5 วิธีการใช้และดูแลเทียนหอม จุดอย่างไรให้หอมฟุ้งแถมใช้ได้นาน
ได้อยู่บ้านแบบนี้ก็ผ่อนคลายดีเหมือนกันค่ะ ยิ่งถ้าอยากจะสบายมากกว่าเดิมก็แค่เพิ่มการจุดเทียนหอมและจิบชาเพลินๆ พร้อมนอนดูหนังเรื่องโปรดก็จะยิ่งสบายใจมากขึ้น ยิ่งช่วงนี้ เทียนหอม (Scented Candle) เริ่มจะกลายเป็นไอเทมยอดฮิตของสาวๆ สายชิลมากขึ้นที่จะต้องหาซื้อมาติดบ้านหรือติดห้องไว้ ซึ่งเทียนหอมนั้นมีหลายราคาให้เราได้หามาจับจองตั้งแต่ราคาย่อมเยาไปจนถึงแบรนด์ระดับไฮเอนด์ราคาหลายพันบาท แน่นอนว่าหากเราซื้อเทียนหอมมาแล้วก็คงอย่างจะใช้ให้ได้นานๆ เพื่อให้สมกับราคาและเงินที่เราจ่ายไป วันนี้เราได้นำเทคนิคและวิธีการใช้เทียนหอมที่ถูกต้องมาฝาก เพื่อที่เราจะได้ถนอมและยืดอายุเทียนหอมของเราให้ใช้ได้นานมากยิ่งขึ้น ซึ่งวิธีการดูแลเทียนหอมนั้นจะมีอะไรบ้าง มาดูกันเลยค่ะ
5 วิธีการใช้และดูแลเทียนหอม จุดอย่างไรให้หอมฟุ้งแถมใช้ได้นาน
1. จุดจนหน้าเทียนละลายเท่ากัน
หลังจากที่เราจุดเทียนหอม ควรปล่อยให้เทียนได้ละลายไปจนกว่าหน้าเทียนจะละลายสม่ำเสมอกันก่อนที่จะดับ เพื่อช่วยให้หน้าเทียนเรียบไม่ให้กลายเป็นหลุมค่ะ การจุดเทียนโดยการจุดๆ ดับๆ นั้น ไม่ส่งผลดีกับเทียนหอมและไม่ได้ช่วยประหยัดเนื้อเทียนแต่อย่างใด เพราะจะทำให้การหลอมละลายของเนื้อเทียนไม่สมบูรณ์และถือเป็นการสิ้นเปลืองมากกว่าการจุดแบบปกติด้วย ซึ่งระยะเวลาการจุดที่เหมาะสมจะอยู่ประมาณ 2-3 ชั่วโมง หรือให้สังเกตว่าแอ่งน้ำตาเทียนจะละลายสุดชนขอบแก้วค่ะ
2. วางให้ถูกตำแหน่ง
ตำแหน่งของเทียนหอมนั้นมีผลต่อการส่งกลิ่นและรับกลิ่นของเราค่ะ การที่เทียนหอมนั้นส่งกลิ่นได้ไม่เต็มที่นั้นอาจเป็นเพราะว่าตำแหน่งในการวางเทียนหอมนั้นวางอยู่ในจุดที่กลิ่นไม่สามารถส่งมาถึงจมูกของเราได้ โดยเราควรวางเทียนหอมให้อยู่ในระดับต่ำกว่าจมูก เนื่องจากโมเลกุลของกลิ่นนั้นจะลอยจากล่างขึ้นบน รวมถึงควรวางเทียนหอมในจุดที่ไม่มีลมและห่างจากตัวผู้ใช้ประมาณ 1 - 2 เมตรค่ะ
3. วางในที่ไม่มีลม
กลิ่นของเทียนหอมนั้นจะหายไปและเราไม่สามารถรับกลิ่นหอมๆ ได้ถ้าเรานำเทียนหอมไปวางไว้ในที่ที่มีลมแรง เช่น ระเบียงบ้าน ริมหน้าต่างที่ถูกเปิดไว้ กลางสนามหรือกลางแจ้ง การวางไว้ในบริเวณบริเวณที่มีลมจะทำให้เกิดควันดำและเราจะไม่ได้กลิ่นอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงการจุดเทียนใกล้กับวัตถุที่ติดไฟง่าย และจุดโดยที่ไม่มีคนคอยดูแลความปลอดภัยค่ะ
4. หมั่นเล็มไส้เทียนหลังใช้งานเสร็จ
ในกรณีที่จุดเทียนจนเปลวเทียนดับลง หลังจากเทียนเย็นสนิทดีแล้ว ให้ใช้กรรไกรเล็มไส้เทียนจนเหลือประมาณ 1/4 นิ้ว เพื่อให้การจุดครั้งต่อไปเทียนหอมของเรายังคงส่งกลิ่นหอมได้เหมือนเดิม แต่หากไส้เทียนถูกเล็มสั้นเกินไป ให้แก้โดยการจุดเทียนอีกครั้งจนหน้าเทียนละลาย จากนั้นให้รินน้ำตาเทียนทิ้ง ทำซ้ำซัก 2-3 ครั้ง ไส้เทียนจะกลับมายาวขึ้นจนสามารถจุดได้ตามปกติค่ะ
5. ดับเทียนโดยการใช้ฝาปิด
การดับเทียนหอมโดยการเป่าเหมือนกับเทียนทั่วๆ ไปนั้น ถือเป็นการสร้างความเสียหายให้กับเทียนหอมของเราได้ เนื่องจากจะทำให้เกิดควันดำและเกิดกลิ่นเหม็นไหม้ได้ค่ะ วิธีการดับเทียนง่ายๆ คือการใช้ฝาปิดเทียนที่ได้มาพร้อมกับตอนซื้อปิดลงไปได้เลย ฝาปิดเทียนจะช่วยกั้นไม่ให้อากาศเข้าไปข้างในเทียนหอมและทำให้ไฟดับลงในที่สุด นอกจากนี้ยังเป็นการถนอมเทียนหอมไม่ให้กลิ่นฟุ้งออกมา รวมถึงไม่ให้เศษฝุ่นและสิ่งสกปรกตกลงไปบนหน้าเทียนอีกด้วย แต่หากไม่มีฝาปิด เราสามารถดับเทียนได้ด้วยการเอียงแก้วเทียนเพื่อให้น้ำตาเทียนไหลมาดับเปลวไฟก็ได้หรือจะใช้ลวดหรือส้อมดันไส้เทียนให้จมลงในน้ำตาเทียนก็ได้แล้วค่อยจัดไส้เทียนให้ตั้งขึ้นใหม่ค่ะ
อย่าลืมว่าหลังจากใช้งานเทียนหอมเสร็จควรปิดฝาภาชนะทุกครั้ง เพื่อป้องกันการระเหยของกลิ่นไม่ให้หายไป และเพื่อป้องกันฝุ่นผงและแมลงต่างๆ ที่จะตกลงไปบริเวณผิวหน้าเทียนซึ่งจะทำให้เทียนมีรอยสกปรก นอกจากนี้ยังควรเก็บเทียนหอมให้ห่างจากความชื้น ความร้อน และแสงแดดค่ะ
บทความที่คุณอาจสนใจ
10 กลิ่นเทียนหอม ช่วยปรับบรรยากาศแถมผ่อนคลาย หายเครียด หายเหนื่อย
เคล็ดลับอารมณ์ดีด้วยเทียนหอมอโรมา ฟอกอากาศในบ้านแล้วต้องเพิ่มความหอมด้วย ผ่อนคลายกว่า!