อาภรณ์การแต่งกายของแต่ละภูมิภาค แต่ละท้องถิ่น แต่ละกลุ่มชน ย่อมมีรูปลักษณ์เฉพาะตัวเฉพาะถิ่นที่มีความหลากหลาย เป็นวิถีเป็นวัฒนธรรมที่คงค่ามายาวนาน ซึ่งมีการตกทอดสืบสานกันมาจากยุคสู่ยุค ลองมาดูวัฒนธรรมอาภรณ์การแต่งกายของบรรดาสตรีมุสลิมในแถบถิ่นสามจังหวัดชายแดนใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ว่ามีรูปลักษณ์การแต่งกายด้วยอาภรณ์เช่นไร อาภรณ์สตรีมุลิมรูปลักษณ์แบบชายแดนใต้ ภาพโดย : ผู้เขียน อาภรณ์มุสลิมใต้ ภาพโดย : ผู้เขียน ผู้รู้ทางศาสนาท่านหนึ่งในจังหวัดปัตตานี ได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับลักษณะอาภรณ์การแต่งกายของผู้หญิงมุสลิมว่า... ต้องเป็นเสื้อผ้าที่มีการปกปิดเรือนร่างอย่างมิดชิด ไม่เผยให้เห็นสัดส่วนใดของเรือนร่าง นั้นหมายถึงทุกส่วนของร่างกาย ยกเว้นใบหน้า และฝ่ามือ และไม่เป็นเสื้อผ้าที่รัดรูป แนบชิดแนบเนื้อ หรือเป็นเสื้อผ้าที่มีผืนเนื้อผ้าโปร่งบาง ที่สามารถมองเห็นทะลุปรุโปร่ง ไปยังผืนผิวหรือเรือนร่างภายในได้ ผู้รู้ท่านนั้น ยังได้ขยายความต่อไปยัง คำถามที่ว่า “แล้วฮิญาบ ล่ะ มีความสำคัญเช่นใดของบรรดาสตรีมุสลิม” คำว่า “ฮิญาบ” แปลว่าปกปิดหรือสกัดกั้น เป็นผ้าที่สตรีมุสลิมให้คลุมศีรษะ ทั้งนี้ตามหลักการศาสนาสอนไว้ว่า เป็นอาภรณ์ที่สามารถเป็นเกราะป้องกันให้ปลอดภัยจากการลวนลาม และแทะโลมทั้งจากสายตาและวาจาจากบุรุษเพศ การแต่งชุดฮิญาบมิได้เป็นเรื่องใหม่ในสังคม แต่เป็นเรื่องของการแต่งกายตามบัญญัติของศาสนา ที่ตระหนักถึงความงดงามของความศรัทธาในหลักคำสอนของศาสนา ที่สำคัญเป็นการลดอารมณ์ฝ่ายต่ำอันที่จะเกิดจากการมองของบุรุษเพศ เพราะนั่นหมายถึงไม่เผยความยั่วยวนให้เห็นถึงรูปโฉม เรือนร่างและศีรษะแบบโจ่งแจ้งใดๆ อ้างถึงฮิญาบhttps://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AE%E0%B8%B4%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%9A ที่นี้หันมากล่าวถึงอาภรณ์การแต่งกายสตรีมุสลิม ที่นอกจากจะซื้อหามาจากร้านรวงที่จำหน่ายเสื้อผ้าแนวสตรีมุสลิม ซึ่งมีมากมายในแถบถิ่นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ยังมี “ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า” ที่ตัดชุดเพื่อสนองตอบความต้องการของกลุ่มลูกค้า ตามแบบที่ตนเองต้องการ นางสิตีหวอ หมั่นอู อีกหนึ่งช่างตัดเย็บเสื้อผ้าสตรีมุสลิม ร้านตั้งอยู่ในซอยพิกัดตรงข้ามโรงเรียนเมืองปัตตานี ตำบลบานา อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เป็นร้านที่ตัดเสื้อให้ลูกค้ามากว่า 30 ปี เป็นที่นิยมของลูกค้าไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน สตรีวัยรุ่น และแม้แต่กลุ่มข้าราชการ นางสิตีหวอ หมั่นอู : ช่างตัดเย็บเสื้อผ้าในปัตตานี ภาพโดย : ผู้เขียน ต่อข้อถามที่ว่า ชุดอาภรณ์แบบฉบับสตรีมุสลิม ลูกค้าจะมาให้บริการในช่วงใด นางสิติหวอฯ หรือ “เมาะเต๊ะ” หรือ “ก๊ะ” ซึ่งเป็นคำเรียกของกลุ่มลูกค้าเรียกตามความคุ้นเคย บอกว่า ลูกค้าที่มาตัดชุดส่วนใหญ่จะมาตัดปกติ แต่มีลูกค้ากลุ่มหนึ่งที่เป็นลูกค้าประจำจะมาตัดเพื่อใช้สวมใส่ไปงานมงคลสมรส ซึ่งกลุ่มนี้จะมาบ่อย อีกช่วงคือช่วงก่อนจะถึงเทศกาลวันฮารีรายอ(หรือวันอีด) ของชาวมุสลิม และบรรดาลูกค้ากลุ่มค้าข้าราชการจะมาตัดชุดตามเทศกาล หรือใช้สวมใส่ในกิจกรรมขององค์กร และส่วนใหญ่จะมาเป็นกลุ่มตัดชุดเหมือนๆกัน ผ้าสีเดียวกันแบบเดียวกัน ภาพโดย : ผู้เขียน ภาพโดย : ผู้เขียน ภาพโดย : ผู้เขียน ภาพโดย : ผู้เขียน ภาพโดย : ผู้เขียน ภาพโดย : ผู้เขียน ภาพโดย : ผู้เขียน จะเห็นได้ว่า อาภรณ์ของสตรีมุสลิมชายแดนใต้ นอกจากถูกออกแบบมาเพื่อปกปิดเรือนร่างให้ถูกหลักตามศาสนาแล้ว ในยุคปัจจุบันเป็นยุคแห่งสื่อสารไร้พรมแดน เรื่องราวของแฟชั่นการแต่งกายสามารถเสาะหามาเพื่อประดับหรือตัดเย็บตามแบบฉบับที่ต้องการได้ เช่นกันอาภรณ์ของสตรีมุสลิมก็ย่อมหนีไม่พ้นการถูกดีไซน์มาตามความเป็น “แฟชั่น” ด้วยเช่นกัน แต่กระนั้นก็ยังคงรักษาคอนเซ้ปของความเป็นมุสลิมอยู่ในตัวอยู่แล้ว บางชุดของอาภรณ์ลูกค้าจากร้านสิติหวอฯ เพื่อสวมใส่ในวันฮารีรายอของชาวมุสลิม ภาพโดย : ผู้เขียน Anusorn Ninuan : True ID in trend : เรื่อง-ภาพ