5 เทคนิค ลดความตื่นเต้นเมื่อต้องพูดในที่สาธารณะ สร้างความมั่นใจ ลดประหม่า
ปวดท้อง มีเหงื่อออกที่ฝ่ามือ หรือแม้แต่การคิดคำพูดเปิดงานไม่ออก บางคนเมื่อถึงเวลาต้องพูดในที่สาธารณะก็มีอาการตื่นตระหนกหรือในการนำเสนองาน การนำเสนองานต่อหัวหน้าหรือแม้แต่สมาชิกในทีมอาจเป็นเรื่องปกติสำหรับบางคน แต่หลายคนถึงแม้จำเป็นที่จะต้องใช้ทักษะการพูดในที่สาธารณะเป็นประจำแต่ก็ยังรู้สึกประหม่าทุกที วันนี้เรามีเทคนิคบางอย่างเพื่อช่วยจัดการกับความเครียด ช่วยลดความตื่นเต้น เพื่อที่คุณจะได้มีสมาธิกับการนำเสนอที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
5 เทคนิคลดความตื่นเต้นเมื่อต้องพูดในที่สาธารณะ
1. รู้จักกลุ่มเป้าหมายหรือผู้ฟัง
คุณคงไม่อยากให้เนื้อหาการนำเสนอที่ตั้งใจเตรียมมาเป็นเรื่องไร้สาระสำหรับผู้ฟัง ดังนั้นก่อนที่จะเตรียมเนื้อหา ลองกำหนดกลุ่มเป้าหมายเสียก่อน คุณอาจลองเดาดูว่ากลุ่มผู้ฟังคาดหวังอะไรจากการนำเสนอของคุณ เช่น หากกลุ่มผู้ฟังเป็นหัวหน้างานหรือเจ้าของบริษัท กลุ่มคนเหล่านี้ต้องการฟังเนื้อหาแบบใด และหากกลุ่มผู้ฟังของคนเป็นนักศึกษาหรือนักเรียน เนื้อหาที่คุณควรจะเตรียมควรเป็นแบบใด และเช่นเดียวกันว่าท่าทีหรือบุคลิกของคุณในการนำเสนองานนั้นควรเป็นแบบใด
2. รู้จักโครงสร้างในการนำเสนอ
เทคนิคทั่วไปในการพยายามสงบสติอารมณ์คือการท่องจำสิ่งที่คุณตั้งใจจะพูด แต่การทำเช่นนั้นอาจจะทำให้การพูดของคุณฟังดูเหมือนมาจากหุ่นยนต์ หากคุณพลาดคำหรือนึกคำไม่ออก การนำเสนอของคุณทั้งหมดก็จะเสียอรรถรส และความกังวลของคุณก็จะยิ่งรุนแรงขึ้น ดังนั้น คงจะดีกว่ามากหากคุณหันไปทำความเข้าใจโครงสร้างในการนำเสนอเพื่อให้แม่นยำในเนื้อหาหรือสิ่งที่จะพูดต่อไป เช่น คุณอาจจะจดโน็ตสั้นๆ เพื่อเตือนตัวเองให้รับรู้ว่าไสลด์ในแต่ละหน้านั้นมีเนื้อหาหลักๆ คืออะไร แนวทางนี้จะช่วยให้คุณควบคุมความไม่แน่นอนของตนเองว่าคุณจะจำคำพูดในการนำเสนอได้หรือไม่ แต่เอาความสนใจไปที่ลำดับของเนื้อหาที่จะพูดมากกว่า
3. ฝึกฝน ฝึกฝน ฝึกฝน
แม้ว่าเราจะบอกให้คุณหลีกเลี่ยงการท่องจำการนำเสนอ แต่การทำความคุ้นเคยกับวิธีในการนำเสนอจะช่วยทำให้เกิดความมั่นใจได้มากกว่า ซึ่งการฝึกฝนจะช่วยให้คุณพูดได้อย่างเป็นธรรมชาติ และอาจเป็นไปได้ว่าคำพูดแต่ละคำจะออกมาจากใจและความคิดมากกว่าที่จะมาจากการท่องจำ ซึ่งสิ่งที่คุณต้องทำเมื่อซ้อมพูดก็คือ พยายามเรียนรู้ลำดับของเนื้อหาในการนำเสนอ หากคุณรู้สึกว่าจำเป็นที่จะต้องท่องจำ ให้จำแค่หัวข้อหรือคำพูดตอนเริ่มต้นเท่านั้น เพราะจะช่วยให้คุณเริ่มต้นได้อย่างราบรื่น รวมถึงลองถ่ายวิดีโอตัวเองหรือซ้อมหน้ากระจก คุณจะได้รู้ว่าคนอื่นมองคุณอย่างไรและเนื้อหาที่คุณได้ฟังตัวเองเป็นอย่างไร คุณจะได้เปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงสิ่งที่ควรต้องเปลี่ยนได้
4. เตรียมตัวให้พร้อม
นอกจากเนื้อหาในการนำเสนอแล้ว คุณก็จำเป็นจะต้องเตรียมเสื้อผ้า หน้า ผมสำหรับวันจริงด้วย ลองตัดสินใจดูว่าคุณจะใส่ชุดอะไร มาถึงสถานที่จัดงานให้เร็วและเตรียมอุปกรณ์ของคุณให้พร้อม คุณอาจลองคาดการณ์ถึงปัญหาล่วงหน้า และหากเป็นไปได้ก็ควรต้องมีการสำรองข้อมูล รวมถึงเตรียมความพร้อมเพื่อรับกับเหตุการณ์ฉุกเฉินไว้ในกรณีที่บางสิ่งบางอย่างไม่เป็นไปตามที่ต้องการ
5. สงบสติอารมณ์
อาการประหม่าและตื่นเต้น อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาทางร่างกายได้ เช่น มือสั่น เสียงสั่น ตัวสั่น ปวดท้อง มีเหงื่อที่ฝ่ามือมากผิดปกติ ซึ่งคุณสามารถแก้ไขผลกระทบเหล่านี้ได้ด้วยเทคนิคง่ายๆ เช่น หายใจเข้าออกลึกๆ , ดื่มน้ำ , ลองนึกภาพในเชิงบวกแล้วจดจำภาพไว้ในใจ และก่อนจะเริ่มพูด ให้หยุดนิ่งสักครู่ สบตากับอีกฝ่าย และยิ้ม ช่วงเวลาแห่งความสงบแค่เพียงครู่เดียวจะทำให้คุณผ่อนคลายและมีเวลาปรับตัว