ไฟโตเอสโตรเจน (phytoestrogen) เป็นสารประกอบจากพืชที่มีฤทธิ์คล้ายเอสโตรเจน ออกฤทธิ์ได้ทั้งเสริมและต้านเอสโตรเจนในร่างกาย ดูแลระบบต่างๆ ในร่างกาย อาทิ ป้องกันและรักษาอาการของผู้หญิงที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนได้ลดลง ลดอาการหงุดหงิด ปวดท้อง ปวดหัว ใจสั่น นอนไม่หลับ ป้องกันและรักษาอาการช่องคลอดแห้ง เพิ่มมวลกระดูก ป้องกันโรคกระดูกพรุน ป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ป้องกันโรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ไฟโตเอสโตรเจนจะมีมากในพืชตระกูลถั่วที่มีฝัก หนึ่งในถั่วนั้นคือ "ถั่วลันเตา" ถั่วลันเตานอกจากจะมีไฟโตเอสโตรเจนเหมาะนำมาทำอาหารสำหรับผู้หญิงวัยใกล้หมดประจำเดือนและ วัยหมดประจำเดือนแล้ว ถั่วลันเตายังมีสารอาหารและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อาทิ ใยอาหาร โปรตีน ฟอสฟอรัส เหล็ก สังกะสี วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี วิตามินบี 1 วิตามินบี 6 โฟเลท วิตามินเค ฯลฯ กินถั่วลันเตายังช่วยให้ระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายทำงานได้ดี ทำงานได้เป็นปกติ บำรุงประสาทบำรุงสมอง ลดคอเลสเตอรอลในเลือด บำรุงกระดูก เล็บ ฟัน บำรุงผิวพรรณ ฯลฯเมนูอร่อยจากถั่วลันเตาก็มีอยู่หลายเมนู เช่น ถั่วลันเตาผัดกุ้ง ถั่วลันเตาผัดเต้าหู้ ถั่วลันเตาชุบแป้งทอด ถั่วลันเตาผัดหมูสับ ถั่วลันเตาผัดเปรี้ยวหวาน ถั่วลันเตาลวกจิ้มน้ำพริกกะปิ น้ำพริกปลาทู ถั่วลันเตาผัดกะปิ ข้าวผัดหมูสับเมล็ดถั่วลันเตา ฯลฯ แต่ละเมนูอร่อยและมีคุณค่าทางอาหารอย่างมากผู้เขียนชอบกินถั่วลันเตามาก โดยเฉพาะเมนู "ถั่วลันเตาผัดน้ำมันหอย" เพราะพ่อของผู้เขียนชอบผัดให้กิน ครั้งผู้เขียนยังอาศัยอยู่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา กินประจำ ครั้นผู้เขียนมีลูกก็อยากให้ลูกๆ กินถั่วลันเตา เพราะมีประโยชน์ต่อร่างกาย โชคดีที่ลูกๆ ของผู้เขียนเป็นเด็กชอบกินและชอบทดลองทำอาหาร โดยจะดูคลิปในยูทูบแล้วมาบอกแม่ว่าอยากลองทำเมนูนี้ อยากกินเมนูนี้ ลูกๆ จะชอบกิน "ถั่วลันเตาผัดเนย" การทำก็ไม่ยุ่งยาก เตรียม ถั่วลันเตาฝัก ข้าวโพดเหลืองต้มสุก ลูกเดือยต้มสุก แครอท เนย เกลือป่น นำถั่วลันเตามาล้างให้สะอาด ตัดขั้วทิ้ง หั่นฝักถั่วลันเตาให้พอดีคำ ฝานข้าวโพดเหลืองใส่ถ้วยไว้ แครอทล้างปอกเปลือกหั่นเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็กๆ ตั้งกระทะใช้ไฟปานกลาง ใส่เนยลงไป