ภาพประกอบปกบทความจาก freepik ยาแต่ละชนิดไม่ว่าจะเป็นยารูปแบบใดก็ตาม เมื่อเข้าสู่ร่างกายก็อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงอย่างใดอย่างหนึ่งกับเราได้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อรับประทานยาแก้แพ้ลดน้ำมูกที่เป็นยากลุ่มเก่าอาจะทำให้รู้สึกง่วงซึม หรือหลังรับประทานยาแก้ปวดลดอักเสบขณะท้องว่างจะมีอาการปวดแสบปวดร้อนบริเวณกระเพาะอาหาร เป็นต้น ซึ่งอาการข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นนั้นโดยทั่วไปจะสัมพันธ์กันกับกลไกการออกฤทธิ์ของยา แต่หนึ่งในอาการข้างเคียงของยาที่เกิดขึ้นค่อนข้างน้อยแต่ก็สามารถพบได้ และยังไม่สามารถบอกกลไกการเกิดได้อย่างชัดเจนก็คือ อาการเหงือกบวมโต แถมยังเป็นอาการที่พบได้น้อยมาก ๆ อีกด้วย ภาพประกอบจาก freepik ไม่นานมานี้ผู้เขียนมีโอกาสได้เจอกับผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งซึ่งมาโรงพยาบาลเพื่อมาหาหมอฟันด้วยภาวะเหงือกบวมโตผิดปกติ หลังจากได้รับการตรวจจากทันตแพทย์แล้ว ผู้ป่วยก็ได้รับการส่งต่อมายังเภสัชกรเพื่อสืบหาสาเหตุของภาวะเหงือกบวมที่เกิดขึ้นต่อไปว่าเกี่ยวข้องกับยาที่กำลังใช้อยู่หรือไม่ ผู้ป่วยรายนี้ไม่ใช่ผู้สูงอายุที่ฟันหลุดร่วงเองตามธรรมชาติแต่อย่างใด ไม่มีประวัติประสบอุบัติเหตุหรือได้รับการกระทบกระทั่งบริเวณฟันหน้ามาก่อน แต่มีประวัติเคยได้รับยาลดความดันชนิดหนึ่งซึ่งเป็นยาในกลุ่ม แคลเซียมแชเนลบล็อกเกอรส์ (Calcium Channel Blockers : CCBs) ยากลุ่ม CCBs นั้น เป็นยาที่ใช้ลดความดันโลหิตตามแนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูงโดยทั่วไป จากประวัติพบว่าผู้ป่วยได้รับประทานยาชนิดนี้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาหลายปี และในระหว่างที่รับประทานยานั้นก็เริ่มมีภาวะเหงือกบวมขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะบริเวณฟันหน้าทั้งหมด จนกระทั่งส่งผลให้เกิดการฟันโยกจึงต้องมาโรงพยาบาลเพื่อถอนฟันในที่สุด และเนื่องจากไม่พบสาเหตุอื่นที่อาจทำให้เกิดภาวะเหงือกบวมโตได้ ดังนั้นภาวะเหงือกบวมโตในหญิงรายนี้จึงอาจเกี่ยวข้องกับยาที่กำลังรับประทานอยู่ ภาพประกอบจาก freepik ยาทำให้เกิดเหงือกบวมได้อย่างไร การใช้ยาในกลุ่ม CCBs อาจส่งผลให้มีการเพิ่มจำนวนหรือมีการขยายตัวอย่างผิดปกติของเซลล์หรือเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่บริเวณเหงือก นอกจากนี้ยังอาจเกิดการกระตุ้นการอักเสบบริเวณเหงือก ทำให้เซลล์มีการหลั่งสารสื่ออักเสบต่าง ๆ ออกมาและทำให้เหงือกบวมโตยิ่งขึ้น สาเหตุของการเกิดความผิดปกตินี้หลังใช้ยาก็ยังไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัด แต่คาดว่าอาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมของเซลล์ที่ใช้ในการสร้างเส้นใยเหงือก และนอกจากยากลุ่ม CCBs ก็ยังมียาชนิดอื่นที่สามารถทำให้เกิดภาวะเหงือกบวมโตได้ เช่น กลุ่มยากันชักหรือยารักษาโรคลมชัก ยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามภาวะเหงือกบวมผิดปกติจากการใช้ยาสามารถเกิดขึ้นได้น้อยมาก ซึ่งสามารถพบได้ในผู้ใช้ยาบางรายเท่านั้น ภาพประกอบจาก freepik ควรทำอย่างไรหากสงสัยว่าเหงือกบวมจากยา โดยทั่วไปนั้นภาวะเหงือกบวมโตจากยาสามารถพบได้น้อยมาก ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลใจไปหากว่าท่านกำลังรับประทานยากลุ่มต่าง ๆ ที่กล่าวไว้ข้างต้น แต่หากรับประทานยาแล้วพบว่าตนเองมีอาการเหงือกบวมโตขึ้น ก็ควรที่จะมาโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจหาสาเหตุต่อไปเนื่องจากอาการเหงือกบวมอักเสบอาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้เช่นกัน และสิ่งสำคัญก็คือไม่ควรที่จะหยุดรับประทานยาเองอย่างเด็ดขาด เพราะอาจส่งผลเสียต่อโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ หรืออาจทำให้ภาวะกำเริบได้ ยกตัวอย่างเช่นหากมีการหยุดยากันชักเองโดยไม่ได้แจ้งแพทย์ อาจส่งผลให้เกิดภาวะโรคลมชักกำเริบและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ภาพประกอบจาก freepik การรักษาภาวะเหงือกบวมโตจากยา เมื่อพบว่าอาการเหงือกบวมที่เกิดขึ้นนั้นสัมพันธ์กับยาที่ได้รับ แพทย์จะทำการหยุดยาที่เป็นสาเหตุ ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสุขภาพในช่องปาก หรืออาจมีการให้ยาลดการอักเสบและยาปฏิชีวนะหากมีความจำเป็นต้องใช้ ซึ่งหากมีอาการเหงือกบวมโตไม่มากนัก หรือเกิดขึ้นหลังเริ่มใช้ยาไม่นาน เมื่อหยุดยาภาวะเหงือกบวมโตที่เกิดขึ้นก็สามารถทุเลาลงได้ภายใน 1-8 สัปดาห์ แต่หากมีภาวะเหงือกผิดรูปไปมากหลังหยุดยาก็จะไม่สามารถกลับไปเป็นปกติได้โดยสมบูรณ์และอาจจะต้องใช้การผ่าตัดศัลยกรรมช่วย จากเรื่องราวเกี่ยวกับภาวะเหงือกบวมโตหลังการใช้ยาที่กล่าวไปในข้างต้นนี้ จะเห็นได้ว่ายังมีอาการข้างเคียงต่าง ๆ อีกที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยที่ตัวผู้ป่วยนั้นอาจจะไม่ทราบว่าเกิดขึ้นจากยาที่ใช้อยู่ และแพทย์หรือเภสัชกรก็อาจจะไม่ได้แจ้งเนื่องจากเป็นอาการข้างเคียงที่พบได้น้อยมาก ๆ ดังนั้นหากหลังใช้ยาแล้วพบว่ามีอาการผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้นก็ควรที่จะกลับมาปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อทำการวินิจฉัยและหาสาเหตุต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยไม่ควรที่จะหยุดยาเองเพราะคิดว่าอาการข้างเคียงนั้นเกิดจากยา เพราะหากไม่ใช่อาการข้างเคียงจากยานั้น ก็จะทำให้ท่านสูญเสียโอกาสในการใช้ยานั้นเพื่อรักษาโรคได้ค่ะ