โรคมือเท้าปาก ป้องกันและรักษาอย่างไร ในหน้าฝน คุณแม่รู้ไว้ลูกน้อยไกลโรค
โรคระบาดในหน้าฝนที่เกิดบ่อยเป็นอันดับต้นๆ ก็คือ โรคมือเท้าปาก โดยเฉพาะกับเด็กๆ นั้นจะต้องระวังมากเป็นพิเศษค่ะ คุณพ่อคุณแม่จะต้องสังเกตอาการอะไรบ้าง และเมื่อลูกเป็นโรคมือเท้าปากแล้ว จะต้องรักษาอย่างไรให้หายไว มีวิธีป้องกันแบบไหนที่จะช่วยไม่ให้เป็นซ้ำอีก เรามีข้อมูลดีๆ มาฝากคุณพ่อคุณแม่กันค่า
โรคมือเท้าปาก คืออะไร สาเหตุเกิดจากอะไร
โรคมือเท้าปาก คือโรคติดต่อที่มักระบาดมากในช่วงฤดูฝน พบบ่อยในเด็กโดยเฉพาะเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเตอโรไวรัส (enteroviruses) ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ ติดต่อกันได้ผ่านการรับเชื้อไวรัสจากทางเดินอาหาร น้ำมูก น้ำลาย และจากการหายใจเอาเชื้อไวรัสเข้าไป ส่วนใหญ่จะหายได้ภายใน 7-10 วัน และอาการไม่รุนแรง แต่หากเป็นเชื้อเอนเตอโรไวรัส 71 หรือ EV71 อาจมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้
โรคมือเท้าปาก อาการเริ่มต้นมีอะไรบ้าง กี่วันหาย
โรคมือเท้าปาก มีระยะฟักตัวประมาณ 3-7 วันหลังได้รับเชื้อ จากนั้นจะมีอาการต่างๆ ที่คุณพ่อคุณแม่เริ่มสังเกตได้ ดังนี้ค่ะ
อาการทั่วไป
- มีไข้ อ่อนเพลีย ซึม
- เจ็บคอ
- มีตุ่มหรือแผลในปากและบริเวณรอบปาก
- มีตุ่ม ผื่น หรือแผลอักเสบมีหนองที่ผิวหนัง ฝ่ามือ และฝ่าเท้า
อาการแทรกซ้อน หรืออาการรุนแรง กรณีติดเชื้อ EV71
- มีไข้สูง ซึมมาก
- อ่อนแรง มือสั่น เดินเซ
- ปวดศีรษะมาก
- ปวดต้นคอ คอแข็ง
- อาเจียนมาก
- หายใจหอบ ไอ
- กล้ามเนื้อกระตุก และชัก
* หากพบว่ามีอาการรุนแรงควรพาไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพราะอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ค่ะ
โรคมือเท้าปาก รักษาอย่างไร
ในปัจจุบัน โรคมือเท้าปากยังไม่มียารักษาจำเพาะ แพทย์จึงเน้นรักษาตามอาการดังนี้ค่ะ
- อาการไข้และอาการเจ็บแผล รักษาด้วยการรับประทานกลุ่มยาแก้ปวดลดไข้
- อาการแผลในปาก รักษาด้วยการใช้น้ำเกลืออุ่นๆ บ้วนปากบ่อยๆ (เฉพาะเด็กที่โตพอจะบ้านน้ำเกลือทิ้งได้โดยไม่กลืนลงไป)
- อาการอ่อนเพลีย ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ โดยอาจจะดื่มทุกครึ่งชั่วโมง หรือบ่อยกว่านั้น เพื่อป้องกันอาการขาดน้ำ
- อาการเจ็บคอ ทานอาหารลำบาก แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะในกรณีที่จำเป็น เพิ่มเติมด้วยการเลือกทานอาหารนิ่มๆ กลืนง่าย ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก ซุป มันบด โยเกิร์ต หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ร้อนจัด และอาหารเคี้ยวยาก
- อาการคัน หากมีอาการคันมากๆ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาแก้แพ้เพิ่มเติม
โรคมือเท้าปาก ป้องกันอย่างไร
ถึงแม้โรคนี้มักไม่รุนแรงและหายเองได้ แต่เมื่อเป็นแล้วก็ทำให้ลูกน้อยรู้สึกไม่สบายตัว ร้องไห้โยเย ทำให้คุณพ่อคุณแม่กังวลไปตามๆ กัน ดังนั้นการป้องกันย่อมเป็นสิ่งที่ดีที่สุดค่ะ ลองมาดูกันนะคะว่าเราจะป้องกันโรคมือเท้าปากได้อย่างไรบ้าง
- สวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกจากบ้าน
- สอนให้เด็กๆ หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ หรือด้วยเจลแอลกอฮอล์เมื่อไม่มีน้ำ
- หมั่นทำความสะอาดของเล่น ของใช้ ที่ต้องสัมผัสบ่อยๆ
- หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น จาน ชาม ช้อน แก้วน้ำ
- ดื่มน้ำสะอาด ทานอาหารที่สุก สะอาด ปรุงสดใหม่
- หลีกเลี่ยงการพาลูกไปสถานที่แออัดในช่วงที่โรคระบาดเยอะ เช่น ฤดูฝน
- หากป่วยเป็นโรคมือเท้าปากหรือมีความเสี่ยงว่าจะเป็น ควรให้หยุดเรียน และแยกออกจากเด็กที่ไม่มีอาการ เพื่อยับยั้งการแพร่เชื่อ
บทความที่คุณพ่อคุณแม่อาจสนใจ
- 5 ผื่นแพ้ในทารกที่พบได้บ่อย พร้อมบอกสาเหตุและการดูแล
- 7 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเด็กแรกเกิด รับรอง! ว่าที่คุณพ่อคุณแม่รู้แล้วจะอึ้ง
- รวม 6 ยาสามัญประจำบ้านที่ควรมี สำหรับลูกน้อย