เสื้อวินเทจเป็นหนึ่งในไอเทมสำคัญที่ผู้หลงใหลในแฟชั่นย้อนยุคปรารถนาจะมีไว้ใส่และสะสม เสื้อวินเทจบางตัวอาจมีราคาหลักร้อย หลักพัน ไปจนถึงหลักหมื่น ซึ่งสำหรับมือใหม่เพิ่งเข้าสู่วงการอาจงงว่าทำไมเสื้อตัวนี้ถึงมีราคาแพงกว่าตัวนั้น แล้วเสื้อวินเทจแบบไหนที่เขาฮิตกัน วันนี้เรามีข้อแนะนำเบื้องต้นมาฝากสำหรับมือสมัครเล่นที่อยากจะเป็นเซียนเสื้อวินเทจในอนาคต ที่มาภาพ 1.แบบไหนเรียกว่าวินเทจ อธิบายแบบง่าย ๆ เสื้อ vintage คือเสื้อที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป นั่นคือในปี 2020 นี้ เสื้อที่ผลิตตั้งแต่ปี 2000 ย้อนหลังขึ้นไปจะถูกเรียกว่าวินเทจทั้งหมดถึงแม้จะเป็นเสื้อวินเทจเหมือนกันก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะได้รับความนิยมหรือเป็นที่ต้องการของตลาดเท่า ๆ กัน โดยปกติแล้วเสื้อที่ผลิตโดยแบรนด์ในประเทศสหรัฐอเมริกาหรือที่เรียกกันสั้นๆว่าเสื้อ US จะเป็นเสื้อที่รับความนิยมมากกว่าเสื้อที่ผลิตในประเทศอื่น ที่มาภาพ ของผู้เขียนเอง 2.ป้าย/TAG ทีนี้พอเรารู้ว่าวินเทจคืออะไร เราจะรู้ได้อยางไรว่าเสื้อตัวนั้นอายุกี่ปีแล้ว ได้อายุวินเทจหรือยัง ข้อแนะนำแรกคือให้ดูที่ป้ายคอเสื้อ เสื้อแบรนด์ต่างๆมักจะมีการเปลี่ยนแปลงดีไซน์ของป้ายเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง เราสามารถใช้ลักษณะที่ต่างกันไปของป้ายในแต่ละยุคนี้เป็นตัวบ่งชี้คร่าว ๆ ว่าเสื้อตัวนั้นผลิตขึ้นในยุคไหน ที่มาภาพ 3.ตะเข็บเดี่ยว/ตะเข็บคู่ ตะเข็บเดี่ยวหรือ single stitch คือการที่แนวตะเข็บบริเวณชายเสื้อและแขนเสื้อจะใช้การเย็บโดยใช้ด้ายเส้นเดี่ยว ซึ่งเสื้อในยุคทศวรรศที่ 60-70 มักจะเย็บด้วยตะเข็บแบบนี้ เนื่องจากสหรัฐอเมริกาในยุคนั้นเครื่องจักรส่วนใหญ่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมเสื้อยืดจะเย็บแนวตะเข็บโดยใช้ด้ายเส้นเดี่ยว ทำให้นี่แทบจะเป็นกฏข้อแรกๆสำหรับนักเลงเสื้อวินเทจในการเลือกเสื้อยืดสักตัวมาสวมใส่ เพราะมันเป็นสื่งที่แสดงความเป็นวินเทจแบบเด่นชัดที่สุด แต่อย่างไรก็ตามเสื้อวินเทจที่มีมูลค่าบางตัวอาจมีตะเข็บคู่ ขณะที่เสื้อตะเข็บเดี่ยวบางตัวอาจไม่ใช่เสื้อวินเทจ แต่เป็นเสื้อรุ่นหลังที่มีดีไซน์แบบย้อนยุคโดยใช้การเย็บแบบวินเทจ การพิจารณาความเป็นวินเทจของเสื้อจึงต้องใช้องค์ประกอบอื่นด้วย ที่มาภาพ ของผู้เขียนเอง 4.ผ้า50/ผ้า100/ผ้าบาง หนึ่งในสไตล์ของเสื้อวินเทจที่ได้รับความนิยมสูงคือเสื้อที่มีผ้าบางนุ่ม เสื้อยืดในปัจจุบันส่วนใหญ่มักทำมาจากผ้าคอตตอน 100% แต่เสื้อวินเทจที่ให้ผ้าบางนุ่มนั้นจะเป็นเสื้อทอผสมระหว่างคอตตอน 50%กับผ้าโพลีเอสเตอร์ 50% นี่เป็นที่มาของคำว่าผ้า 100 ที่หมายถึงคอตตอต 100% และผ้า 50 ที่หมายถึงผ้าทอผสมคอตตอนกับโพลีเอสเตอร์อย่างละ 50% ซึ่งผ้าผสมแบบนี้พอผ่านการใช้งานไปนาน ๆ ส่วนของโพลีเอสเตอร์จะสลายไปเหลือแต่คอตตอนทำให้ผ้าบางลง ผ้าบางที่เป็นผ้าวินเทจเหล่านี้จะเป็นที่ต้องการสูงในตลาดซื้อขาย นอกจากผ้า 50 แล้ว ยังมีผ้าบางประเภทอื่นอีก เช่นผ้าสามเนื้อ ที่เป็นเสื้อทอผสมคอตตอน โพลีเอสเตอร์และผ้าเรยอน(rayon) ผ้า 3D ที่เป็นผ้า 50% ของบริษัท 3D Emblem ที่มาภาพ ของผู้เขียนเอง 5.ลายสกรีน ถ้าจะถามว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดทำให้เสื้อวินเทจบางตัวมีมูลค่าแตกต่างจากตัวอื่น ๆ คำตอบที่หลายคนน่าจะตอบตรงกันคือลายสกรีนบนเสื้อ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดเมื่อยามสวมใส่มากกว่าตะเข็บ เนื้อผ้า หรือป้ายคอ นอกจากลวดลายบนหน้าอกจะบ่งบอกถึงตัวตนผู้ใส่มันยังเป็นสิ่งที่ใช้สะท้อนภาพของยุคสมัยหรือเทรนด์ในขณะนั้นได้ดีอีกด้วย ลายสกรีนที่ได้รับความนิยมในตลาดวินเทจนั้นมีหลากหลายตั้งแต่ วงดนตรีร็อค ภาพยนตร์ การ์ตูน มอเตอร์ไซค์ ธรรมชาติ สัตว์ป่า โลโก้สินค้าแบรนด์ต่าง ๆ ตามความชื่นชอบของแต่ละคน ที่มาภาพ ของผู้เขียนเอง 6. ของแท้/ของปลอม ของทุกอย่างบนโลกนี้หากของแท้มีราคาสูงจะมีของปลอมตามมาเสมอ ปัญหาสำคัญอย่างนึงของคนใส่เสื้อวินเทจมือใหม่คือไม่รู้ว่าตัวไหนของแท้ของปลอม การซื้อร้านที่เชื่อถือได้เป็นตัวช่วยอย่างนึง แต่การแยกของแท้ปลอมด้วยตัวเองได้ก็น่าจะดีกว่าซึ่งนั่นก็ต้องอาศัยประสบการณ์และการเรียนรู้ สำหรับผู้เริ่มต้นเรามีความหมายของศัพท์บางคำเกี่ยวกับเสื้อแท้เสื้อปลอมมาแนะนำให้รู้จัก -เสื้อทัวร์และการตอกปี เสื้อทัวร์มีที่มาจากวงดนตรีที่ออกตระเวนแสดงคอนเสิร์ตแล้วทำเสื้อออกขายหน้างานคอนเสิร์ตโดยมีตารางทัวร์อยู่ด้านหลัง เสื้อวงหรือเสื้อทัวร์ที่เป็นสินค้าลิขสิทธ์แท้จะมีสัญญลักษณ์ copy right เป็นรูปตัวอักษร c ในวงกลมพร้อมกับปีที่ได้ลิขสิทธ์หรือปีที่ผลิตเสื้อ(บางคนจึงเรียกว่าตอกปี)อยู่ที่ใดที่หนึ่งบนลายสกรีนส่วนใหญ่เป็นด้านล่างขวา แต่แน่นอนว่าของปลอมก็พยายามใส่สัญลักษณ์นี้เข้ามาด้วย การมีสัญลักษณ์นี้จึงไม่ใช่หลักประกันว่าจะเป็นของแท้ อีกทั้งของแท้บางตัวก็ยังไม่มีตอกปีอีก การพิจารณาความแท้ไม่แท้จึงยังต้องดูถึงเนื้อผ้าไปจนถึงคุณภาพในการสกรีนและอื่น ๆ อีก เช่นการตัดเย็บ -Bootleg หมายถึงเสื้อที่ผลิตโดยไม่ได้รับลิขสิทธ์ถูกต้อง จะเรียกว่าของปลอมก็ได้ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นมันก็ไม่น่าจะมีราคาค่างวดอะไร แต่ในวงการวินเทจ เสื้อปลอมหรือ bootleg บางตัวกลับมีราคาสูงไม่ต่างจากงานลิขสิทธ์ เช่นเสื้อที่แฟนคลับศิลปินต่าง ๆ ทำเสื้อมาขายหน้างานคอนเสิร์ตซึ่งหากมันมีดีไซน์ที่สวยแปลกไปจากเสื้อแบบออฟฟิเชียล พอเวลาผ่านไปหลายปีด้วยความแปลกและหายากก็ทำให้มันเป็นที่ต้องการของตลาดขึ้นมา -งานปาด หมายถึงของปลอมที่ใช้เสื้อเปล่าที่ไม่มีลายสกรีนที่ผลิตในอเมริกา แล้วเอามาสกรีนลายวงดนตรีลงไปทีหลังโดยไม่ได้ขอลิขสิทธ์ ซึ่งส่วนใหญ่เสื้อที่นำมาสกรีนมักไม่ใช่เสื้อวินเทจปีลึก ๆ แต่เป็นเสื้อรุ่นใหม่ ๆ หรือหลังยุค 2000 เหตุผลก็เพราะเสื้อที่นำมาสกรีนต้องอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างใหม่เพื่อที่เวลานำมาสกรีนจะได้ไม่มีความแตกต่างระหว่างความเก่าของเสื้อกับความใหม่ของลายสกรีนมากเกินไปจนดูออกว่าเป็นของปลอม ที่มาภาพ ของผู้เขียนเอง เสื้อวินเทจนั้นมีความหลากหลายทั้งราคาและลวดลายบนเสื้อ บางคนอาจเลือกใส่ตามความนิยมในตลาด บางคนใส่ตัวที่แพง ๆ หายาก ๆ แต่บางคนเลือกลวดลายตามสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบ เช่น หนัง การ์ตูน รถยนต์ ไม่ว่าคุณจะเลือกใส่แบบไหนก็ควรมีพื้นฐานอยู่บนกำลังทรัพย์ในกระเป๋าของตัวเองและไม่ไปเหยียดรสนิยมความชื่นชอบของผู้อื่น ที่มาภาพปก