รีเซต

5 อาการคนท้อง ไตรมาสแรก และวิธีดูแลตัวเองเมื่อเริ่มตั้งครรภ์

5 อาการคนท้อง ไตรมาสแรก และวิธีดูแลตัวเองเมื่อเริ่มตั้งครรภ์
Beau_Monde
15 กรกฎาคม 2564 ( 12:31 )
810

     คุณแม่ที่เพิ่งเริ่มตั้งครรภ์ใหม่ๆ ยังอยู่ในระยะไตรมาสแรกหรือช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่มือใหม่หลายคนอาจจะยังทำอะไรไม่ถูก ยังไม่รู้ว่าควรจะเริ่มต้นอย่างไร ควรจะดูแลตัวเองอย่างไร หรืออาจจะมีความกังวลว่าลูกของเราจะเจริญเติบโตดีหรือไม่ ได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอหรือไม่ และอาการต่างๆ ระหว่างการตั้งครรภ์จะเป็นอย่างไร ร่างกายคุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร วันนี้เรามีคำตอบมาให้ค่ะ

 

 

5 อาการคนท้อง ไตรมาสแรก และวิธีดูแลตัวเอง

1. มดลูกเริ่มขยาย

     คุณแม่จะอาจจะยังไม่ได้รู้สึกชัดเจนว่ามดลูกของเราโตหรือว่าใหญ่ขนาดมากเท่าไหร่ เพราะในช่วง 3 เดือนแรกมดลูกจะยังไม่เคลื่อนตัว แต่คุณแม่อาจจะรู้สึกปวดหน่วงๆ ได้ จากการที่มดลูกเริ่มมีการขยายตัวเร็ว ดังนั้นถ้าคุณแม่มีอาการ ให้คุณแม่นั่งหรือว่านอนพักอาการเหล่านี้ก็จะดีขึ้นค่ะ แต่ที่สำคัญเลยคือควรหลีกเลี่ยงการเดิน ยืนนานๆ หรือว่าการยกของหนักค่ะ



2. มีตกขาว

     เมื่อตั้งครรภ์ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ทำให้มีการหลั่งของพวกสารต่างๆ หรือมีตกขาวในช่องคลอดเพิ่มมากขึ้น ในช่วงนี้ให้คุณแม่หมั่นดูแลเรื่องของการรักษาความสะอาด พยายามล้างแล้วก็ซับให้แห้งสนิททุกครั้ง แต่ไม่ต้องถึงขั้นใช้น้ำยาล้างจุดซ่อนเร้นถ้าไม่จำเป็นค่ะ เพราะน้ำยาล้างจุดซ่อนเร้นจะทำให้เราฆ่าเชื้อดีๆ ที่ช่วยป้องกันเชื้อร้ายออกไปและไม่ควรสวนล้างช่องคลอดค่ะ



3. ท้องอืด

     คุณแม่ตั้งครรภ์จะมีอาการท้องอืดง่ายมากกว่าคนทั่วๆ ไป เพราะฮอร์โมนบางตัวจะทำให้ระบบการย่อยอาหารทำงานช้าลง มีการเคลื่อนไหวของลำไส้ช้าลง คุณแม่ก็มักจะมีอาการท้องอืด คลื่นไส้หรือว่าท้องผูกเพิ่มมากขึ้นค่ะ



4. ปัสสาวะบ่อย

     ฮอร์โมนบางตัวที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ก็กระทบกับระบบปัสสาวะของคุณแม่เหมือนกันค่ะ รวมถึงมดลูกที่ใหญ่ขึ้นก็จะไปกดเบียดกระเพาะปัสสาวะ ร่วมกับมีแรงดันในกระเพาะปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้คุณแม่มักมีปัญหาเรื่องของปัสสาวะบ่อยหรือปัสสาวะไม่สุดและในบางคนก็มีปัสสาวะเล็ดได้ค่ะ 



5. คลื่นไส้อาเจียน

     อาการคลื่นไส้อาเจียนเป็นอาการที่สามารถพบได้ในสตรีตั้งครรภ์ไตรมาสแรก โดยมักจะเริ่มอาการลักษณะนี้ประมาณ 4 - 6 สัปดาห์หลังจากที่ทราบว่าตั้งครรภ์ และจะมีอาการรุนแรงมากขึ้นเมื่ออายุครรภ์เข้าสู่ช่วงประมาณ 8 - 12 สัปดาห์ แต่ว่าหลังจากนั้นจะค่อยๆ ทุเลาลง จนประมาณ 16 - 24 สัปดาห์ก็จะไม่พบอาการนี้อีกค่ะ วิธีการดูแลเบื้องต้นแนะนำให้คุณแม่ทานอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย ส่วนอาหารที่ควรกินเพื่อบำรุงครรภ์ คือ ปลา เต้าหู้ ไข่ ผักใบเขียว ผลไม้ ตับ ถั่วเหลือง ส้ม กล้วย และนมเสริมโฟเลต กระดูกอ่อน ปลาเล็กปลาน้อยและดื่มน้ำมากๆ ส่วนอาหารที่ควรรับประทานลดลง คือ อาหารพวกแป้ง ข้าว เผือก มัน และหลีกเลี่ยงอาหารหวาน โดยเฉพาะผลไม้รสหวาน เช่น ทุเรียน รวมถึงน้ำอ้อย น้ำตาลสด น้ำมะพร้าว และน้ำอัดลม เพราะนอกจากจะทำให้อ้วนแล้วยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ หรืออาหารประเภทไขมันสัตว์ น้ำมันหมู น้ำมันมะพร้าว และน้ำมันปาล์ม คุณแม่ตั้งครรภ์ควรเลือกดื่มนมที่มีไขมันต่ำ หรือไม่มีไขมัน

 

    เมื่อรู้ตัวว่าตั้งท้องแล้วก็ให้รีบไปฝากครรภ์ให้เร็วที่สุดหรือให้ดีที่สุดก็คือภายในอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ค่ะ เมื่อคุณแม่ไปฝากท้อง คุณหมอหรือพยาบาลจะมีการแนะนำข้อควรปฏิบัติ ทั้งการดูแลตนเอง การดูแลลูกในครรภ์ รวมถึงการกินอาหารที่เหมาะสม และดูแลคุณแม่ไปจนตลอดการตั้งครรภ์ค่ะ

     โดยในขั้นตอนของการฝากท้อง คุณหมอจะมีการตรวจเลือดเพื่อนำไปประเมินภาวะสุขภาพของคุณแม่และของทารกในครรภ์ รวมถึงคัดกรองภาวะเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ ส่วนใหญ่ก็จะดูว่ามีการติดเชื้อต่างๆ หรือไม่รวมถึงความผิดปกติทางพันธุกรรมที่คนในครอบครัวอาจจะมีประวัติมาก่อน ส่วนการตรวจปัสสาวะจะเป็นการคัดกรองเบื้องต้นเพื่อตรวจหาโรค เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงหรือแม้แต่การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะซึ่งพบได้บ่อยในสตรีตั้งครรภ์ ซึ่งในขั้นตอนนี้คุณพยาบาลจะแนะนำว่าให้คุณแม่งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง เพื่อให้ได้ผลตรวจที่แม่นยำมากขึ้นค่ะ

 

 

อ้างอิง

 

 

บทความที่คุณอาจสนใจ

 

ยอดนิยมในตอนนี้

สิทธิประโยชน์แนะนำ

แท็กยอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
สัมผัสโลกไร้ขีดจำกัดกับทรูไอดี