หลังจากพบว่าตนเองตั้งครรภ์ หรือตั้งท้องแล้ว สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่แทบจะทุกคนนึกถึงเป็นลำดับถัดไป ก็คือ การไปฝากครรภ์ เพื่อให้คุณหมอได้ช่วยดูแลเจ้าตัวน้อยในท้องให้สุขภาพแข็งแรงจนถึงวันคลอด แต่คุณแม่หลาย ๆ ท่าน อาจมีความกังวล ไม่แน่ใจว่าไปถึงโรงพยาบาล หรือคลินิกฝากครรภ์แล้ว คุณหมอจะทำอะไรบ้าง โดยเฉพาะตั้งครรภ์ลูกคนแรก ยังไม่มีประสบการณ์เลย ก็จะอยากรู้รายละเอียดก่อน เพื่อได้เตรียมตัวเตรียมใจไปฝากครรภ์ได้ถูกต้องใช่ไหมคะ เครดิตรูปภาพ: สื่อมัลติมีเดียกรมอนามัย (Link) วันนี้เจ้าของบทความเลยจะมาช่วยรีวิวเป็นข้อมูลให้คุณแม่ทุก ๆ ท่าน ว่า "ฝากครรภ์ครั้งแรก" ต้องทำอะไรบ้าง อันดับแรกเลยก็คือ ต้องเลือกก่อนว่าจะไปฝากครรภ์ที่ไหน โดยคนไทยเราสามารถฝากครรภ์ได้ตั้งแต่ทราบว่าตนเองตั้งครรภ์ จนกระทั่งถึงคลอด รับยาบำรุงครรภ์ ตรวจอัลตราซาวน์ต่าง ๆ โดยไม่เสียเงินเลย ได้ที่โรงพยาบาลของรัฐค่ะ หรือถ้าคุณแม่ท่านไหนสะดวกที่คลินิก หรือโรงพยาบาลเอกชน ก็จะมีข้อดีคือ ไปนอกเวลาราชการได้ สำหรับคุณแม่ที่ทำงานประจำ ไม่สามารถออกมาหาคุณหมอได้ในวันทำงานนั่นเอง แต่จะมีค่าใช้จ่ายมากน้อยแล้วแต่สถานที่ค่ะ สำหรับสถานที่ฝากครรภ์ เจ้าของบทความขอแนะนำให้เป็นโรงพยาบาลในชุมชนของตัวเอง หรือคลินิกที่อยู่ใกล้บ้านนะคะ เพราะจะต้องมีนัดดูแลต่อเนื่องทุก ๆ 1-3 เดือน ตามที่คุณหมอกำหนด แถมช่วงใกล้ ๆ คลอด คุณหมอจะนัดถี่ขึ้น ประมาณสัปดาห์ละครั้งเลยค่ะ ถ้าหากเลือกสถานที่ใกล้บ้าน ก็จะไปมาสะดวก ไม่เหนื่อยเดินทางสำหรับคุณแม่นะคะ เมื่อเลือกสถานที่ได้เรียบร้อยแล้ว เราก็มาเตรียมตัวไปฝากครรภ์กันค่ะ สิ่งที่ต้องเตรียมไปโรงพยาบาล มีดังนี้ค่ะ บัตรประชาชนของทั้งคุณพ่อและคุณแม่ ใช้ในการเปิดสิทธิ์การรักษาพยาบาล โดยจะต้องใช้ทั้งของคุณแม่และคุณพ่อนะคะ เพราะมีการเจาะเลือดตรวจทั้งสองคนเลยค่ะ ข้อมูลเกี่ยวกับโรคประจำตัว และประวัติการรักษาพยาบาลของคุณแม่ เพื่อให้คุณหมอได้ช่วยประเมินภาวะเสี่ยงในการตั้งครรภ์ได้ถูกต้องค่ะ ยาที่คุณแม่ใช้เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นยารักษาโรคประจำตัว หรือยาบำรุงอื่น ๆ นำไปเพื่อให้คุณหมอพิจารณาถึงผลข้างเคียง ว่ากระทบต่อสุขภาพของลูกน้อยหรือเปล่า จะต้องมีการเปลี่ยนยาไปใช้ตัวอื่นระหว่างตั้งครรภ์หรือไม่ หากได้จดวันที่มีประจำเดือนครั้งสุดท้ายก่อนทราบว่าตั้งครรภ์ไว้ ว่าเป็นวันที่เท่าไหร่บ้าง ให้เอาไปโรงพยาบาลด้วย เพื่อให้คุณหมอคำนวนอายุครรภ์ และวันกำหนดคลอดให้ได้แบบแม่นยำที่สุดนะคะ เครดิตรูปภาพ: - MIU - ทีนี้ก็มาถึงสิ่งที่หลาย ๆ ท่านสงสัย ก็คือ พอไปถึงโรงพยาบาล เปิดสิทธิ์เรียบร้อยแล้ว จะได้ทำอะไรบ้าง อันดับแรกเลยจะมีคุณพยาบาลมาช่วยซักประวัติก่อนไปพบคุณหมอ จะถามพวกข้อมูล วันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย การคุมกำเนิดที่เคยใช้ก่อนหน้านี้ โรคประจำตัวของเรา ประมาณนี้ค่ะ แล้วก็จะชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดไข้ วัดความดันให้เรียบร้อยก่อนเข้าไปพอคุณหมอค่ะ รอคิวจนได้เข้าไปพบคุณหมอแล้ว ก็จะได้ตอบคำถามของคุณหมออีกรอบหนึ่งค่ะ โดยคุณหมอถามเกี่ยวกับวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย วันที่มีเพศสัมพันธ์ ประจำเดือนรอบก่อน ๆ แล้วก็ถามว่าทราบได้อย่างไรว่าตั้งท้องค่ะ ซึ่งคุณหมอก็จะเอาข้อมูลไปเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินอายุครรภ์นั่นเอง นอกจากนั้นก็จะถามเกี่ยวกับสุขภาพทั่ว ๆไป เพื่อประเมินความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ค่ะ ต่อมาก็จะเป็นการตรวจภายใน และตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เจ้าของบทความแนะนำให้คุณแม่ใส่กระโปรง หรือใส่กางเกงที่ถอดเปลี่ยนได้ง่ายไปตรวจนะคะ เพราะจะต้องเปลี่ยนผ้าถุงด้วย จะได้สะดวกค่ะ หลังจากนั้นคุณหมอจะตรวจอัลตราซาวน์ให้ เพื่อดูถุงการตั้งครรภ์ และวัดความยาวลูกในครรภ์ เพื่อนำมาคิดอายุครรภ์ เปรียบเทียบกับประวัติประจำเดือนของเราค่ะ ถ้าเกิดว่าน้องเริ่มตัวใหญ่ซักหน่อย ประมาณอายุครรภ์ 2 เดือน คุณหมอจะชี้หัวใจของน้องให้เราดูด้วยค่ะ ต่อไปก็เป็นการตรวจเลือด โดยคุณหมอจะให้เจาะเลือดไปตรวจหลายอย่าง ทั้งความเข้มข้นของเลือด ลักษณะเม็ดเลือด ตรวจนับเม็ดเลือด หมู่เลือด ตรวจการติดเชื้อพวกซิฟิลิซ เชื้อไวรัสตับอักเสบ เชื้อ HIV ซึ่งจะมีผลกับลูกน้อยในท้องได้ถ้าไม่ได้รับการรักษาค่ะ ส่วนคุณพ่อก็จะได้เจาะเลือดเหมือนกัน เพื่อตรวจคล้าย ๆ กัน แล้วคุณหมอจะนัดมาฟังผลอีกที ประมาณ 1-2 สัปดาห์ค่ะ จะได้ไม่ต้องรอผลออกอยู่ที่โรงพยาบาล เครดิตรูปภาพ: - MIU - 6. นอกจากตรวจเลือดแล้ว คุณแม่จะได้ตรวจปัสสาวะด้วย เพื่อตรวจยืนยันการตั้งครรภ์ ตรวจระดับโปรตีนและน้ำตาลในปัสสาวะ รวมถึงตรวจดูการติดเชื้อในระบบปัสสาวะด้วย ซึ่งถึงแม้จะไม่มีอาการผิดปกติ แต่จะทำให้เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดได้ค่ะ 7. เสร็จกระบวนการทุกอย่างแล้ว คุณหมอก็จะแนะนำการใช้สมุดฝากครรภ์เล่มสีชมพู แล้วก็ให้คำแนะนำในการดูแลตัวเอง จ่ายยาบำรุงครรภ์ให้มากินต่อที่บ้านค่ะ เป็นอันว่าเรียบร้อยแล้วสำหรับการฝากครรภ์ครั้งแรก เครดิตรูปภาพ: ปกสมุดฝาครรภ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สามารถ Download เล่มฉบับเต็มได้ที่ http://hp.anamai.moph.go.th/main.php?filename=index2 ตรงเมนู คู่มือสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก ภาษาไทย นะคะ) ทั้งหมดของการฝากครรภ์ครั้งแรกก็เป็นประมาณนี้ค่ะ สำหรับคุณแม่หลาย ๆ ท่าน ที่กำลังตั้งครรภ์ท้องแรก และสงสัยเรื่องการฝากครรภ์ ก็หวังว่าจะได้รับข้อมูลเพิ่มเติมจากบทความนี้นะคะ :)