4 วิธีวางแผนออมเงิน รับปี 2021 สำหรับฟรีแลนซ์ พ่อค้าแม่ค้า คนทำอาชีพอิสระ
ทำอาชีพอิสระ ฟรีแลนซ์ รายได้ที่เข้ามาในแต่ละเดือนนั้นไม่แน่นอน แต่หากเราอยากจะมีเงินใช้แบบอยู่สบายๆ ทั้งปัจจุบันและเผื่อไปถึงหลังเกษียณด้วย หากใครที่กำลังต้องการแบบนี้อยู่ เราก็ต้องวางแผนการเงินให้ดีค่ะ เพราะอาชีพอิสระ อาชีพฟรีแลนซ์ หรืออย่างพ่อค้าแม่ค้า เป็นอาชีพที่มีรายรับไม่แน่นอน ในบางวันก็มีรายรับมาก บางวันก็มีรายรับน้อย เมื่อมาเฉลี่ยในแต่ละเดือนนั้น ทำให้เราคาดคะเนได้ลำบากว่าจะมีรายรับเข้ามาเท่าไหร่ แต่อาชีพนี้ก็สามารถวางแผนการเก็บเงินและออมเงินได้ แต่จะทำอย่างไรให้ถึงเป้าหมายทางการเงินที่เราตั้งไว้ รวมถึงอาชีพอิสระนั้นจะสามารถเก็บเงินเพื่อการเกษียณไว้ที่ไหนได้บ้าง วันนี้เรามาดูกันค่ะ
4 วิธีวางแผนออมเงิน รับปี 2021 สำหรับฟรีแลนซ์ คนทำอาชีพอิสระ
1. เงินออมฉุกเฉิน
ถือเป็นข้อที่สำคัญมากสำหรับอาชีพอิสระหรือว่าฟรีแลนซ์ที่รายได้ไม่แน่นอนค่ะ จริงๆ แล้วเงินออมฉุกเฉินนั้นสำคัญสำหรับทุกสาขาอาชีพ แต่ว่าอาชีพอิสระนั้นจะต้องมีเงินฉุกเฉินมากกว่าอาชีพอื่น เนื่องจากว่ารายได้ที่เข้าในแต่ละเดือนนั้นไม่เท่ากัน เราจึงจำเป็นจะต้องมีเงินส่วนนี้มากหน่อย เพื่อกันเอาไว้ในบางเดือนที่เราขาดรายได้ โดยเงินออมฉุกเฉินที่ควรจะต้องมี คือประมาณ 8 - 10 เท่าของรายจ่ายในแต่ละเดือนของเราค่ะ ซึ่งในข้อนี้เราต้องสำรวจก่อนว่าในแต่ละเดือนนั้นเรามีค่าใช้จ่ายรวมกันอยู่ประมาณเท่าไหร่ จากนั้นก็พยายามเก็บเงินให้ได้ 8 - 10 เท่า โดยเราสามารถมีผลกำไรเล็กๆ น้อยๆ จากเงินออมฉุกเฉินก้อนนี้ได้ด้วยการฝากในบัญชีออมทรัพย์ที่ให้ดอกเบี้ยสูง แต่ต้องเตือนตัวเองว่าเงินก้อนนี้นั้นไม่ใช่เงินสำหรับลงทุน เป็นเงินออมฉุกเฉินที่สะดวกเบิกมาใช้ในกรณีจำเป็นจริงๆ เท่านั้นค่ะ
2. วางแผนจัดการความเสี่ยง
เนื่องจากการทำงานของเรานั้นไม่ได้อยู่ภายใต้องค์กรใด ทำให้สวัสดิการที่ได้รับจึงไม่มีเหมือนพนักงานบริษัท ถ้าเกิดอุบัติเหตุก็ต้องเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องดูแลตัวเองค่ะ ข้อนี้สำคัญมากเพราะว่าถ้าเราละเลยไม่ได้วางแผนจัดการความเสี่ยง ถ้าเกิดเหตุไม่คาดคิด เงินที่เราหามาได้บางทีก็จะหมดกับสิ่งๆ นั้นไปค่ะ ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาลหรือว่าอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดค่ะ ซึ่งถ้าใครที่เคยทำงานเป็นพนักงานประจำ แล้วลาออกมาเพื่อมาทำธุรกิจส่วนตัวหรือว่ามาทำฟรีแลนซ์ เราควรที่จะส่งเงินสะสมเข้ากองทุนประกันสังคมมาตรา 39 ต่อ เพื่อให้ได้รับสวัสดิการอย่างต่อเนื่อง หรือหากใครเป็นฟรีแลนซ์มาตั้งแต่แรก เราก็สามารถสมัครกองทุนประกันสังคมมาตรา 40 แทน แต่ถ้าหากใครที่คิดว่ายังไม่เพียงพอก็สามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อประกันสุขภาพหรือประกันชีวิตเพิ่มเติมได้ เพื่อให้ครอบคลุมกับความต้องการของเราค่ะ แต่สิ่งที่จะต้องพิจารณาก็คือต้องดูเบี้ยประกันที่เราจ่ายไหวและไม่มากเกินไปจนลำบาก ดูค่ารักษาพยาบาลว่าน่าจะคุ้มครองเพียงพอสำหรับเราไหม คุ้มครองไปถึงโรคร้ายหรือเปล่า รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เราควรจะได้รับค่ะ
