รีเซต

7 วิธีทำให้ลูกหลับง่าย หลับสบายนอนยาวตลอดคืน

7 วิธีทำให้ลูกหลับง่าย หลับสบายนอนยาวตลอดคืน
PookieChan
21 มีนาคม 2566 ( 15:05 )
668

       สำหรับเด็กๆ การนอนหลับสนิทสำคัญมากต่อการพัฒนาสมองค่ะ เรามี 7 วิธีทำให้ลูกหลับง่าย หลับสบายนอนยาวตลอดคืน มาเป็นตัวช่วยให้คุณแม่กล่อมลูกน้อยหลับง่ายขึ้น แถมยังหลับสนิทยาวๆ ไม่ตื่นไวอีกด้วยค่ะ เพราะเด็กๆ แต่ละช่วงวัยจะมีวงจรการนอนหลับที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ หากคุณแม่รู้เคล็ดลับเหล่านี้ ก็จะช่วยให้เซลล์สมองของลูกน้อยพัฒนาได้อย่างเต็มที่ มีพัฒนาการสมวัย และยังอารมณ์ดีอีกด้วยนะคะ จะมีวิธีไหนบ้างมาติดตามกันเลยค่า

 

 

ทำความรู้จัก วงจรการนอนหลับของเด็ก เด็กควรนอนกี่ชั่วโมงต่อวัน

       วงจรการนอนหลับของเด็กทารกแตกต่างจากวงจรการนอนของผู้ใหญ่ รวมไปถึงระยะเวลาการนอนต่อวัน โดยวงจรการนอนหลับจะประกอบด้วย 2 ช่วงหลักๆ คือ


>>> คลิก รวมส่วนลด กิจกรรมช่วงปิดเทอมใหญ่ สำหรับลูกค้าทรู คลิกที่นี่เลย <<<

 

1. การนอนหลับช่วง non-REM

     การนอนหลับช่วง non-REM แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ

  • ระยะที่ 1: เริ่มเข้าสู่การนอนหลับ ทารกจะนอนหลับเพียงไม่กี่นาที และสามารถตื่นง่าย
  • ระยะที่ 2: การนอนหลับตื้น ชีพจรจะเต้นช้าลง อุณหภูมิร่างกายลดลง เตรียมเข้าสู่การนอนหลับลึก
  • ระยะที่ 3: การนอนหลับลึก ช่วงนี้เป็นช่วงที่เด็กทารกนอนหลับลึกที่สุด ตื่นยาก หากปลุกให้ตื่นช่วงนี้จะรู้สึกงัวเงีย

2. การนอนหลับช่วง REM

      การนอนระยะนี้จะเกิดขึ้นประมาณ​ 90 นาที หลังจากที่เรานอนหลับแล้ว เมื่อร่างกายเข้าสู่โหมด REM Sleep ชีพจรและการหายใจจะเร็วขึ้น และสมองจะทำงานมากใกล้เคียงกับช่วงที่ตื่น การฝันต่างๆ จะเกิดในช่วงนี้

  • เด็กทารกจะใช้เวลาในโหมด REM Sleep 50% ของการนอนหลับทั้งหมด
  • ผู้ใหญ่ใช้เวลาใช้เวลาในโหมด REM Sleep 20% ของการนอนหลับทั้งหมด

      ด้วยความที่เด็กทารกใช้เวลาในช่วง REM มาก จึงมีความสำคัญมากในการพัฒนาสมองและการเติบโตของร่างกาย ก่อนที่จะเริ่มใช้เวลาลดลงเมื่อโตขึ้น การเข้าใจวงจรการนอนหลับแต่ละช่วงวัยจึงสำคัญมากทีเดียวค่ะ 

 

ตารางการนอนหลับของเด็กแต่ละช่วงวัย ควรนอนกี่ชั่วโมงดีนะ

 

อายุชั่วโมงการนอน
แรกเกิด - 1 เดือน14-18 ชั่วโมง
1-4 เดือน14-16 ชั่วโมง
4-12 เดือน12-16 ชั่วโมง
1-2 ปี11-14 ชั่วโมง

