6 วิธีเดินทางด้วยโดยสารสาธารณะอย่างไรให้ปลอดภัย ในกรณีเป็นผู้หญิงคนเดียว
ฉลอง, เลี้ยงขอบคุณ, ใช้จ่าย, เดินทางท่องเที่ยว หรือแม้แต่เดินทางกลับภูมิลำเนา กิจกรรมเหล่านี้มักเกิดขึ้นพีคที่สุดในเดือนธันวาคมของทุกปี เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ มีวันหยุดหลายวัน อีกทั้งเป็นช่วงจ่ายโบนัสประจำปี จึงไม่แปลกที่เดือนนี้จะเกิดการใช้จ่าย การเดินทาง พุ่งสูงขึ้นกว่าช่วงอื่นๆของปี การเกิดขึ้นของกิจกรรมต่างๆดังกล่าว นอกจากจะทำให้บรรยากาศคึกคัก สนุกสนาน และกระตุ้นภาคธุรกิจต่างๆ แล้ว คงปฎิเสธไม่ได้ว่ากิจกรรมเหล่านี้เป็น “พาหะ” ในการนำพาอุบัติเหตุบนท้องถนนให้พุ่งสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ทั้งจากการเมาแล้วขับ การพักผ่อนไม่เพียงพอ ความเร่งรีบ ความประมาท การจราจรที่หนาแน่น ความไม่คุ้นเคยเส้นทางของผู้ใช้รถใช้ถนน รวมถึงยิ่งหากเราเป็น ผู้หญิงที่ต้องเดินทางคนเดียว ยังมีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องความปลอดภัยเพิ่มขึ้นมาด้วย
การเดินทางสำหรับรถยนต์ส่วนตัวของประชาชนทั่วไปเป็นส่วนหนึ่งของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในช่วงเทศกาล เพื่อสวัสดิภาพของตัวเองและผู้ร่วมทางควรคำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สามารถลดความเสี่ยงในการเดินทาง โดยเบื้องต้นผู้ขับขี่ควรหาข้อมูลหรือเช็คเส้นทางในสถานที่ที่จะเดินทางไป ตรวจเช็คสภาพเครื่องยนต์ และปฏิบัติตามกฎระเบียบการจราจรอย่างเคร่งครัด ร่วมถึงการพักผ่อนให้เพียงพอก่อนเดินทาง และมีสติคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยอยู่ตลอด
ในด้านประชาชนที่ต้องเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะ ก็ควรให้ความร่วมมือในการคาดเข็มขัดนิรภัย ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทางสาธารณะ หรือขณะโดยสารอยู่บนรถทุกประเภท และหากต้องนั่งรถระยะทางไกล ควรมีสติตลอดเวลา คอยสังเกตุพนักงานขับรถว่ามีอาการง่วง หรือมีการขับรถที่ผิดปกติหรือไม่ หากเป็นระยะทางที่ไกลมากควรมีการจอดพักรถเป็นระยะ ยิ่งในนักท่องเที่ยวที่เป็น ผู้หญิงเดินทางคนเดียว นอกจากจะต้องระวังในส่วนที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมีเรื่องที่ควรระวังเพิ่มเติม ดังนี้
1. การซื้อบัตรโดยสารควรตรวจสอบความถูกต้องทุกครั้ง จดจำชื่อของผู้ประกอบการหรือบริษัทก่อนทุกครั้ง เพื่อเป็นประโยชน์ในการร้องเรียนเมื่อมีปัญหา และเก็บบัตรโดยสารไว้ทุกครั้งเพื่อใช้เป็นหลักฐานเอาผิดผู้ประกอบการที่ทำผิดกฏหมาย
2. ทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานีและจุดจอดของแต่ละประเภทรถบริการ โดยจะต้องขึ้น-ลงรถ ณ จุดจอดเท่านั้น คือ ที่จุดจอดต้นทาง-ปลายทางหรือ จุดที่ถูกกำหนดไว้เท่านั้น เพราะเสี่ยงต่ออุบัติเหตุทางถนนและถ้าจอดในที่เปลี่ยวอาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้โดยสาร
3. สังเกตภายนอกตัวรถให้บริการโดยเลือกใช้รถบริการรถป้าย “สีเหลือง” มีสัญลักษณ์แสดงการชำระภาษีรถและเลือกรถที่มีสภาพภายนอกแข็งเเรงและอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ เช่น ล้อเเละยางไม่แบนไม่เบี้ยว ไฟเบรก ไฟหน้า ไฟท้าย ติดครบไม่เเตกเพราะหากสภาพรถมีการดัดแปลง หรือเสียหาย อาจทำให้การขับขี่ไม่ปลอดภัยได้
4. สังเกตป้ายทุกครั้ง เช่น รายละเอียดคนขับและเบอร์ติดต่อรับร้องเรียนป้ายเตือนความปลอดภัยต่างๆ เช่น การคาดเข็มขัดนิรภัย
5. สังเกตสภาพภายในรถ ควรเลือกรถที่สภาพสะอาด มีอุปกรณ์ความปลอดภัยที่ครบสมบูรณ์พร้อมใช้งาน เช่น ค้อนทุบกระจก ถังดับเพลิง เข็มขัดนิรภัย ไม่มีเก้าอี้เสริม และเบาะอยู่ในสภาพดี
6. ไม่นั่งรถที่บรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวนที่กฏหมายกำหนด นอกจากนี้ยังควรตรวจสอบ
- ชื่อ รูปถ่าย ข้อมูล ของคนขับ ว่าตรงกับป้ายที่เเจ้งไว้หรือไม่
- คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งขณะอยู่บนรถไม่ว่าจะเป็นระยะทางที่ใกล้หรือระหว่างทาง
- แจ้งพฤติกรรมการขับขี่ที่ไม่ปลอดภัย เช่น ขับเร็ว เมาสุรา หลับใน โทร.1584 (ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสาร สาธารณะ) หรือ 1508 (แจ้ง ร้องทุกข์เกี่ยวกับรถโดยสารของบขส.และรถร่วมบริการ)