โรคจากการประกอบอาชีพ คนทำงานสวนยางพารา ความเสี่ยงที่หลายคนไม่รู้ทุกอาชีพมีความเสี่ยงด้านสุขภาพ ทุกอาชีพมีโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ในระหว่างที่ประกอบอาชีพ เพราะในระหว่างที่เราทำงานไปนั้นเรามีโอกาสสัมผัสหรือเกี่ยวข้องกับเหตุหรือปัจจัยบางอย่างที่เป็นสาเหตุของความเจ็บป่วยต่างๆ ค่ะ โดยความเจ็บป่วยหรือปัญหาทางด้านสุขภาพที่เกิดจากการประกอบอาชีพของแต่ละคนจะแตกต่างกันออกไป เพราะระยะเวลาในการสัมผัสปัจจัยหนึ่งต่างกัน และด้วยพื้นฐานสุขภาพของแต่ละคนที่ต่างกัน อายุ เพศและอื่นๆ ที่ต่างกัน จึงทำให้ความรุนแรงของความเสี่ยงต่างๆ แตกต่างกันออกไปด้วยค่ะ คนทำสวนยางพาราหรือคนที่มีอาชีพกรีดยางพาราเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่สามารถพบเห็นกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะตอนหลังมาที่มีการส่งเสริมให้เกษตรกรมีการปลูกยางพารามากขึ้นในทุกภูมิภาคของประเทศไทย ดังนั้นในบทความนี้ผู้เขียนอยากส่งต่อเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับโรคที่สามารถเกิดได้จากการประกอบอาชีพสวนยางพารา จะว่าเป็นปัญหาสุขภาพหรือความเสี่ยงด้านสุขภาพก็ได้ในบางคนนะคะเพราะในบางครั้งบางปัจจัยยังไม่ได้ทำให้เกิดโรคได้ ดังนั้นมารู้ต่อกันดีกว่าค่ะว่าการทำสวนยางพารามีความเสี่ยงด้านสุขภาพอะไรบ้างที่ควรรู้‼️1. การสัมผัสกับสารเคมี การประกอบอาชีพสวนยางพาราในขั้นตอนของการหยอดน้ำกรดเพื่อทำให้น้ำยางพาราจับตัวกันเป็นก้อนแข็งนั้น มีความจำเป็นต้องใช้น้ำกรด ซึ่งเป็นไปได้ทั้งกรดฟอร์มิกและกรดซัลฟูริก โดยตัวอย่างของน้ำกรดทั้ง 2 ชนิดนี้ผู้เขียนมีประสบการณ์ตรงโดยเก็บข้อมูลมาจากการสังเกตเห็นคนในครอบครัวนำมาใช้ในขั้นตอนหลังจากกรีดยางพาราแล้วค่ะ การสัมผัสกับน้ำกรดทำให้เกิดการระคายเคืองที่ผิวหนัง ถึงแม้ว่าน้ำกรดดังกล่าวจะยังไม่ใช่น้ำกรดที่มีความเข้มสูง แต่การสัมผัสกับน้ำกรดก็ทำให้มีอาการคัน แสบร้อนและมีผื่นแดงที่ผิวหนังบริเวณที่โดนน้ำกรดได้ค่ะ โดยเฉพาะการสัมผัสกับน้ำกรดเป็นเวลานานและไม่สามารถทำความสะอาดผิวหนังได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที เพราะส่วนมากแล้วสวนยางพารามักรองน้ำฝนเอาไว้ชำระล้างซึ่งอาจจะไม่ได้สะอาดมากนักและไม่มีสบู่หรือน้ำยาทำความสะอาดที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังมีโอกาสเสี่ยงจากการสัมผัสกับสารเคมีปราบศัตรูพืช ปุ๋ยเคมีและอื่นๆ ในลักษณะนี้ที่นำมาใช้ในสวนยางพาราด้วยค่ะ โดยสารเคมีปราบศัตรูพืชบางชนิดมีความสามารถซึมเข้าไปตามรูขุมขนและสะสมในร่างกายของคนเราและนำความเจ็บป่วยมาให้ในภายหลังค่ะ2. การสัมผัสกับเชื้อโรค ปกติแล้วหากคนทำสวนยางพาราไม่ได้มีบาดแผลที่สามารถเป็นทางเข้าของเชื้อโรคต่างๆ เข้าสู่ร่างกายได้แล้ว การทำสวนยางพารายังมีความเสี่ยงที่เกี่ยวกับเชื้อโรค เพราะด้วยอากาศที่ร้อนชื้นตลอดเวลาทำให้สภาพอากาศในสวนยางพาราสามารถนำมาซึ่งความเสี่ยงที่มากับอากาศที่สูดดมเข้าไปได้ค่ะโดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคภูมิแพ้ค่ะ อีกทั้งยุงยังเป็นต้นเหตุของเชื้อโรคต่างๆ ที่นำมาซึ่งปัญหาด้านสุขภาพได้ค่ะ เช่น โรคไข้เลือดออก เพราะในสวนยางพารายุงเยอะมากค่ะโดยเฉพาะในหน้าฝน