10 คำแม่สอน สร้างแรงบันดาลใจในการทำงานและการใช้ชีวิต
เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๙ Women Society จึงขออัญเชิญคำสอนที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการทำงาน จากพระราโชวาทและพระราชดำรัสในโอกาสต่าง ๆ เพื่อให้ทุกคนได้นำมาเป็นข้อคิดในการทำงานและการดำเนินชีวิตกันค่ะ
1. คนที่มองว่าตัวเองฉลาดอยู่เสมอ ไม่รู้จักถ่อมตน มักเอาตัวไม่รอด
“…ผู้สำคัญตนว่ามีความฉลาดสามารถเป็นเลิศอยู่เสมอนั้น มักพาตัวไม่รอด เพราะความสำคัญตนเช่นนั้น จะปิดบังโอกาสที่จะขวนขวาย หรือได้มาซึ่งปัญญาที่สูงขึ้นไป ตัวอย่างก็มีปรากฏในประวัติการณ์ของโลกมาแล้วมากมาย ที่ผู้มีปัญญาความสามารถและอำนาจต้องพ่ายแพ้ล่มจมไป…”
พระราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตและนักศึกษามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ๒๔ มีนาคม ๒๕๑๘
2. ผลประโยชน์ส่วนรวม สำคัญกว่าประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง
“…คำว่า มนุษย์ นั้นต่างกับ คน อยู่มาก คือ คน หมาย ความว่าเป็นสัตว์โลกประเภทหนึ่ง แต่ มนุษย์ หมายถึงคนที่มีจิตใจสูง คือมีอุดมคติ เป็นสุภาพชน ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ ทำงานเพื่อประโยชน์ของสังคม มีความรักที่กว้างขวาง คือรักผลประโยชน์ส่วนรวม ไม่รักแต่ผลประโยชน์ของตนและพวกพ้อง…”
พระราโชวาท ในพิธีพระราชทานกระบี่แก่ว่าที่ร้อยตำรวจตรีที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ๘ เมษายน ๒๕๑๘
3. การทำงานใดๆ ก็ตาม ต้องประกอบด้วยความสุจริต รอบคอบ และมีสติ
“…ต้องตั้งใจพยายามนำเอาความวิทยาการไปใช้ในการปฏิบัติบริหารงานให้เกิดประโยชน์เต็มที่ พร้อมทั้งระมัดระวังที่จะตั้งตัวตั้งใจให้แน่วแน่อยู่ในความสุจริตเที่ยงธรรม ในความฉลาดรอบคอบ ประกอบด้วยสติที่มั่นคงอยู่ตลอดเวลา เพื่อป้องกันมิให้ปฏิบัติการของแต่ละคน คลาดเคลื่อนจากเป้าหมายอันสุงส่งที่ตั้งไว้…”
พระราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยการทัพบก วิทยาลัยการทัพเรือ วิทยาลัยการทัพอากาศ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๒๕
4. การทำตามหน้าที่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่บางครั้งการทำนอกเหนือหน้าที่ก็เป็นสิ่งที่ควรทำ
“…การดำเนินปฏิบัติงานตามหน้าที่ให้ดีที่สุดนั้นเป็นการถูกต้อง แต่ถ้ามีงานอื่นนอกหน้าที่ที่สมควรจะทำด้วย ก็ต้องทำ จะนึกว่าไม่ใช่ธุระ ไม่ใช่หน้าที่นั้น ไม่สมควรอย่างยิ่ง ทุกคนทุกฝ่ายชอบที่จะบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ทั้งโดยหน้าที่ และโดยความรู้จักรับผิดชอบต่อส่วนรวมและประเทศชาติ ตามโอกาสและความเหมาะสม ไม่ควรเกี่ยงงอนกันเป็นอันขาด…”
พระราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตและนักศึกษามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ๓๑ มีนาคม ๒๕๑๘
5. ปัญหาใดๆ ย่อมแก้ไขได้ด้วยความสามัคคี
“….ในการรวมตัวกันเพื่อทำงานต่างๆ นั้นย่อมจะมีปัญหาเกิดขึ้นบ้าง แต่ปัญหาใดๆ ก็ย่อมขจัดเสียได้โดยอาศัยความสามัคคีเป็นคุณธรรมที่จะร้อยรัดให้ทุกคนเป็น น้ำหนึ่งใจเดียวกัน ขอเพียงให้แต่ละคนไม่ยึดถือ อัตตา คือ ตัวตนของผู้หนึ่งผู้ใดเป็นส่วนใหญ่เท่านั้น…”
พระราชดำรัสในพิธีเปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำปีสภาสตรีแห่งชาติฯ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๓๐
6. ไม่ว่าจะงานอะไรย่อมมีความสำคัญ จงภูมิใจในงานของตน
“….คนเรานี่การเกิดแก่เจ็บตาย เป็นธรรมดาของสัตว์โลกถ้วนหน้า แต่ว่าชีวิตนี่เกิดมาทั้งทีให้ใช้ชีวิตให้ดีที่สุด หมายความถึงเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นที่สุด และก็มีความกล้าหาญที่จะทำงานทุกอย่างอย่างภาคภูมิใจไม่สนใจกับคำติฉินนินทาใด ๆ…”
พระราโชวาท ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๒ พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๔๗
7. เราควรรับฟังความคิดของผู้อื่น แม้ว่านั่นจะขัดกับความคิดของเราก็ตาม
“…ศาสนาพุทธสอนเราไม่ให้เบียดเบียนผู้อื่น แต่ให้มีความเมตตากรุณา ฉะนั้น เราควรเห็นอกเห็นใจ อดทนต่อความนึกคิดของผู้อื่น แม้ว่าจะขัดต่อความนึกคิดของเราก็ตาม ไม่ยึดแต่ความคิดของตนเองเป็นที่ตั้ง กระทำตนให้เป็นผู้ที่มีความคิดแตกฉาน ดังที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ว่า ให้อยู่อย่างฉลาด ด้วยปัญญา…”
พระราชดำรัส ในพิธีเปิดการประชุมใหญ่ของสถาบันแม่ชีไทย ณ ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย ๖ เมษายน ๒๕๑๕
8. การสร้างความสุขให้ตนเอง แต่กลับสร้างความเดือนร้อนให้ผู้อื่น เป็นสิ่งไม่ควรทำ
“…ในโลกปัจจุบัน เราจะมีความสุขแต่ลำพังโดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของคนอีกหลายคนที่แวดล้อมเราอยู่นั้นไม่ได้ ผู้มีความเมตตาจิตหวังประโยชน์ส่วนรวม ย่อมรู้จักแบ่งปันความสุขเพื่อผู้อื่นและพร้อมที่จะช่วยบรรเทาความทุกข์ของผู้อื่น ตามกำลงและโอกาสเสมอ…”
พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะกรรมการอาสาสมัคร สภาสังคมสงเคราะห์ฯ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ๒ มีนาคม ๒๕๑๐
9. ความสุขที่ยั่งยืน คือการให้
“…มนุษย์เรานี้ควรจะมีการให้ต่อกันบ้าง อย่างน้อยก็ให้เวลาสดับตรับฟังความทุกข์ของผู้อื่น ไม่ใช่จะงกๆ เงิ่นๆ ละโมภหาแต่ความสุข กอบโกยหาโชคลาภสู่ตนเองโดยไม่นึกถึงผู้อื่น เมื่อเราไม่ยื่นมือเข้าช่วยเหลือซึ่งกันและกันแล้ว เราจะมีความสุขยั่งยืนได้อย่างไร…”
พระราชดำรัส ในพิธีพระราชทานเข็มที่ระลึกแก่ผู้บริจาคโลหิตให้สภากาชาดไทย
ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร ๒๐ กันยายน ๒๕๑๖
10. ความดี เป็นสิ่งที่น่าสะสมมากกว่าทรัพย์สินเงินทอง เพราะความดีไม่เคยสร้างอันตรายให้ใคร
“…ปัจจุบันเรามีสิ่งล่อใจมากทางด้านวัตถุ มีสิ่งที่บำรุงบำเรอความสุขที่จะสรรหามาได้ทุกเมื่อ จนกระทั่งขาดความสำนึกที่ว่า คนเรายิ่งได้ดีมั่งมีสุขสมบูรณ์ ก็ยิ่งสมควรจะต้องสะสมความดียิ่งขึ้น ไม่ใช่สะสมแต่ทรัพย์สมบัติ จนคิดแต่จะแก่งแย่งกัน กลายเป็นยุคที่ร้อนระอุเป็นอันตรายต่อเสรีภาพของบ้านเมือง…”
พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย ๑๐ สิงหาคม ๒๕๒๗
บทความที่คุณอาจสนใจ
10 เพลงซึ้ง นึกถึงแม่ ฟังทีไร น้ำตาไหลทุกที! update 2017
7 พระบรมราโชวาท ที่คนวัยทำงานควรนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตทำงาน
เรียบเรียงข้อมูลโดยทีมงาน women.trueid.net
LINE |
TrueID Application |