รีเซต

5 ผื่นแพ้ในทารกที่พบได้บ่อย พร้อมบอกสาเหตุและการดูแล

5 ผื่นแพ้ในทารกที่พบได้บ่อย พร้อมบอกสาเหตุและการดูแล
Beau_Monde
14 กรกฎาคม 2564 ( 11:41 )
5.4K

     คุณแม่หลายท่านที่ลูกมีผื่นแพ้ อาจจะส่งสัยว่าเกิดจากสาเหตุอะไร และคุณแม่ควรจะต้องรับมืออย่างไรดี เพราะผื่นแพ้ในทารก ถือเป็นปัญหาที่ได้บ่อยค่ะ เนื่องจากว่าทารกนั้นมีผิวหนังที่บอบบาง และเกิดการระคายเคืองต่อสิ่งต่างๆ ได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศ น้ำลาย น้ำสบู่ แชมพูหรือสิ่งต่างๆ ที่สัมผัสกับผิวหนัง รวมถึงอาหารที่คุณแม่หรือลูกกินเข้าไปก็สามารถก่อให้เกิดผื่นได้เช่นกันค่ะ ซึ่งผื่นแพ้ในทารกนั้นก็มีหลายประเภท แต่ละประเภทก็มีสาเหตุการเกิดที่ต่างกันค่ะ วันนี้เรามารู้จักกับผืนแพ้ในทารกที่พบได้บ่อยๆ พร้อมกับวิธีรับมือเพื่อให้เราดูแลลูกน้อยได้ดีที่สุดค่ะ ผื่นแต่ละประเภทจะต้องดูแลอย่างไร ตามเรามาอ่านด้านล่างนี้ได้เลย

 

 

5 ผื่นแพ้ในทารกที่พบได้บ่อย

 

1. ผื่นแพ้ผิวหนัง

     ถือเป็นผื่นแพ้ที่พบได้บ่อย เกิดจากหลายปัจจัยด้วยกันค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการเกิดจากอากาศร้อน สภาพอากาศ การสัมผัสสิ่งของต่างๆ การสัมผัสสารเคมีในผลิตภัณฑ์ต่างๆ จะเป็นแชมพู สบู่ น้ำยาซักผ้า ไรฝุ่นในอากาศ รวมถึงอาหารที่คุณแม่รับประทานขณะที่น้องกินนมแม่ หรือการแพ้อาหารที่ลูกกินเองโดยตรง เช่น นมวัว อาหารทะเลเป็นต้น

 

  • ลักษณะของผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

     มีลักษณะเป็นตุ่มน้ำใสหรือตุ่มแดง ขึ้นบริเวณใบหน้าและแขนขา วิธีการรับมือนั้นคือคุณแม่ต้องหมั่นสังเกต ว่าลูกเกิดตุ่มช่วงไหนหรือว่าเกิดจากที่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรในชีวิตประจำวันหรือเปล่า เช่น เปลี่ยนน้ำยาซักผ้า เปลี่ยนแชมพู สบู่ หรือคุณแม่กินอาหารที่ไม่เคยกินเข้าไปหรือลูกกินอะไรเข้าไป นอกจากนี้คุณแม่ควรต้องดูแลผิวของลูกให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ และควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อผิว เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกผิวแห้งซึ่งจะทำให้เกิดผื่นคันได้ง่ายค่ะ หากว่าผื่นภูมิแพ้ผิวหนังของลูกไม่หาย หรือว่ามีอาการรุนแรง มีน้ำเหลืองเยิ้มที่อาจบ่งบอกได้ว่ามีการติดเชื้อ ให้คุณแม่พาลูกไปพบแพทย์โดยด่วนค่ะ

 

2. กลากน้ำนม

     กลากน้ำนม หรือ เกลื้อนน้ำนม ในบางครั้งก็เรียกว่า โรคด่างแดด ถือเป็นโรคผิดปกติทางผิวหนังที่เกิดจากการลดจำนวนของเม็ดสีที่ผิวหนังลงโดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้สีผิวบริเวณนั้นจางลงเป็นวงด่าง ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดที่แน่ชัด แต่อาจเกิดจากการแพ้แสงแดดหรือแพ้ลม น้ำเหลืองเสีย ภาวะขาดอาหาร หรือติดเชื้อแบคทีเรียได้ เป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อย ส่วนใหญ่มักพบในเด็กวัยตั้งแต่อายุประมาณ 3-16 ปี จะพบมากตรงบริเวณใบหน้า คาง แก้ม คอ ไหล่ และแขน

 