จึงทำให้เป็นจุดเสี่ยงต่อการสัมผัสกับเชื้อโรคที่มียุงเป็นพาหนะนำโรคค่ะ3. ท่าทางในการทำงานที่ไม่เหมาะสม การทำงานในสวนยางพารามีการทำงานที่ใช้หลากหลายท่าทาง ถึงแม้ว่าในบางท่าทางจะเกิดขึ้นภายในช่วงเวลาสั้นๆ ก็ตาม แต่บางท่าทางเป็นท่าทางที่ไม่เหมาะสม เช่น การก้มมากเกินไป การเงยมากเกินไป และการยืนนานกว่าปกติ เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงทำให้คนทำสวนยางพาราเกิดปัญหาเกี่ยวกับความปวดเมื่อยตามบริเวณกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกายมากกว่าปกติ โดยเฉพาะคนที่มีน้ำหนักตัวเยอะเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อีกทั้งการกรีดยางคนทำสวนยางต้องถือมีดกรีดยางที่มีน้ำหนักพอสมควรเป็นระยะเวลานาน ทำให้มีโอกาสเกิดความเสี่ยงของกล้ามเนื้อและกระดูกบริเวณข้อมือ กรณีนี้ผู้เขียนได้พบเห็นตัวอย่างจริงมาแล้วค่ะ โดยเป็นคนข้างบ้านที่มีข้อมือบดเบี้ยวและผิดรูปจากการกรีดยางพาราด้วยท่าทางเดิมๆ เป็นระยะเวลานานหลายชั่วโมงต่อหนึ่งวัน สะสมมานานหลายปีและไม่ได้สังเกตจนมารู้ตัวอีกทีมือก็ผิดรูปไปเรียบร้อยแล้วค่ะ4. ความเครียดจากการทำสวนยางพารา ถึงแม้ว่าคนทำสวนยางพาราจะเป็นเพียงการทำงานเกี่ยวกับการเกษตรที่หลายคนอาจมองว่าไม่น่าจะมีปัญหาหรือความเครียดอะไร แต่ในความเป็นจริงคือ คนทำงานสวนยางพารายังมีความเครียดเกิดขึ้นที่เกี่ยวข้องในระหว่างประกอบอาชีพทำสวนยางพาราค่ะ ความเครียดที่เกิดขึ้นสามารถมีความแตกต่างกันไปในแต่ละคน เช่น- ฤดูฝนที่ทำให้ไม่สามารถกรีดยางพาราได้ตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้- ราคาของยางพาราที่มีความผันผวนไปตามสภาพเศรษฐกิจ- การกรีดยางไม่ได้ตามแผนที่วางไว้ ทำให้คนรับจ้างกรีดยางเกิดความเครียดเพราะอาจถูกเลิกจ้างหรือมีความเครียดจากการถูกกดดันจากนายจ้าง- ภาระงานที่มีมากและมีสิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องและหลากหลาย เช่น การใส่ปุ๋ยยางพารา การตัดหญ้าในสวนยางพารา การกรีดยางพารา การหยอดน้ำกรด การเก็บขนยางพาราไปขาย การกำจัดวัชพืชในรูปแบบอื่นๆ ด้วยเหตุดังกล่าวจึงทำให้คนทำสวนยางพาราเครียดจากภาวะงานล้นมือ- ความเครียดที่เกิดจากความกลัวโดยเฉพาะคนทำสวนยางพาราที่อยู่ในเขตที่มีช้างป่าหรือสัตว์ป่าอื่นๆ 5. อุบัติเหตุที่สามารถเกิดขึ้นได้ในสวนยางพารา หากใครเคยไปสวนยางพาราจะพบว่าภายในสวนยางพาราก็คล้ายป่าค่ะ ที่จะมีกิ่งของต้นยางพาราที่ตกกระจายอยู่ทั่วไปภายในสวน ต้นไม้เล็กๆ และเถาวัลย์ต่างๆ ที่เกิดแทรกระหว่างต้นยาง หลุมและบ่อที่เกิดจากการกัดเซาะของน้ำฝนไหลหลากตามธรรมชาติ ทำให้พื้นที่ภายในสวนยางไม่ได้ราบเรียบเสมอกันเหมือนพื้นคอนกรีต จากสภาพแวดล้อมข้างต้นทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นจากการหกล้ม อุบัติเหตุจากการทิ่มแทงของกิ่งไม้ในระหว่างตัดหญ้าหรือในระหว่างการกรีดยาง เพราะโดยส่วนใหญ่คนทำสวนยางพาราจะเลือกไปกรีดยางในเวลากลางคืน จึงทำให้การมองเห็นทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร จึงทำให้มีความเสี่ยงด้านสุขภาพตามมาค่ะ6. ความเสี่ยงด้านสุขภาพจากสัตว์และแมลงพาหนะนำโรค รวมทั้งสัตว์ป่าด้วยนะคะ การทำอาชีพสวนยางพาราเห็นได้ชัดเจนมากหากพูดถึงสัตว์และแมลงพาหนะนำโรคค่ะ เพราะแมลงต่างๆ เยอะ โดยเฉพาะยุงลาย ถึงแม้ว่าจะเป็นการเข้าไปในสวนบางพาราในช่วงกลางวันก็ตามค่ะ สำหรับสัตว์ป่านั้นจะเป็นความเสี่ยงเฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น โดยส่วนตัวผู้เขียนยังไม่เคยเห็นคนถูกทำร้ายจากสัตว์ป่าค่ะ แต่เคยเห็นร่องรอยที่มีช้างป่าเข้ามาในเขตสวนยางพารา ในส่วนของยุงนั้นมักมากัดบริเวณข้างใบหูหรือส่วนอื่นๆ ที่ไม่ได้ปกปิดมิดชิดค่ะ ยุงกัดแต่ละทีมากกว่าหนึ่งตัวค่ะ แมลงอื่นๆ ที่สามารถส่งผลต่อสุขภาพได้ เช่น มดคันไฟ แตน งู ตะขาบ แมงป่อง ผึ้ง เป็นต้นและทั้งหมดคือความเสี่ยงด้านสุขภาพของคนทำอาชีพสวนยางพาราค่ะ ไม่ใช่บทความนี้มาบอกให้เลิกทำสวนยางพารานะคะ แต่การรู้ถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพว่ามีอะไรบ้างทำให้เรามีความตระหนักมากขึ้นและสามารถค้นหาแนวทางมาดูแลสุขภาพตัวเองเพื่อให้ห่างไกลความเจ็บป่วยหรือลดความเสี่ยงลงค่ะ โดยส่วนตัวเคยเห็นพ่อมีบาดแผลจากการไปตัดหญ้าในสวนยางพารา และทุกคนที่ไปสวนยางพาราเจอยุงกัดค่ะ มีเดินหกล้มบ้าง ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อคือสิ่งที่ผู้เขียนได้ยินจากปากคนทำสวนยางพาราเลยค่ะ ปวดขาจากการยืนนาน และความเครียดก็พบเห็นได้บ่อย เพราะจะพากันบ่นโดยเฉพาะในช่วงหน้าฝนที่ไปกรีดยางพาราไม่ได้และช่วงราคาของยางพาราลดลงดังนั้นลองอ่านและทำความเข้าใจดูค่ะ เพราะอย่างน้อยหากเรามองเห็นภาพว่ามีความเสี่ยงอะไรบ้าง จุดนี้เองจะทำให้เราหันมาดูแลและใส่ใจสุขภาพตัวเองมากขึ้นควบคู่ไปกับการทำอาชีพสวนยางพาราค่ะ ที่ทำได้ง่ายๆ อย่างแรกเป็นเรื่องการใส่เสื้อผ้าให้มิดชิดเพื่อป้องกันยุงค่ะ รักษาความสะอาดในสวนยางพาราเพื่อทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้นและลดจุดอับที่สามารถเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์มีพิษต่างๆ ตรวจสอบเครื่องมือต่างๆ ให้ปลอดภัยก่อนนำมาใช้งาน ลดการใช้ยาปราบศัตรูพืช สวมใส่ถุงมือหรือหาอุปกรณ์ที่ปลอดภัยมาใส่น้ำกรด พกสบู่หรือน้ำยาทำความสะอาด ทำความสะอาดร่างกายและเปลี่ยนเสื้อผ้าทันทีหลังจากทำงานแล้ว และอีกอย่างที่ต้องทำคือหาเวลาผ่อนคลายและลดความเครียดลงค่ะ การลดความเสี่ยงสามารถเริ่มได้จากจุดเล็กๆ เริ่มจากเรื่องใกล้ตัวเริ่มจากจุดที่เป็นไปได้และเลือกใช้วิธีอื่นที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าแทนวิธีที่มีความเสี่ยงมากค่ะ จึงหวังว่าบทความนี้จะช่วยทำให้คุณผู้อ่านมองเห็นภาพมากขึ้นค่ะว่าตะต้องดูแลตัวเองยังไงหากยังต้องประกอบอาชีพสวนยางพาราต่อไป ซึ่งแน่นอนว่าก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย‼️เครดิตภาพประกอบบทความถ่ายภาพโดย ผู้เขียนออกแบบภาพหน้าปกใน Canvaบทความอื่นที่น่าสนใจ7 วิธีมีความสามารถดูแลสุขภาพของตัวเองได้ ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต9 สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ และปัญหาด้านสุขภาพ ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อนตัวอย่างความเสี่ยงด้านสุขภาพของคนทำงานเก็บขนขยะ อันตรายที่หลายคนคาดไม่ถึง เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !