ในปัจจุบันคนเริ่มหัดมาใส่ใจสุขภาพร่างกายกันมากขึ้น และสุขภาพจิตของคนกลับแย่ลงเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสังเกตได้จาก การเป็นโรคซึมเศร้าหรือโรคไบโพลาร์เพิ่มขึ้น อันเนื่องมากจากความเครียด ปัญหาทางเศรษฐกิจ และสังคมที่ทำให้คนเกิดการแข่งขันกันตลอดเวลา การทำงานที่นับว่ันจะหาความสุขได้น้อยลง แต่ที่แย่กว่านั้นอาจจะเป็นสังคมการทำงาน ดังนั้นจะมองว่าเรื่องของสุขภาพจิตเป็นเรื่องไกลตัวไม่ได้ การทำงานนั้นมีผลกระทบต่อชีวิตมากกว่าที่คุณคิด ถ้าเกิดภาวะ Burnout Syndrome ขึ้นเราจะมีวิธีในการจัดการและรับมือกับมันอย่างไร Burnout Syndrome คือภาวะหมดไฟในการทำงาน สามารถเกิดขึ้นได้กับบุคคลหรือกลุ่มคนที่เครียดกับสภาวะการทำงานเป็นเวลาต่อเนื่องกัน ไม่สามารถจัดการกับความเครียด และความกดดันที่เกิดขึ้นจากการทำงานได้ จนส่งผลกระทบต่อร่างกาย จิตใจและทำให้การดำเนินชีวิตประจำวันเปลี่ยนไป ทำให้ไม่มีความสุขกับการทำงาน จนอาจจะนำไปสู่ความรู้สึกหมดคุณค่าในตนเองได้ ซึ่งสัญญาอันตรายที่บ่งบอกถึงอาการมีดังนี้ ภาพโดย StartupStockPhotos จาก Pixabay สัญญาณเตือนของกลุ่มคนที่เริ่มมีอาการภาวะหมดไฟในการทำงานนั้นเริ่มสังเกตได้จากจุดเล็ก ๆ นั่นก็คือ ให้สังเกตอารมณ์ของคนเหล่านั้น จะมีอาการหดหู่ ซึมเศร้า เกิดอารมณ์แปรปรวน ไม่พอใจ มีอาการหงุดหงิด เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ซึ่งอาการทางอารมณ์นี้อาจจะดูใกล้เคียงกับไบโพล่าร์ หรือภาวะซึมเศร้าได้ ดังนั้นจำเป็นจะต้องคอยสังเกตให้แน่ชัด สังเกตความคิดและทัศนคติของคนที่มีอาการภาวะหมดไฟในการทำงาน ซึ่งจะส่งผลต่อความคิดและทัศนคติทำให้นิสัยใจคอเปลี่ยนไปเช่น จากอารมณ์แปรปรวน มีการโทษผู้อื่นเสมอ อีกทั้งยังมีอาการระแวงไม่ไว้ใจใคร ทำให้คนเหล่านั้นมีการหนีปัญหา ไม่ยอมรับความจริง และไม่จัดการกับปัญหาที่อยู่ตรงหน้า ทำให้เพื่อนร่วมงานเกิดอาการเบื่อหน่ายกับคนกลุ่มนี้ บางรายอาจจะอยู่ในกลุ่มที่หดหู่ ซึมเศร้า เช่นรู้สึกไม่มั่นใจในการทำงานของตัวเอง ไม่กล้าที่จะรับงานสำคัญ มีความรู้สึกหวาดกลัวหรือระแวง เป็นต้น สังเกตทางด้านพฤติกรรมหรือการกระทำของคนที่อาจจะมีแนวโน้มเป็นภาวะหมดไฟในการทำงาน ยกตัวอย่างเช่น พฤติกรรมการขาดงานบ่อย ๆ หรือมาสายเนื่องจากไม่อยากไปทำงาน หรือสังเกตจากการมาสายติดต่อกัน ไม่มีสมาธิในการทำงาน และไม่สนใจงานที่ทำ เนื่องจากไม่มีความสุขในการทำงาน มีข้ออ้างให้การลางานมากมาย ภาพโดย Jan Vašek จาก Pixabay จากจุดสังเกตเหล่านี้จะพบว่า ความเครียดที่สะสมอยู่ในขณะที่ทำงาน ที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ส่งผลให้คนกลุ่มนี้ที่มีอาการหมดไฟในการทำงาน ไม่อยากที่จะทำงานและไม่มีความสุขในการทำงาน ส่งผลในด้านพฤติกรรม ความคิดและทัศนคติของคนเหล่านี้ แล้วยังส่งผลกระทบต่อผู้คนที่อยู่รอบข้างอีกด้วย โดยทั่วไปแล้ววิธีในการลดพฤติกรรมหรืออาการที่เกิดจากภาวะอาการหมดไฟในการทำงานนั้นสามารถกระทำได้ แต่ต้องเป็นการยินยอมจากคนกลุ่มนี้ มิเช่นนั้นการรักษาหรือการแก้ไขจะไม่เกิดผล ซึ่งสามารถแก้ไขโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างเช่น เพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงานหรือสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อลดความตึงเครียดและความกดดันที่เกิดจากการทำงาน พยายามที่จะเปิดใจยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นให้เพิ่มมากขึ้น และมีการขอความช่วยเหลือหรือปฏิเสธการรับงานที่มากเกินไป เพื่อปรับให้การทำงานนั้นอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ การแบ่งเวลาในการออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายได้ทำการฟื้นฟูและเป็นการพักฟื้นจากสภาวะการเหนื่อยล้าสะสมที่เกิดจากการทำงาน ภาพโดย 200 Degrees จาก Pixabay ในปัจจุบันการพบแพทย์จิตเวช เป็นเรื่องที่เปิดกว้างและสามารถเป็นที่ยอมรับได้ในสังคม เนื่องจากอาการเหล่านี้เมื่อทราบว่าตัวเองเป็นเร็วจะสามารถแก้ไขได้รวดเร็ว และทันท่วงที ก่อนที่อาการจะเป็นหนักมากกว่านี้ ดังนั้นการที่ได้ไปพบปะพูดคุยกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ได้ทำการปรึกษาพูดคุยกับแพทย์ อาจจะทำให้สามารถหาทางออกของปัญหา ที่กำลังประสบอยู่ได้ดีกว่าการเก็บปัญหาไว้คนเดียว สุดท้ายนี้ งานเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีเงินเพื่อใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน แต่งานไม่ควรเป็นตัวขีดคั่นความสุข หรือนำไปใช้คาดหวังจนมากเกินไปในอนาคต การทำงานใดก็ตามนั้น เมื่อความสุขและงานผนวกเข้าไปด้วยกัน จะทำให้งานที่ทำออกมาอยู่ในรูปแบบที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด ไม่จำเป็นเลยว่างานที่ทำนั้นจะดูเล็กน้อยและดูไร้ค่าสำหรับผู้อื่น แต่งานทุกงานล้วนมีคุณค่าในตัวของมันเอง ภาพโดย Claudio_Scott จาก Pixabay ขอให้ผู้อ่านทุกท่านเปิดใจที่จะยอมรับในสภาวะความตึงเครียดของงาน แต่ไม่ควรหักโหมที่จะทำงานจนมากเกินไป และอย่าเอางานที่ทำงานมาทำที่บ้าน เพื่อให้เวลาตัวเองได้พักผ่อนอยู่กับครอบครัว และใช้ชีวิตมีความสุขบ้าง เวลาเป็นดั่งสายน้ำที่ไม่อาจไหลย้อนกลับ เงินไม่สามารถซื้อเวลาได้ แต่เราสามารถใช้เวลาในการสร้างความสุขได้ ออกแบบภาพหน้าปกโดยใช้ canva