รีเซต

7 วิธีเก็บรักษานมแม่ วิธีสต็อกนมแม่ เก็บอย่างไรหลังจากปั๊มนม ไม่มีกลิ่นเหม็นหืน ไม่เสีย

7 วิธีเก็บรักษานมแม่ วิธีสต็อกนมแม่ เก็บอย่างไรหลังจากปั๊มนม ไม่มีกลิ่นเหม็นหืน ไม่เสีย
Beau_Monde
10 สิงหาคม 2564 ( 10:56 )
11.9K

     คุณแม่ทำงานส่วนใหญ่ จำเป็นต้องใช้วิธีการสต๊อกนมในการเลี้ยงดูลูก ซึ่งทำให้บางครั้งพบว่านมทีคุณแม่ได้สต๊อกไว้นั้นมีกลิ่น ทำให้ไม่กล้าให้ลูกกิน กลัวลูกจะท้องเสีย กลัวจะเป็นอันตรายต่อลูก และคุณแม่หลายคนก็มีคำถามว่านมแม่ที่เก็บไว้จะรู้ได้อย่างไรว่าเสีย แล้วนมที่มีกลิ่นสามารถให้ลูกกินได้ไหม นมแม่ที่ละลายแล้วเก็บไว้ได้นานขนาดไหน

     วันนี้เราเลยจะมาอธิบายถึงเทคนิคในการเก็บนมแม่เพื่อลดอาการกลิ่นหืน รวมถึงมาคลายข้อสงสัยเรื่องอายุของนมสต๊อก นมที่สต๊อกไว้เมื่อละลายแล้วสามารถเก็บไว้ได้นานเท่าไหร่ คุณแม่จะได้ให้นมลูกอย่างปลอดภัยไม่ต้องกังวลว่าลูกจะท้องเสียค่ะ

 

 

7 วิธีเก็บรักษานมแม่ 

 

1. ปั๊มนมให้ลูกกินวันต่อวัน

     ในกรณีที่คุณแม่มีน้ำนมมากพอหรือถ้าคุณแม่ปั้มนมแล้วคาดว่าลูกจะกินนมที่สต๊อกไว้หมดภายใน 4 วัน แนะนำว่าให้แช่ตู้เย็นช่องธรรมดา เพราะน้ำนมแม่สามารถอยู่ในตู้เย็นช่องธรรมดาได้ 4 วันค่ะ

 

2. นำนมที่แช่แข็งลงมาไว้ตู้เย็นช่องธรรมดา 12 ชั่วโมง

     ก่อนจะมีการใช้นมที่แช่แข็งไว้ ให้คุณแม่นำนมแช่แข็งมาไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดาก่อน 12 ชั่วโมง เพื่อให้นมละลาย และสามารถนำมาใส่ขวดให้ลูกกินเย็น ๆ ได้เลย ไม่ส่งผลให้น้องท้องเสียหรือว่าปวดท้อง การกินนมเย็น ๆ จะไม่ทำให้นมแม่มีกลิ่นเหม็นหืน 

     แต่ถ้าในกรณีที่คุณแม่ลืมย้ายนมมาไว้ในช่องธรรมดา หรือว่าลูกไม่ชอบกินนมเย็น ๆ คุณแม่สามารถอุ่นนมโดยการเอานมแม่ในถุงไปวางไว้ในน้ำอุ่นอุณหภูมิประมาณ 40 องศา ประมาณ 20 นาทีค่ะ นอกจากนี้เราจะไม่ปล่อยให้นมแม่ละลายในอุณหภูมิห้องและไม่นำนมแม่ไปละลายในไมโครเวฟนะคะ

 