 

7 วิธีทำให้ลูกหลับง่าย หลับสบายนอนยาวตลอดคืน

 

1. สร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้หลับง่าย

      บรรยากาศที่มีความเย็นสบาย มืด และเงียบ รวมไปถึงเครื่องนอนที่นุ่มพอดี และชุดนอนที่ใส่สบาย จะช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกผ่อนคลาย สบายตัว และหลับสนิทได้นานขึ้น ดังนั้นการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการนอนไว้เป็นกิจลักษณะก็จะช่วยทุ่นแรงคุณแม่ได้มากๆ เลยล่ะค่ะ

2. สร้างกิจวัตรในการนอน

       การทำอะไรเป็นกิจวัตรซ้ำๆ ทุกวันก่อนนอน เช่น การอาบน้ำ นวด อ่านหนังสือนิทาน หรือร้องเพลงก่อนนอน กิจวัตรเหล่านี้จะช่วยสื่อความหมายว่าถึงเวลานอนแล้ว และทำให้ลูกเรียนรู้ที่จะนอนหลับเป็นเวลาอย่างเป็นธรรมชาติ

3.  ห่อตัวให้อบอุ่นเหมือนอยู่ในท้องแม่

        การห่อตัวโดยเฉพาะเด็กทารกแรกเกิดก่อนที่จะเริ่มพลิกตัว จะช่วยให้เด็กรู้สึกปลอดภัยและสบายใจ เหมือนเมื่ออยู่ในครรภ์คุณแม่ และหลับได้สนิทขึ้นไม่ผวาตื่นง่าย

4. เน้นทำกิจกรรมในช่วงกลางวัน

        ลองพาลูกทำกิจกรรมช่วงกลางวันมากขึ้นในช่วงที่แดดไม่แรงเกินไป นอกจากจะได้วิตามินดีแล้ว ยังช่วยให้ลูกแยกแยะกลางวันกับกลางคืนได้ดีขึ้นด้วย

5.  วางลงบนที่นอนเมื่อเริ่มง่วงแต่ยังไม่หลับ

       เมื่อสังเกตเห็นว่าลูกเริ่มส่งสัญญาณง่วงนอนออกมา เช่น บิดตัว ขยี้ตา หาว ให้วางลูกลงบนที่นอนได้เลย เพื่อให้ลูกคุ้นเคยกับการนอนหลับได้เองอย่างอิสระและผ่อนคลาย จะช่วยให้ลูกหลับได้ง่ายขึ้นในครั้งต่อๆ ไปค่ะ

6.  ไม่คุยหรือเล่นในระหว่างให้นมรอบดึก

       ในระหว่างป้อนนมรอบดึก ควรทำให้ห้องมืด และหลีกเลี่ยงการพูดคุยหรือเล่นกับลูกในช่วงนี้ เพื่อไม่ให้ลูกตื่นตัวมากเกินไป จะช่วยให้ลูกเรียนรู้ว่ากลางคืนคือเวลาสำหรับการนอนหลับ และหลับได้ยาวขึ้นค่ะ

7.  อดทนและยืดหยุ่น:

       เด็กๆ โดยเฉพาะทารกแรกเกิดนั้นยังมีมีรูปแบบการนอนที่ไม่คงที่และต้องใช้เวลาในการปรับตัว แต่ละวันนั้นอาจแตกต่างกันไปไม่ซ้ำกันเลย ความอดทนและความยืดหยุ่นจึงมีความสำคัญมากๆ ค่ะ ลองทำใจให้สบาย ไม่ยึดติดกับรูปแบบมากเกินไป และใช้เวลาในการปรับตัวเข้าหากัน ค่อยๆ เรียนรู้ธรรมชาติของลูกไปในแต่ละวัน ก็จะช่วยให้คุณแม่เจอวิธีที่ดีที่สุดและไม่เครียดค่ะ

 

บทความที่คุณอาจสนใจ

ยอดนิยมในตอนนี้

สิทธิประโยชน์แนะนำ

แท็กยอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง