5 วิธีป้องกันไม่ให้นำเงินเก็บออกมาใช้ สำหรับคนที่ใช้เงินเก่ง คนที่เก็บเงินไม่ค่อยอยู่
เก็บเงินได้จำนวนหนึ่งแล้ว แต่ก็กลายเป็นว่ามีเรื่องให้ต้องใช้เงินทุกที หรือมีเหตุจำเป็นจะต้องซื้อของตลอด ปัญหานี้จะแก้ไขอย่างไรดีเพื่อให้เรามีเงินเก็บจริงๆ วันนี้เรามีไอเดียมาฝากกันค่ะ
หลายคนเจอปัญหาแบบนี้ค่ะ คือพอมีเงินเก็บเป็นก้อนขึ้นมาแล้ว ก็ต้องมีเหตุอะไรสักอย่างหรือมีของที่เราอยากได้ ทำให้เราต้องเอาเงินเก็บออกมาใช้ตลอด เราจะมีวิธีการหรือวิธีคิดแก้ปัญหานี้อย่างไร หรือมีเทคนิคการเก็บเงินและไม่นำเงินออกมาใช้โดยไม่จำเป็นอย่างไร วันนี้เรามี 5 วิธีป้องกันไม่ให้นำเงินเก็บออกมาใช้โดยไม่จำเป็น สำหรับคนที่ใช้เงินเก่ง คนที่เก็บเงินไม่ค่อยอยู่มาฝากกันค่ะ
5 วิธีป้องกันไม่ให้นำเงินเก็บออกมาใช้ สำหรับคนที่ใช้เงินเก่ง
1. ตั้งเป้าหมาย
ก่อนที่จะเก็บเงินแต่ละครั้ง เราก็ตั้งเป้าหมายไว้ก่อนค่ะ ว่าเราจะเก็บเงินก้อนนี้ไปเพื่ออะไร เพราะจะได้รู้ว่าเราจะเอาเงินไปทำอะไร บางคนเก็บเงินเพราะตั้งเป้าหมายไว้ว่าให้เป็นเงินสำหรับฉุกเฉิน บางคนมีเป้าหมายเก็บเงินเพื่อให้ลูก บางคนตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าจะปลดหนี้ หรือว่าเริ่มต้นทำธุรกิจของตัวเอง หรืออาจจะเป็นเป้าหมายเล็กๆ แค่ซื้อของ ไปเที่ยว ไปทานอาหารแพงๆ สักมื้อ เมื่อเรามีสิ่งที่อยากได้เราก็เก็บเงินเพื่อเรื่องนั้นๆ ไป
2. จัดสัดส่วน
แบ่งไปเลยว่าเก็บส่วนเก็บ ใช้ส่วนใช้ วางสัดส่วนให้เหมาะสม เพราะว่าหลายคนอยากจะมีเงินเก็บเยอะๆ อยากจะมีเงินเก็บเร็วๆ ก็เลยไปวางแผนการเก็บเงินต่อเดือนที่มากเกิน เมื่อเปรียบเทียบกับรายรับของเราแล้วรู้สึกว่าเก็บเงินเยอะเกินไป จนทำให้บางทีเงินใช้ในชีวิตประจำวันไม่พอ มันตึงมือไปหมด จะจับจ่ายใช้สอยก็ไม่มีเงิน เลยทำให้ต้องดึงเอาเงินเก็บออกมาใช้ และสุดท้ายก็พาลคิดว่าคนแบบเราเนี่ยเห็นไหมว่ามันเก็บเงินไม่ได้ มีเท่าไหร่ใช้หมด ซึ่งจริงๆ เราอาจจะไม่ใช่คนแบบนั้นเลย แค่เราลองวางสัดส่วนการออมเงินใหม่ ไม่ออมมากเกินไปจนชีวิตตัวเองลำบาก ไม่มีเงินเหลือให้ใช้เลย หรือว่าออมน้อยเกินจนไม่มีความท้าทายเลยค่ะ
3. สภาพคล่อง
แบ่งเงินที่ใช้สอยเอาไว้แค่พอดี ส่วนเงินออมนั้นก็เอาไว้ในที่ที่มันถอนยากหน่อย เพราะว่าบางคนเวลามีเงินอยู่ใกล้ตัวก็หยิบง่ายใช้ง่าย การที่เอาเงินไปเก็บไว้ในที่ที่มันถอนยากเสียหน่อย ถึงแม้ว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ก็จะทำให้เราไม่อยากวุ่นวายไปถอนเงินออกมา และสุดท้ายเงินก่อนนี้ก็จะกลายเป็นเงินเก็บของเราได้ในที่สุด สำหรับเงินที่เอาไว้ใช้สอยในชีวิตประจำวันก็ให้มี ATM ซึ่งถอนง่ายได้ค่ะ แต่เอาไว้แค่จำนวนเดียวพอ คือไม่ต้องเอาเงินเก็บทั้งหมดไว้ในนั้น ส่วนเงินเก็บก็เอาไปไว้ในที่ที่มันถอนออกมายากหน่อย แต่ก็ให้ยังคงซึ่งสภาพคล่องค่ะ หมายถึงว่ายังต้องสามารถถอนได้ เผื่อเราจำเป็นต้องใช้ ก็จะได้ถอนเงินออกมาได้ถึงแม้จะยุ่งยากหน่อยก็ตามค่ะ ซึ่งวิธีการนี้ก็คือการเลือกฝากในบัญชีธนาคารที่ต่างประเภทกันค่ะ
4. อย่าเกินตัว
การใช้เงินซื้อสิ่งของเพื่อความพึงพอใจของตัวเองนั้นไม่ใช่เรื่องผิดค่ะ แต่จะผิดก็ต่อเมื่อเป็นสิ่งของที่เกินกำลังของเรา ฝึกให้ตัวเองเป็นคนง่ายๆ กินง่ายอยู่ง่าย ไม่ต้องใช้สิ่งของแพงๆ ทุกอย่าง บางคนชอบซื้อสิ่งของแพงๆ เกินตัวและเริ่มหาเหตุผลสนับสนุนตัวเองว่าจะต้องมี เช่น เห็นเพื่อนซื้อกระเป๋าแพงๆ ก็อยากจะมีบ้าง จึงไปรูดบัตรเครดิตจนสุดท้ายกลายเป็นหนี้บัตร หากเรามีแนวโน้มว่าจะเป็นคนแบบนี้ก็ให้กลับไปตั้งต้นที่ข้อ 1 ใหม่ค่ะ ตั้งเป้าไปว่าจะซื้ออะไรแล้วเก็บเงินเพื่อสิ่งนั้นไปเลย ยืดระยะเวลาการซื้อของออกไปก่อน เก็บเงินให้ได้ตามจำนวนก่อนค่ะ หรือหากไม่อยากเป็นคนที่มีนิสัยฟุ่มเฟือยแล้ว ก็ต้องปรับตัวเองด้วยการฝึกให้เป็นคนง่ายๆ กินง่ายอยู่ง่าย ใช้ของถูก กินของถูกบ้างค่ะ
5. อย่าดูถูกตัวเอง
อย่าไปคิดว่าเราเก็บเงินไม่ได้ คนแบบเราไม่สามารถเก็บเงินได้ เก็บได้แค่ไหนก็ใช้หมด ซึ่งหากเราคิดแบบนี้ตั้งแต่แรกก็เหมือนเป็นการตอกย้ำตัวเองไปเรื่อยๆ และสุดท้ายเราก็จะเป็นไปตามนั้นค่ะ อย่าดูถูกตัวเอง แต่ให้เราเปลี่ยนความคิดใหม่ว่าเราทำได้ สร้างความเชื่อว่าเราอยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง จากเมื่อก่อนที่เก็บเงินไม่ได้ เราอยากจะเริ่มเป็นคนที่มีวินัยทางการเงินและอยากจะเริ่มเก็บเงินค่ะ
จบลงไปแล้วค่ะ กับ 5 วิธีป้องกันไม่ให้นำเงินเก็บออกมาใช้โดยไม่จำเป็น สำหรับคนที่ใช้เงินเก่งและคนที่เก็บเงินไม่ค่อยอยู่ หวังว่าจะเกิดประโยชน์และช่วยให้สามารถเก็บเงินได้มากขึ้น แล้วอย่าลืมนำทั้ง 5 วิธีนี้ไปทำตามกันดูนะคะ เราเชื่อว่าทุกคนต้องสามารถเก็บเงินได้มากขึ้นอย่างแน่นอนค่ะ
บทความที่คุณอาจสนใจ
5 วิธีเก็บเงินให้ได้เยอะ สำหรับคนรายได้น้อยและคนที่ออมเงินไม่เก่ง
3 วิธีเก็บเงิน สำหรับคนที่ทำงานมานาน แต่ไม่มีเงินเก็บเลย