3. จัดการเงินให้ชัดเจน
แยกบัญชีกินใช้ส่วนตัว บัญชีเงินเก็บและบัญชีที่เกี่ยวกับงานของเราค่ะ เพื่อที่จะได้ไม่ปนเปกัน โดยแบ่งเป็นบัญชีส่วนตัวสำหรับใช้สอย ซึ่งบัญชีนี้จะเป็นบัญชีที่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายส่วนตัว บัญชีที่สองคือบัญชีสำหรับเก็บออม และสุดท้ายคือบัญชีรายได้จากการทำงานค่ะ โดยบัญชีรายได้จากการทำงานก็จะเป็นบัญชีที่เกี่ยวกับเรื่องงานเท่านั้น การทำแบบนี้ก็จะสามารถแยกสัดส่วนได้อย่างชัดเจน และจะทำให้เรารู้ว่าเราใช้จ่ายเท่าไหร่ในแต่ละเดือน เราจะต้องเก็บออมเท่าไหร่ในแต่ละเดือน บางคนมีรายได้เข้ามาหลายทาง อาจจะทำให้ภาษีที่หักไว้ยังไม่ครบถ้วน เมื่อถึงเวลาที่เราต้องยื่นภาษีเงินได้ กลายเป็นว่าเราจะต้องจ่ายภาษีเพิ่มจำนวนมาก และหลายๆ คนก็ไม่ได้เตรียมเงินไว้ในส่วนนี้ สุดท้ายก็จะกลายเป็นภาระที่ตามมา ดังนั้นการที่เราแยกบัญชีไว้อย่างชัดเจนก็จะทำให้เราวางแผนการเงินได้ค่ะ
4. วางแผนเกษียณอย่างจริงจัง
เพราะว่าอาชีพอิสระ ไม่มีใครบังคับให้เราออมเงิน ไม่มีกองทุนต่างๆ มารองรับค่ะ ซึ่งทำให้เราจะต้องวางแผนในส่วนนี้ให้ดี เพราะในช่วงที่ยังทำงานไหว หลายคนอาจจะมีรายได้เข้ามาเยอะ แต่ถ้าเราใช้หมดไม่ได้วางแผนไปถึงเกษียณ บางทีในอนาคตเราก็อาจจะไม่ได้มีรายได้เยอะเท่าตอนนี้ก็ได้ ด้วยอาชีพที่ไม่แน่นอน เราก็ควรที่จะวางแผนเกษียณอย่างจริงจังได้แล้ว โดยการเริ่มจากการส่งเงินสะสมเข้ากองทุนประกันสังคม ซึ่งเราสามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนเองตามมาตรา 39 และมาตรา 40 ได้ค่ะ เพื่อให้เรามีสิทธิ์ในการรับเงินบำนาญหรือเงินบำเหน็จชราภาพตามเงื่อนไขที่กองทุนกำหนด นอกจากการส่งเงินเข้ากองทุนสะสมแล้ว เราก็ยังสามารถสมัครสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ หรือที่เรียกกันว่า กอช. ซึ่ง กอช. คือการที่เราส่งเงินเข้าไป 1 ส่วนและรัฐบาลก็จะช่วยสมทบอีก 1 ส่วน เมื่อเราครบอายุ 60 ปีบริบูรณ์ เราก็จะได้รับเงินที่สะสมไว้คืนกลับมาเป็นรายเดือนค่ะ การออมเพื่อเกษียณอีกแบบที่น่าสนใจก็คือ การลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หรือจะเป็นกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF) ก็ได้ ทั้ง 2 กองทุนนี้เหมาะกับการลงทุนระยะยาว เพราะว่านอกจะได้เก็บเงินและออมเงินระยะยาวแล้ว เราก็ยังสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ด้วยค่ะ และสุดท้ายคือการส่งเงินประกันชีวิต หรือว่าประกันบำนาญค่ะ โดยเราสามารถซื้อประกันชีวิตส่งตัวเราเอง โดยให้ดูตามเป้าหมายว่าเราจะใช้เงินตอนอายุเท่าไหร่ และต้องการเงินคืนมาเท่าไหร่ ซึ่งข้อนี้เป็นสิ่งสำคัญในการพิจารณาว่าเราจะเลือกส่งประกันชีวิตแบบไหนค่ะ
.........................................
อัพเดทเทรนด์เมคอัพ แฟชั่น เคล็ดลับลดน้ำหนัก และไลฟ์สไตล์ผู้หญิงใหม่ๆ ทุกวัน
ได้ที่แอปพลิเคชัน ทรูไอดี ดาวน์โหลดเลยที่นี่!!
บทความที่คุณอาจสนใจ
3 วิธีวางแผนการเงินรับปี 2021 ฉบับมนุษย์เงินเดือน เก็บเงินอย่างไรให้มีเงินใช้ทุกช่วงอายุ
8 เทคนิคเก็บเงิน สำหรับเฟิร์สจ็อบเบอร์ เพิ่งเริ่มทำงานต้องออมเงินยังไงให้มีเงินเยอะ!