ในบรรดาผักมากมายหลายชนิดที่เราเห็นตามท้องตลาดหรือซุปเปอร์มาร์เก็ต น้อยคนที่จะรู้ว่าผักชนิดไหนมีสรรพคุณและให้ประโยชน์แก่ร่างกายอย่างไรบ้าง วันนี้จะแนะนำผัก 6 ชนิดที่มีประโยชน์ หาซื้อง่าย และสามารถนำมาปรุงอาหารได้หลายประเภท 1. มะเขือเทศราชินี หรือ มะเขือเทศเชอร์รี่ จิ๋วแต่แจ๋วตัวจริง เพราะอุดมไปด้วยเบตาแคโรทีน วิตามินซี วิตามินอี ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างการแข็งแรง บำรุงสายตาและป้องกันการเกิดโรคต้อกระจก ไลโคปีนในมะเขือเทศยังช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งหลอดเลือดและโรคหัวใจได้เป็นอย่างดี สารไบโอฟลาโวนอยด์ยังช่วยบรรเทาอาการปวด การอักเสบและชะลอโรคให้ช้าลง โพแทสเซียมในมะเขือเทศราชินียังช่วยควบคุมความดันโลหิตให้เป็นปกติ สำหรับผู้ที่ต้องการดูแลความสวยความงามไปพร้อมกับการควบคุมน้ำหนัก ควรมีมะเขือเทศราชินีในเมนูอาหารสม่ำเสมอ เพราะทานแล้วอิ่มท้อง มีปริมาณน้ำและกากใยอาหารสูง อีกทั้งยังช่วยบำรุงผิวพรรณให้สดใสชุ่มชื้น ชะลอวัยได้อีกด้วย ข้อควรระวัง ผู้ที่มีภาวะกรดไหลย้อน ไม่ควรทานมากเกินไปเพราะมะเขือเทศราชินีมีคุณสมบัติเป็นกรดอ่อนๆ ส่วนผู้ป่วยโรคไตและผู้ที่มีภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง ไม่ควรทานเพราะมะเขือเทศราชินีมีโพแทสเซียมสูง อาจทำให้ระบบประสาทและหลอดเลือดเกิดความผิดปกติได้ ภาพโดยผู้เขียน 2. ผักชี เป็นผักที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มีประโยชน์ตั้งแต่ใบยันรากเลยทีเดียว นิยมนำมาประกอบให้อาหารมีกลิ่นหอมน่ารับประทานยิ่งขึ้น ใบสามารถนำไปรับประทานเป็นผักแนมกับอาหารชนิดอื่นได้อีกด้วย ผักชีเป็นผักที่มีแคลอรี่ต่ำมาก มีวิตามินเอและเบตาแคโรทีนสูง มีสรรพคุณที่น่าสนใจ เช่น ช่วยบำรุงสายตา ช่วยให้เจริญอาหาร บำรุงธาตุในร่างกาย แก้กระหายน้ำ ลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยขับเหงื่อ บรรเทาอาการไอ แก้ไข้หวัด ละลายเสมหะ ลดอาการปวดบวมตามข้อ ช่วยย่อยอาหาร ข้อควรระวัง ผักชีมีกลิ่นฉุน รับประทานมากเกินไป อาจทำให้มีกลิ่นตัวแรงขึ้น มีอาการตาลาย คนที่มีประวัติแพ้พืชเช่น ขึ้นฉ่าย กระเทียม และผักชี ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเพราะอาจจะทำให้เกิดอาการแพ้ได้ เช่น ผื่นแพ้ ผิวไวต่อแสงแดด เยื่อบุตาและจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ได้ ผู้ที่เป็นโรคไตไม่ควรรับประทานผักชีมากจนเกินไปเพราผักชีมีโพแทสเซียมสูง อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ภาพโดยผู้เขียน 3. ผักกาดขาว เป็นผักที่หาซื้อง่าย สามารถนำมาปรุงอาหารได้หลายเมนูทั้งต้ม แกง ผัด นึ่ง หรือรับประทานเป็นผักเคียงกับน้ำพริกต่าง ๆ สามารถทานได้ทั้งแบบสดและปรุงสุก แต่รู้หรือไม่ว่าผักกาดขาวมีคุณประโยชน์ที่น่าสนใจเลยทีเดียว อาทิเช่น แก้อาการท้องผูก ลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งในลำไส้ เพราะเป็นผักที่มีน้ำและเส้นใยเป็นส่วนประกอบหลัก เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก ในผักกาดขาวยังมีออร์กาโนซัลไฟต์ และฟลาโวนอยด์ ที่ช่วยป้องกันมะเร็งและหลอดเลือดหัวใจ อีกทั้งยังอุดมไปด้วยโฟเลตซึ่งช่วยในการบำรุงเม็ดเลือดแดง มีวิตามินซีและสารต้านอนุมูลอิสระเป็นจำนวนมาก ทำให้ระบบคุ้มกันในร่างกายแข็งแรง ข้อควรระวัง ผู้ที่มีอาการม้ามบกพร่อง มีอาการท้องอืดเป็นประจำ อาหารไม่ค่อยย่อย มีแก๊สในกระเพาะอาหารเยอะ ไม่ควรรับประทานผักกาดขาวในปริมาณมากจนเกินไป ภาพโดยผู้เขียน 4. มะระจีน สุภาษิตโบราณกล่าวไว้ว่า หวานเป็นลม ขมเป็นยา เป็นสรรพคุณที่แท้จริงของมะระจีนเลยทีเดียว ในความขมซ่อนประโยชน์อยู่มากมาย เช่น ช่วยบำรุงดวงตา เพราะมีเบตาแคโรทีนและวิตามินเอสูง ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง เพราะมีแคลเซียมสูง บำบัดและรักษาอาการโรคเบาหวาน ลดระดับน้ำตาลในเลือด สร้างภูมิคุ้มกันโรคและป้องกันเซลส์จากการทำลายของสารก่อมะเร็งต่างๆ ถึงแม้มะระจะมีรสขม แต่ผู้คนก็ยังนิยมนำมาปรุงอาหารหลากหลายชนิด เช่น แกงจืดมะระ มะระผัดไข่ ยำมะระสด หรือนำไปแนมรับประทานกับน้ำพริก ขนมจีนน้ำยา หรือก๋วยเตี๋ยวเรือ ก๋วยเตี๋ยวไก่ ฯลฯ ประโยชน์ เราสามารถลดความขมก่อนนำมาประกอบอาหารโดยการ นำมาแช่ในน้ำเกลือก่อนปรุงอาหารประมาณ 20 นาที แล้วแช่น้ำเปล่าอีก 10 นาที และระหว่างการประกอบอาหาร เช่น การต้ม ไม่ควรปิดฝาทิ้งไว้หรือคนบ่อยๆ เพราะจะทำให้มะระขมได้นั่นเอง ข้อควรระวัง ไม่ควรทานมากเกินไปเพราะมะระมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ ภาพโดยผู้เขียน 5. บวบเหลี่ยม เป็นผักที่มีโปรตีน ไขมัน วิตามินบี 1 วิตามินซี แคลเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม สังกะสี บวบมีฤทธิ์เย็น ผลมีเนื้อนุ่ม ฉ่ำน้ำ มีรสหวาน สามารถนำไปประกอบอาหารได้หลากหลาย เช่น ผัด แกงเลียง ลวกกินกับน้ำพริกต่าง ๆ มีสรรพคุณช่วยบำรุงร่างกาย แก้ร้อนใน ลดไข้ ขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ มีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ บำรุงสมองและประสาท ช่วยแก้อาการเลือดออกตามทางเดินอาหารและกระเพาะปัสสาวะ แก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ แก้อาการปวดประจำเดือนของสตรี ขับน้ำนมภายหลังการคลอดบุตร ข้อควรระวัง คนที่มีไข้ไม่ควรกินอาหารที่ทำจากบวบ เพราะบวบมีฤทธิ์เย็น อาจทำให้มีไข้ขึ้นสูงได้ ภาพโดยผู้เขียน 6. มะเขือพวง พืชผักสมุนไพรที่จิ๋วแต่แจ๋วอีก 1 ชนิด ที่ช่วยเสริมสุขภาพ มีสรรพคุณทำให้เจริญอาหาร บำรุงธาตุ ขับเสมหะ แก้ไข ช่วยให้โลหิตหมุนเวียนได้ดี มีฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันความเสื่อมและแก่ก่อนวัย ควบคุมระดับน้ำตาลในโรคเบาหวาน มะเขือพวงมักนำมาใช้ในการประกอบอาหารประเภท แกงหรือน้ำพริก เช่น แกงเขียวหวาน แกงเนื้อ แกงป่า น้ำพริกกะปิ น้ำพริกกุ้งสด ผัดเผ็ด เป็นต้น ด้วยสรรพคุณที่ครบถ้วน ใครที่ชอบเขี่ยมะเขือพวงไปไว้ที่ขอบจานหรือตักทิ้ง คราวหน้าคงต้องลองลิ้มชิมรสกันดูสักครั้ง ข้อควรระวัง ในมะเขือพวงจะมีสารโซลานิน (Solanine) ผู้ที่เป็นโรคไขข้อ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทาน เพราะสารนี้อาจทำให้เกิดความไม่สมดุลของแคลเซียมในร่างกายได้ ภาพโดยผู้เขียน ได้รู้ถึงสรรพคุณและประโยชน์ของผักทั้ง 6 ชนิดกันไปแล้ว คิดเมนูอาหารคราวหน้าอย่าลืมเลือกผักเหล่านี้ไปปรุงอาหารกันด้วย กินอาหารดี ชีวีมีสุข ข้อมูลอ้างอิง หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5 บวบเหลี่ยม (ดร. วิทย์ เที่ยบูรณะธรรม) หนังสือผักพื้นบ้าน 2, 2547 (อุไร จิรมงคลการ)