ให้เนยละลาย ใส่ถั่วลันเตาและแครอท ผัดให้สุก ใส่ข้าวโพดเหลือง ลูกเดือยต้มสุก โรยเกลือป่นนิดหน่อย ผัดให้เข้ากันอีกสักครู่ก็พร้อมเสิร์ฟได้เลย เวลาจะกินลูกๆ ของผู้เขียนจะราดมายองเนสอีกเล็กน้อยจะได้รสชาติ หวาน มัน อร่อย และมีประโยชน์ต่อร่างกายของลูกๆ ด้วย บ้านไหนเด็กๆ ไม่ชอบกินถั่วลันเตาอาจจะนำเมนูนี้ไปประยุกต์ทำให้เด็กๆ ลองกินดูนะคะ ถั่วลันเตา(garden pea) มีชื่อวิทยาศาสตร์ Pisum sativum L. อยู่ในวงศ์ Fabaceae เป็นถั่วที่สามารถกินได้หลายส่วนของต้น เช่น ฝักสด ยอด เมล็ด ต้นอ่อน ฯลฯ ถั่วลันเตามีหลากหลายสายพันธุ์ อาทิ พันธุ์ Oregon Giant มีฝักขนาดใหญ่ พันธุ์ Oregon Sugar Pod II ฝักแบน บาง ขนาดเล็ก พันธุ์พุ่ม Sugar Daddy ฝักกลม ยาว ขนาดใหญ่ สำหรับแปรรูป พันธุ์พุ่ม Sugar Bon ฝักยาว ต้นสูง ทนทานต่อโรคราแป้ง พันธุ์ขึ้นค้าง Super Sugar Snap ทนทานต่อโรคราแป้ง พันธุ์ Knight เมล็ดสีเขียวเข้ม พันธุ์ฝักใหญ่เชียงราย พันธุ์ฝักเล็กเชียงราย ฯลฯ ถั่วลันเตานอกจากนำฝักสด และเมล็ดมาประกอบอาหารแล้ว บ้านไหนไม่มีเวลาทำอาหารก็มีถั่วลันเตาแปรรูปให้เลือก อาทิ ถั่วลันเตาผง ถั่วลันเตาบด ซุปถั่วลันเตากระป๋อง ถั่วลันเตาฝักแช่แข็ง เมล็ดถั่วลันเตาอบกรอบ เมล็ดถั่วลันเตากระป๋อง เมล็ดถั่วลันเตาแช่แข็ง ฯลฯ ได้รู้กันแล้วว่าถั่วลันเตาเป็นถั่วฝักที่มีประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะไฟโตเอสโตรเจนในถั่วลันเตาที่จะช่วยดูแลร่างกายของผู้หญิงให้แข็งแรง อารมณ์ไม่แปรปรวน ไม่ทำให้คนรอบข้างเป็นกังวลไปด้วย ดังนั้นอย่าลืมเลือกถั่วลันเตามาทำอาหารเพื่อดูแลสุขภาพของเราและคนในครอบครัวกันนะคะ เครดิตขอบคุณข้อมูลจาก ไอโซฟลาโวน: ไฟโตเอสโตรเจนจากถั่วเหลือง พัทธินันท์ วาริชนันท์ ขอบคุณข้อมูลจาก เอสโตรเจนจากพืช กระเษียร ปัญญาคำเลิศ, สุกัญญา ชัยกิตติศิลป์, นิมิต เตชไกรชนะ และ กอบจิตต์ ลิมปพยอมขอบคุณข้อมูลจาก การศึกษาฤทธิ์เอสโตเจนจากสมุนไพรพื้นบ้านในเขตจังหวัดอุบลราชธานี จารุวรรณ์ วงบุตดี, สุภารัตน์ จันทร์เหลือง และ สุรชัย จูมพระบุตร ขอบคุณข้อมูลจาก ถั่วลันเตา นิพนธ์ ไชยมงคล ขอบคุณภาพประกอบจาก pexelsภาพปก R Khalilภาพประกอบที่ 1 R Khalil/ ภาพประกอบที่ 2 R Khalil/ ภาพประกอบที่ 3 Alesia Kozik/ ภาพประกอบที่ 4 Loren Castillo/ ภาพประกอบที่ 5 Bert Christiaens / ภาพประกอบที่ 6.1 cottonbro ภาพประกอบที่ 6.2 cottonbroสูตรเด็ด เคล็ดลับอาหารหลากหลาย เข้าไปดูได้ที่ App TrueID โหลดฟรี!