3. นมแม่ที่ละลายต้องใช้ให้หมดภายใน 24 ชั่วโมง

     ให้คุณแม่สังเกตว่าลูกกินนมปริมาณขนาดไหน จากนั้นก็ให้นำนมที่แช่แข็งไว้มาละลายเท่าที่ลูกกิน เช่น ลูกกิน 12 ออนซ์ ก็ให้คุณแม่นำน้ำนมจากช่องแช่แข็งลงมาไว้ช่องธรรมดาปริมาณ 12 ออนซ์ค่ะ หากนมแม่ที่ป้อนลูกไปแล้ว ลูกกินไม่หมดมีเหลือคาขวดไว้ คุณแม่สามารถนำนมกลับมาให้ลูกกินได้ แต่ต้องนำนมกลับไปแช่เย็นก่อนและกินในมื้อถัดไปค่ะ

 

4. นมแม่ที่ละลายแล้วไม่นำกลับไปแช่แข็งใหม่

     นมแม่ที่เรานำออกมาจากช่องแช่แข็งแล้ว หากใช้ไม่หมด เราจำเป็นจะต้องทิ้งนมนั้นไปนะคะ ไม่นำกลับไปแช่แข็งใหม่ค่ะ

 

5. สามารถเก็บนมแม่รวมกันได้

     การเก็บนมสต๊อกของคุณแม่ที่มีปริมาณน้ำนมยังไม่มากหรือปริมาณน้ำนมน้อย คุณแม่สามารถเก็บรวมกันในถุงเดียวได้ค่ะ แต่แนะนำว่าถ้าเราใส่นมลงในถุงเก็บนมแล้ว ให้เอานมในถุงนี้ไปแช่ตู้เย็น เมื่อปั๊มนมคราวต่อไปก็นำกลับมาใส่ในถุงเดิมได้ โดยเราสามารถเก็บรวมกันได้ภายใน 24 ชั่วโมงค่ะ

 

6. รีดปากถุงเก็บน้ำนมให้ปิดสนิท

     เวลาที่คุณแม่เก็บน้ำนม ต้องอย่าลืมรีดปากถุงให้สนิทและให้อากาศออกมากที่สุด เพื่อให้ถุงน้ำนมมีการขยายได้เมื่อกลายเป็นน้ำแข็ง โดยให้เราวางถุงนมราบไปกับขอบโต๊ะแล้วรีดอากาศออกให้มากที่สุดค่ะ

 

7. วางถุงนมในแนวราบเพื่อให้แข็งตัวเร็ว

     วางถุงเก็บน้ำนมในแนวราบ และวางบนถาดสแตนเลส จากนั้นใช้น้ำเย็นราด ก่อนที่จะนำเข้าช่องแช่แข็ง ที่ต้องทำแบบนี้ก็เพื่อให้นมแม่ที่เก็บไว้แข็งตัวได้เร็วที่สุดค่ะ เพื่อที่จะช่วยลดกลิ่นเหม็นหืน และทำให้ได้คุณภาพของนมที่ดีค่ะ

 

     กลิ่นนมเหม็นหืน เกิดจากการที่ในนมแม่จะมีเอนไซม์ไลเปส ซึ่งจะเป็นตัวย่อยไขมันทำให้ร่างกายดูดซึมไขมันได้ดี นมแม่แต่ละคนก็จะมีเอนไซม์ไลเปสที่แตกต่างกัน หากมีเอนไซม์ไลเปสมากก็จะมีกลิ่นหืนมาก ซึ่งนมหืนนั้น ลูกสามารถกินได้ไม่เกิดอันตรายค่ะ

     ในนมแม่ที่แช่แข็งจะมีโอกาสเกิดกลิ่นนมหืนได้มาก เนื่องจากว่าส่วนใหญ่แล้วจะเก็บน้ำนมไว้ในตู้เย็นที่มีระบบละลายอัตโนมัติ ทำให้เวลาที่ตู้เย็นเกิดระบบละลายอัตโนมัติ นมแม่บางส่วนก็จะละลายไปและกลับมาแข็งใหม่ ซึ่งระบบแบบนี้จะทำให้นมแม่มีกลิ่นหืนเกิดขึ้นได้ค่ะ

 

 

บทความที่คุณอาจสนใจ

 

ยอดนิยมในตอนนี้

สิทธิประโยชน์แนะนำ

แท็กยอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง