เวลาที่เราเล่นกีฬามีโอกาสที่จะได้รับบาดเจ็บไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นกีฬาแบบไหนก็ตามหรือในโทรทัศน์เราก็จะเห็นอยู่บ่อยครั้งเวลานักกีฬาได้รับบาดเจ็บ อย่างเช่นเทนนิสกับการบาดเจ็บบริเวณข้อเท้าหรือมือ กีฬาฟุตบอลกับอาการบาดเจ็บในช่วงขาเป็นหลัก แม้กระทั่งกีฬาแบบ E-Sports เองแม้จะนั่งเล่นใช้เมาส์-คีย์บอร์ด ก็มีโอกาสที่จะบาดเจ็บบริเวณมือ-นิ้วมือได้ ฉะนั้นแล้วกีฬากับการบาดเจ็บจึงเป็นของคู่กันเสมอ แต่เมื่อมันเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องมีวิธีการฟื้นฟูดูแลสุขภาพกันเป็นกิจลักษณะ แต่ที่เกริ่นมาขนาดนี้ก็ไม่ได้จะพูดถึงอาการบาดเจ็บบริเวณแขนหรือขาแต่อย่างใดครับ แต่จะพูดถึงอีกหนึ่งอาการบาดเจ็บที่หลายคนมองข้ามและไม่คิดว่ามันจะส่งผลร้ายแรงในระยะยาว ขณะที่การบาดเจ็บในส่วนอื่นอาจฟื้นฟูได้แต่คงไม่ใช่อาการเจ็บที่ศรีษะที่เรียกว่า Concussion ครับ ที่มารูปภาพ: Raman Oza จาก Pixabay อาการที่เรียกว่า Concussion นี้จะเป็นอาการบาดเจ็บบริเวณศรีษะและสมองเป็นหลัก เนื่องจากการถูกกระแทกหรือได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง อาการบาดเจ็บอาจจะไม่เห็นเป็นแผลภายนอกแต่เนื้อเยื่อสมองที่อยู่ข้างในเป็นสิ่งที่บอบบาง ห่อหุ้มด้วยเส้นประสาทเมื่อถูกกระแทกซ้ำไปมาจะเกิดความเสียหายจากภายใน ถ้าหากมีการกระแทกซ้ำไปมาหลายครั้ง จะส่งผลให้การตอบสนองสิ่งต่าง ๆ ช้าลงหรือเหมือนคนความจำเสื่อม การบาดเจ็บเช่นนี้จะถูกพบได้บ่อยกับนักกีฬาอเมริกันฟุตบอลหรือชกมวย เนื่องจากสองอาชีพนี้ต้องมีการกระทบกระทั่งตลอดการแข่งขัน ภาพที่เห็นได้ชัดเจนคือนักกีฬาอเมริกันฟุตบอลที่วิ่งปะทะกันอย่างลืมตาย ส่วนชกมวยก็จะมีการโดนน็อคด้วยการต่อยเข้าไปที่ศรีษะ แม้ว่าจะมีอุปกรณ์ป้องกันแต่มันก็ไม่ได้ช่วยอะไรมาก นอกจากสองอาชีพที่ว่ามายังมีกลุ่มทหารผ่านศึกก็มีสิทธิที่จะเกิดอาการ Concussion ได้เหมือนกัน ที่มารูปภาพ: Keith Johnston จาก Pixabay อาการแบบนี้ไม่ใช่ว่าจะสังเกตได้ทันทีแต่มันจะเริ่มส่งผลเมื่อให้เห็นเวลาผ่านไปประมาณ 5-10 ปี ความน่ากลัวมันอยู่ตรงนี้นี่แหละครับ เมื่อนักกีฬาตรวจสมองแรก ๆ อาจจะไม่เป็นอะไรจึงกลับไปลงเล่นใหม่ แต่กว่าจะรู้ตัวพวกเขาก็มีสภาพที่เหมือนตายทั้งเป็นไปอย่างเรียบร้อย ส่วนมากนักกีฬาประเภทนี้เมื่อเข้าสู่วัยกลางคนจะเริ่มแสดงอาการออกมาและบางคนเสียชีวิต เนื่องจากอาการของมันที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการทางประสาทและร่างกายตอบสนองช้าลงมากกว่าปกติ ส่วนผู้ป่วยที่ไม่เสียชีวิตก็จะมีสภาพเหมือนตายไปแล้วนั่นคือ สมรรถนะการใช้ชีวิตประจำวันต่าง ๆ จะเสื่อมถอยลง การพูดจาสื่อสารไม่เข้าใจ ทรงตัวไม่ได้ ไม่สามารถจดจ่ออะไรนาน ๆ ได้ รวมถึงสภาพอารมณ์ที่แปรปรวน หดหู่หงุดหงิดง่าย ที่มารูปภาพ: Daniel Reche จาก Pixabay นอกจากนี้ความน่ากลัวอีกอย่างก็คือการปฏิเสธความจริงจากสถาบันกีฬาด้วย อย่างเช่น NFL อเมริกันฟุตบอลของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากว่าอาการเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงรายได้ขององค์กร ทำให้การรักษาอาการ Concussion เป็นไปอย่างยากลำบากเพราะตัวของแพทย์ก็ไม่สามารถพูดได้เต็มที่ อีกทั้งอิทธิพลมืดของวงการกีฬาชนิดนี้ทำให้หลายคนรู้ว่ามันมีแต่ไม่สามารถอธิบายความจริงให้โลกภายนอกรู้ได้ เหตุการณ์นี้ได้มีการทำภาพยนตร์เรื่อง Concussion ในปี 2015 หรือชื่อภาษาไทยว่า "คนเปลี่ยนเกม" จะเล่าถึงนายแพทย์ โอมาลู (แสดงโดย วิล สมิธ) ผู้ที่สงสัยการเสียชีวิตของนักอเมริกันฟุตบอลรายหนึ่ง จนเขาค้นพบอาการกระเทือนทางสมองและได้ชี้แจงแก่ทาง NFL ว่ามันเป็นอันตรายนักกีฬา จึงขอให้มีการปรับเปลี่ยนกติกาการเล่นเพื่อความปลอดภัย แต่ทว่าเขาต้องกลายเป็นเหยื่อขององค์กรที่มีอิทธิพลที่สุดในแวดวงกีฬา ที่มารูปภาพ: Concussion Movie นอกจากอเมริกันฟุตบอลแล้ว กีฬามวยก็เช่นกันแม้ว่านักมวยจะได้รับการกระทบกระเทือนทางสมองแต่ก็ไม่มีการปรับเปลี่ยนกติกาหรือเมินเฉยกับอาการอันตรายแบบนี้ จะด้วยผลประโยชน์หรือเม็ดเงินที่ไหลเวียนมากมายก็มิทราบได้ ทำให้ปัจจุบันมีนักกีฬาจำนวนมากต้องประสบพบเจอความอันตรายนี้อยู่เรื่อยไป อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำในปัจจุบัน ก็พอจะสามารถตรวจพบอาการแต่แรกเริ่มได้แล้ว ทำให้สามารถวางแผนรักษาได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ สุดท้ายนี้ก็ต้องย้ำเตือนกันว่า Concussion เป็นอาการเหมือนกับมัจจุราชเงียบที่คร่าชีวิตคนได้อย่างไม่รู้ตัว หากใครได้รับการกระเทือนทางสมองแนะนำว่าควรรีบไปตรวจให้เร็วที่สุดก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้ ที่มารูปภาพปก: Keith Johnston จาก Pixabay