  • ลักษณะของกลากน้ำนม

     เป็นวงกลมหรือวงรี สีขาวหรือสีจางกว่าผิวหนังปกติ อาจมีขุยขาวๆ ติดอยู่ จะพบบ่อยบริเวณใบหน้า คอไหล่ และแขน กลากน้ำนมน้ำนมไม่เป็นอันตราย และจะหายไปได้เองเมื่อลูกโตขึ้น หรือผิวของลูกมีความชุ่มชื้นขึ้น คุณแม่ควรหมั่นทาดูแลผิวของลูกเพื่อไม่ให้เกิดการระคายเคืองเพิ่ม พร้อมกับหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดเป็นเวลานานๆ ค่ะ

 

3. ไขบนหัวทารก

     ในบางครั้งคุณแม่อาจสังเกตเห็นสะเก็ดขาวหรือสีเหลืองบริเวณหนังศีรษะของลูก ยิ่งโดยเฉพาะในช่วงอาบน้ำ เมื่อคุณแม่นำมือไปไปถูเบาๆ ไขหรือครบไขมันชนิดนี้ก็จะหลุดออก แต่พอทิ้งไว้สักระยะ ไขชนิดนี้ก็จะกลับมาเกิดขึ้นอีก

 

  • ลักษณะของไขบนหัวทารก

     มีลักษณะเป็นไขแผ่นบางๆ สีขาวหรือขาวหรือสีเหลือง ส่วนมากมักติดอยู่บนหนังศีรษะของเด็กทารกแรกเกิด และนอกจากจะติดบนศีรษะแล้วก็สามารถพบได้ตามหน้าผาก ท้ายทอย หู ข้างแก้ม ซึ่งคุณแม่ก็ไม่ต้องกังวลใจไปค่ะ เพราะว่าคราบไขมันนี้ไม่ทำอันตรายกับผิวของลูกแต่อย่างใด วิธีกำจัดก็เพียงแค่ให้คุณแม่ชะโลมเบบี้ออยล์หรือน้ำมันมะพร้าว ทิ้งไว้ 30 นาที - 1 ชั่วโมง แล้วจึงสระผมลูกค่ะ

 

4. ผื่นแพ้ผ้าอ้อม

     ผื่นแพ้ชนิดนี้เกิดจากการที่ผิวของลูกสัมผัสกับผ้าอ้อมแล้วเกิดการระคายเคือง ทั้งจากความชื้น ความเปียกแฉะ ปัสสาวะและอุจจาระของลูกค่ะ

 

  • ลักษณะของผื่นแพ้ผ้าอ้อม

     เป็นตุ่มหรือผื่นแดงบริเวณผิวหนังที่ถูกผ้าอ้อม เช่น ต้นขา ด้านในขาหนีบ อวัยวะเพศหรือก้น โดยจะเริ่มมีลักษณะเป็นปื้นแดง เมื่อคุณแม่สังเกตเห็น ก็ให้ใช้วาสลีน ขี้ผึ้งหรือครีมทาสำหรับผื่นแพ้ผ้าอ้อม ทาเคลือบผิวของลูกไว้ เพื่อลดการระคายเคือง รวมถึงต้องเปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อยๆ อย่าปล่อยให้เปียกและอับชื้นค่ะ ผื่นชนิดนี้หากไม่รีบดูแลให้ดี อาจจะทำให้อาการรุนแรงมากขึ้นได้ค่ะ 

 

5. ผื่นแพ้นมวัว

     ส่วนมากมักเกิดกับเด็กที่รับนมผสมหรืออาหารอื่นๆ ที่ต่างจากนมแม่ อาจเสี่ยงต่อการเกิดการแพ้อาหาร โดยเฉพาะเด็กวัย 4-6 เดือนแรกที่เยื่อบุทางเดินอาหาร ระบบภูมิคุ้มกัน และระบบน้ำย่อยต่างๆ ยังไม่แข็งแรง ประกอบกับความเสี่ยงทางพันธุกรรม ประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว เป็นเหตุให้เด็กเล็กๆ เกิดอาการแพ้โปรตีนนมวัวได้ง่าย 

 

  • ลักษณะของผื่นแพ้นมวัว

     ลูกจะเป็นผื่นแดง ผื่นแบบเรื้อรังหรือในบางครั้งจะมีการอักเสบที่รุนแรง มีอาการถ่ายเป็นมูกเลือด ถ่ายเป็นเลือด น้ำหนักขึ้นช้าหรือมีอาการหายใจครืดคราด เมื่อสงสัยว่าลูกแพ้นมวัว คุณแม่ควรรีบพาลูกไปตรวจวินิจฉัยกับคุณหมอ โดยคุณหมออาจจะแนะนำให้เปลี่ยนสูตรนม หรือให้คุณแม่งดผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมวัวค่ะ

 

 

อ้างอิง

 

 

บทความที่คุณอาจสนใจ

 

ยอดนิยมในตอนนี้

สิทธิประโยชน์แนะนำ

แท็กยอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง