รีเซต

รวมข้อดี ข้อเสียของการผ่าคลอดแบบบล็อคหลังและการผ่าคลอดแบบดมยาสลบ

รวมข้อดี ข้อเสียของการผ่าคลอดแบบบล็อคหลังและการผ่าคลอดแบบดมยาสลบ
Beau_Monde
26 สิงหาคม 2564 ( 13:52 )
682

     มีคนแม่หลายคนที่กำลังจะผ่าคลอดและเริ่มกังวลว่าควรจะเลือกการคลอดแบบไหนดี โดยเฉพาะการผ่าคลอดนั้นจะทำให้คุณแม่เจ็บหรือไม่และจะใช้วิธีไหนในการคลอดที่จะปลอดภัยทั้งตัวคุณแม่และลูกมากที่สุด 

     ต้องบอกก่อนว่าการเข้าห้องผ่าตัดแต่ละครั้งมีความเสี่ยงเสมอค่ะ ซึ่งก่อนที่จะเลือกการผ่าคลอดด้วยวิธีไหน คนไข้และคุณหมอจะมีการพูดคุยตกลงร่วมกัน ซึ่งคุณหมอก็จะเลือกวิธีที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุดสำหรับคนไข้แต่ละคน เพื่อที่จะไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยที่สุด และเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นค่ะ แล้วการผ่าคลอดแบบการบล็อกหลังหรือการผ่าคลอดแบบดมยาสลบ ทั้ง 2 แบบนี้มีข้อดี ข้อเสียต่างกันอย่างไร วันนี้เรามีข้อมูลมาไขข้อข้องในให้คุณแม่แล้วค่ะ

 

 

การผ่าคลอดแบบดมยาสลบ

     การดมยาสลบคือวิธีการที่จะทำให้คนไข้หมดสติไปในระหว่างที่ทำการผ่าตัด ซึ่งก่อนที่จะทำการดมยาสลบ พยาบาลจะทำการติดเครื่องวัดสัญญาณชีพ มีการวัดความดันโลหิต วัดคลื่นหัวใจและวัดออกซิเจนในเลือด 

     จากนั้นคุณหมอวิสัญญีจะนำออกซิเจนมาให้คนไข้ดมและจะฉีดยาเข้าทางสายน้ำเกลือเพื่อให้คนไข้หลับ ซึ่งในระหว่างที่คนไข้ดมยาสลบจะไม่สามารถหายใจได้ ทำให้คุณหมอจะต้องใส่ท่อช่วยหายใจด้วย โดยตลอดระยะเวลาของการผ่าตัดคนไข้จะไม่รู้สึกตัวและจะกลับมารู้สึกตัวอีกทีเมื่อมีพยาบาลปลุกหลังจากการผ่าตัดเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้วค่ะ

 

ข้อดีของการผ่าคลอดแบบดมยาสลบ

  • ไม่เกิดความกังวล

     คนไข้จะหลับได้เลยทันทีเมื่อดมยาสลบ ทำให้ไม่เกิดความกังวลว่าจะเจ็บหรือจะเห็นเลือด และจะรู้สึกตัวอีกทีเมื่อพยาบาลปลุกหลังจากการผ่าตัดเสร็จสิ้นค่ะ

  • แพทย์สามารถควบคุมความดันโลหิตของคนไข้ได้

     เนื่องจากในกระบวนการผ่าตัดแบบดมยาสลบนั้นจะมีวิสัญญีแพทย์คอยดูแล ทำให้แพทย์สามารถควบคุมระบบการหายใจและระบบความดันโลหิตของคนไข้ให้เป็นปกติได้ตลอดการผ่าตัด

  • รวดเร็ว

     สามารถผ่าคลอดได้อย่างรวดเร็ว และเหมาะกับการคลอดในภาวะเร่งด่วน

 

ข้อเสียของการผ่าคลอดแบบดมยาสลบ

  • เสี่ยงกับการสำลักอาหาร

     คนไข้สามารถที่จะเกิดการลำสักอาหารลงไปในปอดได้ เนื่องจากแพทย์จะต้องฉีดยาให้ผู้ป่วยหลับเสียก่อน จึงทำให้อาหารในกระเพาะสามารถเข้าไปในหลอดลมและอาจจะทำให้ปอดอักเสบได้

  • ความเสี่ยงต่อการใส่ท่อช่วยหายใจยาก

     ระหว่างที่ดมยาสลบ จำเป็นจะต้องใส่ท่อช่วยหายใจด้วยเพราะว่าคนไข้ไม่สามารถหายใจเองได้ ยิ่งโดยเฉพาะคนท้องก็จะมีโอกาสที่จะใส่ท่อช่วยหายใจได้ยากกว่าคนปกติ เนื่องจากมีภาวะบวมข้างในระบบทางเดินหายใจมากกว่าคนทั่วไปค่ะ

