่ในบ้างครั้ง หากปริมาณของเชื้อแบคทีเรียก่อโรคมีมากเกินกว่าที่ระบบภูมิคุ้มกันจะกำจัดไหว แพทย์ก็อาจจะต้องให้เราใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อช่วยให้ร่างกายกำจัดแบคทีเรียได้ดีขึ้น

ยาปฏิชีวนะชนิดแรกของโรคได้แก่ ยาเพนนิซิลิน (Penicillin) ซึ่งยังคงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

ยาปฏิชีวนะมีด้วยกันหลายรูปแบบ เช่น

  • ยาปฏิชีวนะสำหรับรับประทาน ที่มาในรูปแบบยาเม็ด ยาแคปซูล ยาน้ำ เป็นต้น
  • ยาปฏิชีวนะสำหรับใช้ภายนอก ที่อาจมาในรูปแบบครีม เจล ขี้ผึ้ง ยาป้าย ยาพ่น สำหรับใช้กับผิวหนัง หรือในบางครั้งอาจมาให้รูปแบบยาน้ำ เช่น ยาหยอดหู ยาหยอดตา
  • ยาปฏิชีวนะสำหรับฉีดหรือให้ทางหลอดเลือดดำ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะใช้กับการติดเชื้อขั้นรุนแรง

การใช้ยาปฏิชีวนะ รักษาโรคอะไรได้บ้าง

หลายคนอาจเข้าใจผิดว่า หากเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ ไม่ว่าจะโรคอะไร ก็สามารถรักษาด้วยยาปฏิชีวนะได้ แต่ความจริงแล้ว ยาปฏิชีวนะใช้รักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียได้เท่านั้น

ตัวอย่างการติดเชื้อแบคทีเรียที่นิยมรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ เช่น

  • โรคคอหอยอักเสบ (Strep Throat)
  • กลุ่มโรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
  • โรคผิวหนังติดเชื้อแบคทีเรีย
  • โรคไอกรน
  • โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย
  • โรคไตอักเสบ
  • โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
  • โรคปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย

คุณต้องจำไว้ให้ขึ้นใจว่า ยาปฏิชีวนะรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียได้เท่านั้น ไม่สามารถใช้รักษาการติดเชื้อไวรัสได้

ตัวอย่างการติดเชื้อไวรัส เช่น

  • ไข้หวัดธรรมดา
  • ไข้หวัดใหญ่
  • โรคหลอดลมอักเสบ
  • โรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบ
  • โรคเริม
  • โรคติดเชื้อเอชพีวี (Human Papilloma Virus หรือ HPV)
  • โรคอีสุกอีใส
  • โรคงูสวัด

ผลข้างเคียงจาก การใช้ยาปฏิชีวนะ

แม้ยาปฏิชีวนะจะช่วยรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียได้ แต่การใช้ยาปฏิชีวนะก็อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้เช่นกัน โดยความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาปฏิชีวนะจะยิ่งเพิ่มขึ้นหากคุณใช้ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน เนื่องจากยาปฏิชีวนะอาจไปทำให้แบคทีเรียในลำไส้เสียสมดุล

ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • คลื่นไส้
  • อาเจียน
  • ท้องเสีย
  • ท้องอืด หรืออาหารไม่ย่อย
  • ปวดท้อง
  • ไม่อยากอาหาร

ในบางกรณี อาจเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง ดังต่อไปนี้ได้ด้วย

  • การติดเชื้อคลอสตริเดียม ดิฟฟิไซล์ (Clostridium difficile infection; CDI) จนเกิดอาการท้องเสียฉับพลันที่นำไปสู่ภาวะลำไส้ถูกทำลายอย่างหนัก และอาจถึงแก่ชีวิตได้
  • ปฏิกิริยาภูมิแพ้ ที่บางครั้งอาจรุนแรงจนทำให้ถึงแก่ชีวิต

แบคทีเรียดื้อยา อันตรายจากการใช้ยาปฏิชีวนะแบบผิด ๆ

การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสม เช่น ใช้ยามากเกินไป ใช้ยาทั้ง ๆ ที่ไม่จำเป็น อาจก่อให้เกิดการดื้อยาปฏิชีวนะของแบคทีเรีย (Antibiotic Resistance) หรือที่เรียกว่า แบคทีเรียดื้อยา หรือ แบคทีเรียดื้อต่อยาปฏิชีวนะ คือ แบคทีเรียปรับตัวให้ทนทานต่อยาปฏิชีวนะได้ จนทำให้ยาปฏิชีวนะที่เคยรักษาโรคที่เกิดจากแบคทีเรียได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียหรือรักษาโรคได้อีกต่อไป

วิธีใช้ยาปฏิชีวนะอย่างปลอดภัย

วิธีการใช้ยาปฏิชีวนะดังต่อไปนี้ จะช่วยให้การรักษาโรคด้วยยาปฏิชีวนะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และลดความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้

  • ใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด อย่าใช้ยาบ่อยกว่า นานกว่า หรือใช้ในปริมาณที่เกินกว่าแพทย์กำหนด
  • ถึงแม้คุณจะรู้สึกว่าอาการดีขึ้นแล้ว ก็ต้องใช้ยาจนหมดตามที่แพทย์สั่ง ไม่อย่างนั้นการติดเชื้ออาจไม่หายขาด
  • อย่าแบ่งยาปฏิชีวนะของคุณให้ผู้อื่นใช้
  • อย่าใช้ยาปฏิชีวนะที่แพทย์สั่งจ่ายให้กับผู้อื่น
  • ใช้ยาปฏิชีวนะตามโรคที่แพทย์ระบุเท่านั้น อย่าใช้กับโรคอื่น
  • ห้ามเก็บยาปฏิชีวนะไว้ใช้ต่อเด็ดขาด หากไม่แน่ใจว่าควรกำจัดยาอย่างไร คุณสามารถสอบถามวิธีกำจัดยาปฏิชีวนะที่ถูกต้องจากเภสัชกรได้
  • หากคุณลืมกินยาตามเวลาที่กำหนด ควรรีบกินยาทันทีที่นึกได้ แต่หากใกล้ถึงเวลากินยาครั้งต่อไปแล้ว ให้กินยามื้อต่อไปตามขนาดยาที่กำหนดได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณหรือขนาดยา

หากคุณใช้ยาปฏิชีวนะตามแพทย์สั่งแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือแย่ลง หรือหากเกิดผลข้างเคียงใด ๆ แนะนำให้รีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน แพทย์จะได้ปรับยา หรือหาวิธีรักษาที่เหมาะสมที่สุดให้กับคุณได้

บทความที่เกี่ยวข้อง