หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า BMI (Body Mass Index) หรือ ค่าดัชนีมวลกาย มาบ้าง โดย BMI เป็นค่ามาตรฐานที่ใช้คำนวณหาน้ำหนักตัวที่ควรจะเป็นและประเมินภาวะ “อ้วน” ของร่างกาย แต่รู้หรือไม่ ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ได้ออกมาให้ความเห็นแล้วว่ามาตรการหาค่า BMI ของร่างกายนั้น อาจไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องในการวัดความอ้วนเสมอไป BMI คืออะไร?BMI หรือ ค่าดัชนีมวลกาย คือค่ามาตรฐานของร่างกายที่ถูกสร้างขึ้นโดยนักคณิตศาสตร์ชาวเบลเยียมอย่าง Lambert Adolphe Jacques Quetelet โดยมีสูตรการคำนวณคือ BMI = น้ำหนัก (กิโลกรัม) / ส่วนสูง(เมตร)² และหากได้ค่า BMI ออกมาระหว่าง 23.0 – 24.9 จะเรียกว่า “น้ำหนักเกิน” และค่า BMI มากกว่า 25 เรียกว่า “อ้วน”อย่างไรก็ตาม มาตรฐานนี้ถูกสร้างขึ้นมาโดยยึดพื้นฐานจากผู้ชายที่เป็นชาวยุโรป จึงทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนขึ้นเมื่อนำมาปรับใช้กับคนเอเชีย โดยศาสตราจารย์ Nick Trefethen แห่งมหาวิทยาลัย Oxford เชื่อว่า สูตรการคำนวณค่า BMI นั้นทำให้คนมีความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับรูปร่างตัวเอง คนสูงมีแนวโน้มที่จะเชื่อว่าตัวเอง “อ้วน” กว่าความเป็นจริง ในขณะที่คนส่วนสูงน้อยจะคิดว่าตัวเอง “ปกติ” ทั้งที่ความจริงแล้วน้ำหนักมากกว่าที่ควรจะเป็น ปัญหาของการหาค่า BMI ในปัจจุบันBMI ไม่ได้แยกระหว่างกล้ามเนื้อและไขมัน เพราะเป็นการหาค่ามวลรวมร่างกายด้วยน้ำหนักเท่านั้น จึงอาจไม่ถูกต้องนักหากจะบอกว่าคนหนึ่งคน “อ้วน” และเสี่ยงเป็นโรคร้ายเพราะน้ำหนักมาก ทั้งที่ความจริงแล้วอาจจะเป็นเพราะพวกเขามีกล้ามเนื้อเยอะ นักกีฬาที่ต้องดูแลสุขภาพร่างกายหลาย ๆ คนเองก็มี BMI เกินค่ามาตรฐานที่ 25 ทั้งนั้นBMI มองข้ามปัญหา “ผอมลงพุง” หรือคนที่มีน้ำหนักน้อยเนื่องจากไม่ค่อยมีกล้ามเนื้อ (แต่มีไขมันมาก) ซึ่งนักวิทยาศาสตร์มองว่า การ “ลงพุง” นั้นมีความเสี่ยงต่อสุขภาพที่สุด ดังนั้น หากใช้ BMI เพื่อวัดความอ้วนของร่างกายอย่างเดียวจะทำให้วินิจฉัยเคสผู้ป่วยที่ความอ้วนอยู่ในระดับอันตรายต่อสุขภาพผิดพลาดได้ถึง 50% เลยทีเดียว วิธีวัดความอ้วนที่แนะนำนอกเหนือจากการหาระดับไขมันโดยผู้เชี่ยวชาญแล้ว Dr Margaret Ashwell ยังแนะนำอีกวิธีง่าย ๆ ในการตรวจสอบความอ้วนของตัวเองที่ดีกว่า BMI คือ รอบเอวไม่เกินครึ่งหนึ่งของส่วนสูง (Waist-to-Height Ratio) เช่น หากสูง 180 ซม. รอบเอวก็ไม่ควรเกิน 90 ซม. เป็นต้นวิธีนี้ให้ความสำคัญกับไขมันช่องท้อง (visceral fat) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญมากที่อาจบอกได้ว่าไขมันที่เรามีอยู่ในระดับอันตรายหรือไม่ จึงทำให้มีความเที่ยงตรงกว่า BMI เพราะสามารถใช้กับคนที่มีปัญหาผอมลงพุงหรือคนที่มีโครงสร้างใหญ่ได้นั่นเอง หากอธิบายเป็นสูตรคณิตศาสตร์ทุกคนอาจจะยังไม่เห็นภาพ ดังนั้น เราลองไปเปรียบเทียบการหาค่า BMI กับ Waist-to-Height Ratio ด้วยตัวอย่างจริงจากนักกีฬาอาชีพกันดีกว่า คนแรก Luis Suarez นักฟุตบอลชายชื่อดังจากอุรุกวัยที่ทุกคนน่าจะรู้จักกันดี กับค่า BMI = 25.1 ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “อ้วน” แต่เมื่อพิจารณาจากส่วนสูง 180 ซม. และรอบเอว 83 ซม.แล้ว จะเห็นว่ารอบเอวของดาวเตะชื่อดังนั้นยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของส่วนสูง จึงจัดอยู่ในเกณฑ์ดี และกลางปี 2022 ที่ผ่านมาเขาก็เพิ่งเซ็นสัญญากับสโมสรในประเทศบ้านเกิดไป คนต่อมา Zion Williamson ดาวรุ่งจากลีกบาสเกตบอลอาชีพในอเมริกาเหนือ (NBA) เขาเป็นที่จับตามองด้วยความสามารถทางร่างกายที่โดดเด่น แต่หากใช้มาตรฐาน BMI แบบเดิมมาวัดแล้ว เขาจะมีค่า BMI = 31.9 หรือ “อ้วนมาก” จนอันตรายต่อสุขภาพทั้งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่พอวัดด้วย Waist-to-Height Ratio จะพบว่า เขาสูง 201 ซม. แต่มีรอบเอวเพียง 81 ซม. เท่านั้น เรียกได้ว่ายังสุขภาพดีสุด ๆ คนสุดท้าย Tom Brady ตำนานที่ยังมีลมหายใจแห่งวงการอเมริกันฟุตบอล (NFL) เมื่อใช้ BMI วัดค่าดัชนีมวลกายแล้ว เขาจะกลายเป็นคน “อ้วน” ด้วย BMI = 27.4 ทันที แต่เมื่อพิจารณาจากสัดส่วนรอบเอว 93 ซม. และส่วนสูง 193 ซม.แล้ว ก็ยังเรียกได้ว่าป๋าทอมยังหุ่นดีและเฟิร์มสุด ๆ ดังนั้น สิ่งสำคัญในการดูแลร่างกายของเราคือการทานอาหารที่มีประโยชน์ควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย การพยายามอดอาหารเพื่อให้น้ำหนักลดลงไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง ยิ่งเครียดเรื่องหุ่นจนน้ำหนักลงก็ยิ่งส่งผลร้ายต่อร่างกายในระยะยาว จึงควรวางแผนการลดน้ำหนักให้สมดุลโดยไม่หักโหมหรือพยายามสร้างมาตรฐานความผอมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพแหล่งที่มาบทความ1 CNN, Is losing weight an important health goal? 2 CNN, Calling BS on BMI: How can we tell how fat we are?3 Medical News Today, Why BMI is inaccurate and misleadingที่มารูปภาพภาพปก Freepik1 rawpixel.com / Freepik2 Facebook: Luis Suarez3 Instagram: @zionwiliamson4 Facebook: Tom Brady7-11 Community ห้องลับเมาท์มอยของกินของใช้ในเซเว่น อะไรดีอะไรใหม่ ต้องรู้ ต้องคุย ต้องแชร์