รวมเอกสารแจ้งเกิดและวิธีการแจ้งเกิดลูก 2564 ... แจ้งเกิดช้า โดนปรับนะ !!
ใกล้เวลาที่จะคลอดลูก คุณแม่คุณพ่อหลายคู่คงจะหัวหมุน เพราะต้องเตรียมข้าวของเครื่องใช้เพื่อไปนอนค้างที่โรงพยาบาล ไหนจะเรื่องเสื้อผ้าของตัวเอง ไหนจะเสื้อผ้าของลูก ยังไม่นับเรื่องเอกสารต่างๆ ที่จะต้องเตรียมให้พร้อม แต่หลังจากที่ลูกคลอดออกมาแล้ว ยังต้องมีขั้นตอนเรื่องของการแจ้งเกิดด้วย
ซึ่งในขั้นตอนนี้ทั้งคุณแม่และพ่อมือใหม่ต่างก็มีคำถามกันมากมาย ทั้งเอกสารที่ต้องใช้มีอะไรบ้าง ไปแจ้งเกิดที่ไหน ใครต้องเป็นคนไปคุณแม่หรือคุณพ่อ และต้องไปตอนไหน ช้าสุดได้กี่วัน ก่อนที่จะปล่อยให้เป็นปัญหาโลกแตก วันนี้เรามีคำตอบมาให้แล้วว่าต้องทำอย่างไรบ้าง ทั้งเอกสารที่ต้องเตรียมรวมถึงขั้นตอนต่างๆ ในการแจ้งเกิดลูก อย่ารอช้า ไปดูกันเลยค่ะ
เอกสารที่ต้องเตรียมในการแจ้งเกิด 2564
1 บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่ไปแจ้ง
2 หนังสือรับรองการเกิด ท.ร. ๑/๑ โดยทางโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่เด็กเกิดออกให้
3 ใบรับแจ้งการเกิดตามแบบ ท.ร.๑ ตอนหน้า กรณีแจ้งเกิดกับกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน
4 สำเนาทะเบียนบ้าน หรือสำเนาทะเบียนประวัติของบิดา มารดา (ถ้ามี)
5 สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่จะเพิ่มชื่อเด็กที่เกิด
ขั้นตอนในการแจ้งเกิด 2564
1 กรณีคลอดที่โรงพยาบาล สถานีอนามัย สถานพยาบาล
- ขั้นตอนที่1 : รับหนังสือรับรองการเกิด (ท.ร. ๑/๑)
สำหรับคุณแม่ที่คลอดลูกที่โรงพยาบาล สถานีอนามัยหรือสถานพยาบาลต่างๆ คุณแม่จะได้รับเอกสาร ท.ร. ๑/๑ ซึ่งถือเป็นเอกสารหลักฐานเพื่อนำไปใช้ในการแจ้งเกิดที่เทศบาลหรืออำเภอ
- ขั้นตอนที่2 : ยื่นเอกสาร
หลังจากที่โรงพยาบาลได้ออกหนังสือ ท.ร. ๑/๑ แล้ว ให้คุณพ่อหรือคุณแม่นำเอกสารฉบับนี้ไปยื่นที่เทศบาลหรืออำเภอได้เลยค่ะ
- ขั้นตอนที่3 : แจ้งเกิดภายใน 15 วัน
คุณพ่อหรือคุณแม่จำเป็นจะต้องแจ้งเกิดลูกภายใน 15 วัน โดยนับตั้งแต่วันที่คลอดค่ะ
- ขั้นตอนที่ 4 : สถานที่แจ้งเกิด
ถ้าสถานที่คลอดตั้งอยู่ในเขตเทศบาล ให้แจ้งที่เขตนั้นได้เลย แต่ถ้าอยู่นอกเขตเทศบาลให้ไปแจ้งเกิดที่ว่าการอำเภอ แผนกสำนักงานทะเบียนที่ตั้งอยู่ในเขตท้องที่นั้นค่ะ
2 กรณีคลอดนอกสถานพยาบาล
- ขั้นตอน1 : ถ้าคลอดที่บ้าน
คนที่ต้องไปแจ้งเกิดคือผู้ที่มีชื่อเป็นเจ้าบ้าน หรือจะเป็นคุณพ่อคุณแม่ก็ได้เช่นกันค่ะ
- ขั้นตอนที่2 : แจ้งผู้ใหญ่บ้าน
ถ้าอยู่ในท้องที่ว่าการอำเภอ ให้แจ้งผู้ใหญ่บ้านก่อน เพื่อที่ทางผู้ใหญ่บ้านจะได้ออกเอกสารใบรับรองการแจ้งเกิด (ท.ร.๑ ตอนหน้า) ให้กับคุณพ่อคุณแม่ค่ะ และเมื่อคุณพ่อคุณแม่ได้เอกสารจากทางผู้ใหญ่บ้านเรียบร้อยแล้ว ก็ให้ไปแจ้งเกิดที่ที่ว่าการอำเภอได้เลย
- ขั้นตอนที่3 : แจ้งที่เทศบาล
ถ้าบ้านที่คลอดอยู่ในท้องที่ของเขตเทศบาล ให้คุณพ่อหรือคุณแม่ไปแจ้งเกิดที่งานทะเบียนในเขตเทศบาลที่คลอดได้เลยค่ะ
- ขั้นตอนที่4 : แจ้งเกิดภายใน 15 วัน
เช่นเดียวกับการคลอดที่โรงพยาบาล คุณพ่อหรือคุณแม่จะต้องรีบไปแจ้งเกิดลูกภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่คลอดค่ะ
คุณพ่อและคุณแม่ควรรีบไปแจ้งเกิดให้เร็วที่สุดหลังจากที่คลอด เพื่อไม่ได้เกิดความคลาดเคลื่อน รวมถึงการไปแจ้งเกิดช้า จะต้องถูกปรับเงินอีกด้วยค่ะ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรจะต้องเตรียมเอกสารที่จำเป็นไว้เสียแต่เนิ่นๆ จะได้ไม่วุ่นวายเมื่อเวลาใกล้เข้ามาค่ะ
บทความที่คุณอาจสนใจ
- ราคาแพ็กเกจคลอดบุตร 2564 เหมาจ่าย 30 รพ.เอกชน กรุงเทพฯ คลอดปกติและผ่าตัด
- เช็คลิสต์ !! สิ่งของที่คุณแม่มือใหม่ควรเตรียมไว้ สำหรับวันไปคลอดลูก