4 วิธี เลี้ยงลูกไม่ให้ติดมือถือ ลดความเสี่ยงสมาธิสั้น เอาแต่ใจ
ปัจจุบันนี้อุปกรณ์สื่อสารอย่างโทรศัพท์มือถือแทบจะกลายเป็นอวัยวะหนึ่งของใครหลาย ๆ คนค่ะ ไม่เว้นแม้แต่เด็กเล็กเด็กโตที่มีอาการติดมือถือ และเป็นเรื่องปกติที่เรามักจะเห็นเด็ก ๆ ก้มหน้าก้มตาเล่นมือถือขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น รับประทานอาหาร นอนดูมือถือ หรือบางคนก็อาการหนักขนาดที่ว่าออกไปวิ่งเล่นก็จริงแต่มือก็ยังถือโทรศัพท์ไม่ยอมวาง คุณพ่อคุณแม่บางคนก็เลือกที่จะให้ลูกดูโทรศัพท์มือถือขณะที่ตัวเองทำกิจกรรมอื่น เพราะเด็กบางคนเมื่อได้อุปกรณ์สื่อสารชิ้นนี้ไปก็จะอยู่นิ่งจนแทบจะไม่กระดุกกระดิกตัวเพราะสายตามัวแต่จ้องหน้าจอ ทำให้พ่อแม่ไม่ต้องคอยห่วงว่าลูกจะไปซนที่ไหน ซึ่งพฤติกรรมนี้ของพ่อแม่เองก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เด็กติดมือถือได้ค่ะ ซึ่งเมื่อเด็กมีภาวะติดมือถือแล้ว แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาไม่ใช่เรื่องดีแน่ ๆ
ปัญหาสมาธิสั้นและพฤติกรรมก้าวร้าว เอาแต่ใจ สามารถเกิดขึ้นจากจากการแค่ดูโทรศัพท์มือถือค่ะ ซึ่งผลกระทบที่ตามมานั่นก็คือเมื่อคุณพ่อคุณแม่ต้องการที่จะสอนหรืออยากทำกิจกรรมเสริมพัฒนาการให้ลูก เด็ก ๆ จะไม่ค่อยให้ความสนใจหรือสนใจเพียงแค่ชั่วครู่เดียว มีอาการวอกแวกได้ง่าย รอคอยไม่เป็น เบื่อง่าย ใจร้อน มีพฤติกรรมรุนแรง เช่น เล่นกับคุณพ่อคุณแม่แรง ๆ เล่นกับเพื่อนแรง ๆ รวมถึงยังทำให้ความจำลดลงได้อีกด้วย ดังนั้นวันนี้เราจึงมี 4 วิธี เลี้ยงลูกไม่ให้ติดมือถือ มาให้คุณพ่อคุณแม่ได้ลองเอาไปทำตามกันค่ะ ซึ่งเมื่อเด็ก ๆ ห่างจากมือถือได้แล้วก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคสมาธิสั้นและช่วยลดความก้าวร้าวเอาแต่ใจได้ค่ะ
4 วิธีเลี้ยงลูกไม่ให้ติดมือถือ
1. ตั้งกติกาง่าย ๆ
การตั้งกติกาง่าย ๆ ให้ทุกคนสามารถทำตามได้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่ออยู่บนโต๊ะอาหารทุกคนจะไม่หยิบมือถือมาวางไว้ข้าง ๆ ตัว แบบนี้ก็จะทำให้เด็กห่างมือถือไปได้และเป็นการฝึกพฤติกรรมไม่ให้เกิดการติดมือถือมากจนเกินไป แต่ต้องอย่าลืมว่าการตั้งกติกานี้คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องทำให้ได้ด้วยนะคะ เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกค่ะ
2. เพิ่มกิจกรรม
การเพิ่มกิจกรรมภายในครอบครัวก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยให้ลูก ๆ ห่างไกลจากมือถือได้ค่ะ โดยอาจจะเพิ่มเป็นกิจกรรมกีฬา เช่น เตะบอลกับคุณพ่อ เล่นน้ำกับคุณแม่ หรือจะเพิ่มกิจกรรมอย่างการประดิษฐ์สิ่งของเล็ก ๆ น้อย ๆ การวาดรูป เล่นดนตรี เล่นเกมกระดานกับคุณพ่อคุณแม่ แบบนี้ก็ช่วยให้เด็ก ๆ เลิกนึกถึงมือถือไปได้บางช่วง และยังเป็นการเพิ่มทักษะ รวมถึงยังเป็นการเพิ่มความสุนทรีย์ทางอารมณ์ ทำให้เด็ก ๆ มีนิสัยอ่อนโยน ช่วยลดความก้าวร้าว ซึ่งเมื่อเราทำติดต่อกันไปเรื่อย ๆ เด็ก ๆ ก็จะเลิกติดมือถือไปได้ด้วยค่ะ
3. สัมผัสกับธรรมชาติ
การพาลูก ๆ ออกไปเที่ยวสัมผัสกับธรรมชาติ ไม่ว่าจะไปภูเขาหรือไปทะเล หรือจะไปสวนสาธารณะใกล้บ้าน ก็ทำให้เด็ก ๆ ได้เจอกับสายลมแสงแดด ได้ไปเห็นนก เห็นผีเสื้อและสัตว์ตัวเล็กตัวน้อย สามารถช่วยให้เด็ก ๆ ได้ปลดปล่อยจินตนาการและเสริมสร้างพัฒนาการ ยิ่งหากได้เดินหรือวิ่งเล่น ก็จะยิ่งช่วยให้ได้ออกกำลังทำให้ร่างกายแข็งแรงมากขึ้นได้ด้วย ถือเป็นการพัฒนาสุขภาพกายและใจของเด็ก ๆ และช่วยลดภาวะปัญหาทางอารมณ์และพฤติกรรมได้ค่ะ
4. เป็นต้นแบบให้ลูก
หลาย ๆ บ้านคุณพ่อคุณแม่เองก็มีอาการติดมือถือเช่นเดียวกันค่ะ สังเกตได้จากเมื่อเวลาออกข้างนอกบ้านกันเป็นครอบครัว แต่คุณพ่อคุณแม่เองต่างก็จับจ้องอยู่ที่มือถือของตัวเอง ดังนั้นไม่แปลกที่เด็ก ๆ จะไม่มีปฏิสัมพันธ์กับชีวิตจริง เพราะเด็ก ๆ เองก็สังเกตพฤติกรรมของผู้ใหญ่เป็นตัวอย่างและพยายามเลียนแบบ ซึ่งเมื่อเห็นพ่อแม่ติดมือถือ เด็ก ๆ จึงทำตามค่ะ ดังนั้นอยากจะให้ลูกเป็นอย่างไร ผู้ใหญ่ในบ้านก็ต้องช่วยกันค่ะ
บทความที่คุณอาจสนใจ
- 5 คำถามแบบไหน ที่ไม่ควรถามลูกหลานในวันรวมญาติ
- ลูกติดโควิดทำอย่างไรดี วิธีดูแลเด็กเล็กที่บ้าน เมื่อติดโควิด-19