cr. unsplash LD หรือชื่อเต็มว่า learning disorder หรือ ภาวะทางการเรียนรู้บกพร่อง ซึ่งถือว่าเป็นโรคใหม่ (จริง ๆ ก็มีมานานแล้วแต่ไม่ค่อยมีการพูดถึง)ที่พ่อแม่ยุคนี้ควรจะหาข้อมูลกันไว้ ซึ่งหลายคนมองว่ามันคือโรคขี้เกียจ และมันมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เกิดโรคนี้ ภาวะแอลดีจะแบ่งเป็น 3 ชนิดหลักคือ 1.ความบกพร่องทางการอ่านหนังสือ 2.ความบกพร่องทางการเขียนหนังสือ 3.ความบกพร่องด้านการเรียนรู้ในคณิตศาสตร์ cr. unsplash ซึ่งจากประสบการณ์ของผู้เขียน ที่มีเด็กในบ้านเป็นโรคนี้คือมี ภาวะการเรียนรู้บกพร่องด้านการเขียน ต้องบอกก่อนว่าสติปัญญาหรือ IQ ของเด็กไม่ได้ด้อยไปกว่าเด็กทั่วไป (จากการทดสอบทางการแพทย์) แต่ไม่สามารถเขียนหนังสือได้คล่องเหมือนเด็กในวัยเดียวกัน จะมีปัญหาทางด้านการเขียนอย่างเด่นชัด ซึ่งสังเกตเห็นในช่วงวัย อนุบาลประมาณช่วงอนุบาล 2 ถึงอนุบาล 3 ที่เริ่มเห็นความผิดปกติ คือเขียนหนังสือช้า ไม่ค่อยอยากเขียนหนังสือและตัวหนังสือที่เป็นลักษณะ หัวเข้า หรือ หัวออกอย่าง ส - ศ และ สระบางตัวจะแยกไม่ค่อยออกว่าจะต้องเขียนแบบไหน ซึ่งอาการจะเห็นชัดขึ้นเมื่อเริ่มวัยประถมศึกษาเพราะการเรียนที่ต้องเขียนหนังสือเยอะขึ้น ซึ่งกลายเป็นปัญหาทางการเรียนที่ชัดเจน เราสามารถพัฒนาส่วนที่บกพร่องของเด็กที่เป็นแอลดีได้ แต่ต้องใช้เวลาและควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งแนะนำเลยว่าให้ไปพบจิตแพทย์ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ จะดีที่สุดเพราะ แพทย์จะมีวิธีการเช็คอาการของเด็กอย่างละเอียด และจะได้ทราบปัญหาอื่นด้วยว่า การที่เกิดภาวะแอลดีนั้นเกิดจากอะไรบ้าง หรือ เด็กมีปัญหาเรื่องสมาธิสั้น รวมทั้งพฤติกรรมหรือภาวะแฝงอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เพื่อที่จะได้บำบัดและปรับพฤติกรรมไปพร้อมกัน พ่อแม่ควรจะต้องแจ้งทางโรงเรียนให้ทราบ (ต้องมีใบรับรองที่ยืนยันการรักษาและภาวะบกพร่องของเด็ก) เพื่อให้คุณครูช่วยพัฒนาส่วนที่บกพร่องของเด็กด้วยอีกทาง และมันจะมีผลกับการสอบในระดับชั้นต่าง ๆเพราะเด็กที่มีปัญหาทางด้านแอลดีในภาวะต่าง ๆ นั้นโดยปรกติแล้วจะใช้เกณฑ์มาตรฐานเหมือนเด็กปกติทั่วไปไม่ได้ โรงเรียนอาจจะต้องมีการปรับลดมาตรฐานการวัดผลในส่วนที่เขาบกพร่อง นอกจากการพบแพทย์แล้ว ก็จะมีการพบกับนักจิตวิทยาหรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านการพัฒนาพฤติกรรมเด็ก เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องและพัฒนาความสามารถทางด้านอื่นของเด็ก เพื่อให้เขามีความมั่นใจที่จะเรียนรู้ cr unsplash พ่อแม่และคุณครู ต้องทำความเข้าใจในด็กที่มีภาวะแอลดี เพราะไม่ได้หมายถึงเขาไม่สามารถเรียนรู้ได้ เพียงแต่ส่วนที่เขาบกพร่องจะช้ากว่าเด็กในรุ่นเดียวกัน พ่อแม่ต้องใจเย็นและค่อย ๆ สอนในสิ่งที่บกพร่อง ค้นหาว่าเด็กมีความสามารถ หรือ สนใจในด้านไหนเป็นพิเศษ อย่างเด็กที่บ้านเขียนหนังสือได้ช้าเขียนไม่คล่อง ก็ต้องหัดเขียนกันไว้วันละนิดคือ ไม่ได้เคร่งครัดว่าต้องทำทุกวัน เอาที่เขาอยากทำเขียนแบบสนุกว่า อยากได้อะไรให้เชียนมาแล้วเราเขียนตอบ ให้เขาได้เขียนนอกจากที่โรงเรียน มันก็จะช่วยได้และไม่กดดันเกินไป เพราะหากบังคับมาก ๆ หรือ กดดันมาก ๆ เขาจะไม่ยอมให้ความร่วมมือ สิ่งที่สังเกตุเห็นจากเด็กที่บ้าน แม้ว่าจะบกพร่องด้านนี้ แต่ความจำดีมาก บวกเลขได้ไว สนใจเรื่องรอบตัว ชอบเล่นกีฬา เราก็ให้เขาพัฒนาส่วนนั้นไป เพื่อต่อยอดทดแทนในส่วนที่เขาขาด และอาจจะต่อยอดไปยังอนาคตได้