  • ขาดออกซิเจนหรือออกซิเจนต่ำ

     สืบเนื่องจากการใส่ท่อช่วยหายใจลำบาก จึงทำให้มีผลทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์ที่อาจจะขาดออกซิเจนและมีโอกาสที่เด็กจะออกมาแล้วหายใจได้ไม่ดีพอค่ะ

 

การผ่าคลอดแบบบล็อคหลัง

     คือการฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลัง เพื่อให้ร่างกายส่วนล่างของคนไข้รู้สึกชา และเมื่อร่างกายคนไข้รู้สึกชาแล้ว แพทย์จึงจะสามารถผ่าตัดอวัยวะที่อยู่ภายในและต่ำกว่าสะดือได้ค่ะ 

     โดยขั้นตอนแรกการของบล็อคหลังจะคล้ายกับการดมยาสลบคือการติดเครื่องวัดสัญญาณชีพ หลังจากนั้นพยาบาลให้คุณแม่นอนตะแคง งอเข่าและก้มหัวเพื่อให้ช่องไขสันหลังเปิดมากที่สุด หลังจากที่จัดท่าทางเรียบร้อยแล้ว คุณหมอวิสัญญีจะฉีดยาชาเพื่อบล็อคหลังต่อไปค่ะ

 

ข้อดีของการผ่าคลอดแบบบล็อคหลัง

  • คุณแม่เห็นหน้าลูกได้เลย

     เมื่อคุณหมอทำการผ่าตัดและทารกคลอดออกมาแล้ว คุณแม่ก็สามารถที่จะเห็นหน้าลูกได้เลยทันทีค่ะ

  • ไม่เกิดข้อเสียเหมือนกับการดมยาสลบ

     ข้อเสียของการดมยาสลบก็มีหลายอย่างค่ะ ทั้งการใส่ท่อช่วยหายใจยาก การสำลักอาหารลงปอดรวมถึงการที่ทารกจะหายใจไม่ดีเนื่องจากได้รับยาดมสลบบางส่วนจากแม่ไป การผ่าคลอดแบบบล็อคหลังก็สามารถหลีกเลี่ยงข้อเสียเหล่านี้ได้ค่ะ 

  • หลังผ่าตัดแล้วจะปวดน้อยกว่า

     เวลาฉีดยาชาเข้าไปในไขสันหลัง ส่วนมากจะเป็นยาชาผสมมอร์ฟีนค่ะ ซึ่งสามารถที่จะช่วยออกฤทธิ์ระงับปวดได้ประมาณ 24 ชั่วโมง โดยยาชาจะออกฤทธิ์ประมาณ 6-8 ชั่วโมง เมื่อยาชาหมดฤทธิ์แล้วคุณแม่จะเริ่มขยับขาได้ เริ่มลุกจากเตียงได้ แต่ว่ามอร์ฟีนที่ฉีดเข้าไปผสมกับยาชาในระหว่างที่บล็อคหลัง จะออกฤทธิ์ต่อเนื่องไปอีกประมาณ 24 ชั่วโมง ทำให้คุณแม่ยังคงไม่รู้สึกปวดแผลค่ะ

 

ข้อเสียของการผ่าคลอดแบบบล็อคหลัง

  • ความกลัว

     ทั้งการกลัวเข็ม กลัวเจ็บ รวมถึงท่าทางในการจะต้องงอตัวเพื่อฉีดยา ทำให้มีคุณแม่หลายคนเกิดความกังวลและความกลัวจนต้องเปลี่ยนไปเป็นการดมยาสลบแทนค่ะ

  • ความดันโลหิตต่ำ

     มีโอกาสที่จะเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำได้ในช่วงการผ่าตัด แต่อย่างไรก็ตามคุณหมอก็จะมีวิธีการรับมือโดยการให้น้ำเกลือและยากระตุ้นความดันค่ะ

  • มีความรู้สึกอึดอัดและเครียด

     คุณแม่อาจเกิดความรู้สึกอึดอัดและเกิดความเครียดได้ เนื่องจากหลังการบล็อคหลังไปแล้ว ขาทั้ง 2 ข้างจะไม่สามารถขยับได้ค่ะ ทำให้ต้องนอนบนเตียงแคบๆ เป็นระยะเวลาหนึ่ง

  • อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน

     ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นตอนบล็อคหลัง เช่น ปวดหัว แพ้ยาชา ได้รับยาชาเกินขนาด ซึ่งภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ไม่น่ากังวล คุณหมอสามารถแก้ไขได้ค่ะ

 

 

บทความที่คุณอาจสนใจ

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

สิทธิประโยชน์แนะนำ

แท็กยอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง