ใครที่ควรมาห้องฉุกเฉินกลางดึก !?ปัจจุบันนี้มีข่าวและดราม่ามากมายเกี่ยวกับการมาใช้บริการห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลในยามวิกาลให้เราอ่านมากมาย ไม่ว่าจะเป็นดราม่าต้องรอคิวหน้าห้องฉุกเฉินเป็นเวลานาน ดราม่าญาติต่อยหมอ ดราม่าผู้ป่วยหนักไม่ได้ตรวจก่อน เต็มไปหมด จนไม่รู้แล้วว่าข่าวไหนจริงข่าวไหนปลอม แต่โดยสรุปแล้ว เราจะเห็นได้ว่าปัญหาหลักๆมาจากช่วงกลางคืน หมอมีน้อยแต่คนไข้มีมากนั่นเอง แน่นอน ขึ้นชื่อว่าห้องฉุกเฉิน ก็ต้องมีไว้สำหรับคนที่ป่วยหนัก และต้องการได้รับการรักษาฉุกเฉินอย่างแน่นอน แต่ทีนี้คำถามที่น่าจะเกิดขึ้นกับทุกๆคนเวลาคิดจะมาห้องฉุกเฉินก็คือแล้วที่เราเป็นอยู่เนี่ย มันถือว่าด่วนไหมนะวันนี้ก็เลยจะมาบอกเล่าให้ทุกคนฟังตามหัวข้อเรื่องของเราเลย ก็คือ ใครที่ควรมาห้องฉุกเฉินกลางดึก !?เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพชัดเจน เราจะเริ่มจากวิธีการที่เขาใช้คัดแยกผู้ป่วยและจัดลำดับผู้ป่วยเข้าตรวจรักษาที่ห้องฉุกเฉิน ทุกๆคนจะได้เข้าใจภาพรวมได้มากขึ้นเมื่อมาถึงห้องฉุกเฉิน ด่านแรกที่เรามักจะพบก็คือคุณพยาบาลที่จะคอยช่วยคุยหมอจัดลำดับความสำคัญและความเร่งด่วนในการดูแลรักษา โดยระบบคัดแยกที่ห้องฉุกเฉิน หรือที่เรียกว่า ทรีอาช (Triage) ที่ใช้ในประเทศไทยเรา ก็อ้างอิงและปรับเปลี่ยนมาจากมาตรฐานสากลนั่นเองตามระบบทรีอาชนี้จะแบ่งคนไข้ออกเป็น 5 ระดับ ระดับ 1 คือรุนแรงที่สุด ด่วนที่สุด หมอต้องมาดูเดี๋ยวนี้! และระดับความเร่งด่วนก็ลดหลั่นกันมาในระดับ 2 3 4 และ5 ซึ่งคือผู้ป่วยไม่เร่งด่วนคราวนี้ใคร แบบไหนที่จะเป็นระดับ 1คนไข้ ระดับ 1 (ระดับวิกฤต) คือคนไข้ที่ต้องการช่วยชีวิตอย่างทันท่วงที ไม่งั้นมีโอกาสที่จะเสียชีวิตได้เลย เช่น คนไข้ที่หยุดหายใจไปแล้ว คนไข้ที่หัวใจหยุดเต้น คลำชีพจรไม่ได้ คนไข้ที่หัวใจเต้นผิดปกติอย่างรุนแรง เหนื่อยหอบอย่างรุนแรง สลบหรือชัก เป็นต้น แบบนี้หมอมาแน่ วิ่งมาเลยแหละต่อไป ระดับที่ 2 (ระดับฉุกเฉิน) คือ คนไข้ที่มีความเสี่ยงสูงถ้าปล่อยให้รอนานๆ เช่น ประสบอุบัติเหตุรุนแรง (เช่น ตกจากตึกสูง โดนยิง โดนแทง) คนไข้หอบหืดที่มีอาการหอบเฉียบพลัน คนที่เจ็บหน้าอกเฉียบพลันที่สงสัยภาวะหัวใจขาดเลือด คนไข้ตั้งท้องที่มีเลือดออกทางช่องคลอดมากๆ หรือผู้ป่วยที่มีสัญญาณชีพผิดปกติ (มีไข้สูง หอบเหนื่อยมาก ชีพจรเต้นเร็วผิดปกติ ความดันเลือดสูงหรือต่ำตนเกินไป) หากคุณพยาบาลพบว่ามีความเสี่ยงสูงเช่นนี้ ก็จะให้เข้าไปรอตรวจในห้องฉุกเฉิน และคุณหมอจะมาตรวจให้หลังจากช่วยชีวิตผู้ป่วยระดับ 1 เรียบร้อยนั่นเองส่วน ระดับที่ 3 (ระดับเร่งด่วน) คือคนไข้ที่นอกจากจะตรวจกับคุณหมอแล้ว ยังต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมหลายๆอย่างหรือให้การรักษาหลายๆอย่าง เช่น ท้องเสียรุนแรงจนอ่อนเพลียต้องให้น้ำเกลือและต้องเจาะเลือดด้วย กระดูกหักต้องตรวจเอกซเรย์และต้องปรึกษาหมอกระดูกมาช่วยเข้าเฝือกให้ ก็จะได้รับการรักษาเป็นลำดับต่อมาระดับที่ 4 (กึ่งเร่งด่วน) คล้ายๆกับระดับที่ 3 คือ นอกจากจะตรวจกับคุณหมอแล้ว ยังต้องได้รับการตรวจเพิ่มหรือรักษา แต่จำเป็นเพียงอย่างเดียว เช่น ต้องตรวจเอกซเรย์เพียงอย่างเดียว ไม่ต้องทำอย่างอื่นส่วนระดับสุดท้าย ระดับที่ 5 (ไม่เร่งด่วน) คือตรวจกับคุณหมออย่างเดียวก็เพียงพอ ไม่ต้องอาศัยการตรวจพิเศษอื่นๆ กลุ่มนี้ถือว่าไม่เร่งด่วน และจะได้ตรวจเป็นลำดับสุดท้ายระบบในโรงพยาบาลส่วนมาก ถ้ามีคนไข้รุนแรงมาที่ห้องห้องฉุกเฉินจำนวนมาก ก็จะทำให้คนไข้ระดับ 4 5 ต้องรอตรวจเป็นเวลานานมากๆ หรืออาจได้รับคำแนะนำให้กลับบ้านไปก่อน และมาตรวจอีกครั้งในวันรุ่งขึ้นที่หน่วยผู้ป่วยนอก เพื่อไม่ให้เสียเวลรอกับข้ามคืนนั่นเอง แถมการมาตรวจในตอนกลางวันก็จะมีคุณหมอมากกว่า และมีห้องตรวจพิเศษเฉพาะโรคที่เปิดมากขึ้นอีกด้วยหลังจากเห็นภาพรวมแล้ว คาดว่าทุกคนน่าจะเข้าใจมากขึ้นว่าป่วยแต่ไหน ถึงจะควรมาห้องฉุกเฉิน นั่นก็คือ เจ็บป่วยรุนแรงระดับ 1-3 นั่นเอง แต่หากเจ็บป่วยแล้วไม่แน่ใจว่าตัวเองอยู่ในระดับไหน ก็ควรมาโรงพยาบาลเพื่อให้ได้รับการประเมินเบื้องต้น หากไม่ใช่อาการเจ็บป่วยรุนแรง ก็จะได้รับคำแนะนำให้กลับมาตรวจใหม่ในวันรุ่งขึ้น หรือคุณพยาบาลอาจแจ้งให้ทราบว่าอาการไม่ด่วน อาจะต้องรอตรวจอีกนานนั่นเองหวังว่าทุกๆคนจะเห็นภาพและเข้าใจการมาตรวจที่ห้องฉุกเฉินกลางดึกกันมากขึ้นนะคะ. เครดิตรูปภาพทั้งหมดในบทความนี้ - MIU -