วิธีจัดการความโกรธง่ายหายช้า (บทความสุขภาพจิต) ภาพจาก: WenPhotos / pixabay "ผมเป็นคนโกรธง่ายหายช้ามาตั้งแต่เป็นวัยรุ่นแล้วครับจนปัจจุบันแต่งงานมีลูกแล้ว และมีงานทำเป็นหลักแหล่งแล้ว แต่อาการโกรธง่ายหายช้าก็ไม่ดีขึ้นเลย ทั้งยังส่งผลกระทบให้ผมทะเลาะกับภรรยาและลูกบ่อยๆ นอกจากนั้นในที่ทำงานเมื่อมีสิ่งใดมากระตุ้นไม่ถูกใจ ผมก็จะโกรธและแสดงอาการเกรี้ยวกราดทางวาจาออกไปทันที ทำให้เจ้านายและผู้ร่วมงานไม่ชอบ จนถึงขั้นถ้าต้องทำงานเป็นทีมเมื่อมีชื่อผมทีมงานจะขอถอนตัวไม่อยากร่วมงานด้วยเลย กระทั้งความเจริญก้าวหน้าในการงานก็ไม่ดี เจ้านายพิจารณkความดีความชอบในผลงานของผมน้อยมาก อ้างว่าผมเป็นคนก้าวร้าวและอารมณ์ร้าย มิตรภาพไม่ดี ประสานงานอะไรก็ไม่ราบรื่น ผมคิดมากและกลุ้มใจครับ จะแก้ไขอย่างไรดีครับอาจารย์ " นั่นเป็นคำบอกเล่าของชายคนหนึ่งที่มาปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตกับผู้เขียน ใช่เพียงแต่เขาเท่านั้น ปัญหาทำนองนี้พบอยู่มากมายในสังคมทั้งชายและหญิง สาเหตุส่วนใหญ่ก็เป็นมาตั้งแต่การถูกเลี้ยงดูมาอย่างไร้ความอบอุ่นและถูกบีบคั้นทางจิตใจนั่นเอง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นบุคลิกภาพประเภทก้าวร้าวเพราะควบคุมอารมณ์ตนเองได้ยาก แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีแนวทางในการช่วยเหลือและเยียวยาได้โดยเฉพาะในคนที่ตระหนักถึงผลกระทบที่ตนเองได้รับ แล้วประสงค์จะแก้ไข ซึ่งมีวิธีการจัดการห้าข้อดังต่อไปนี้ 1)ใช้ปัญญา ควรพิจารณาใคร่ครวญถึงสาเหตุที่กระตุ้นให้ตนเองโกรธง่ายหายช้าอยู่เป็นประจำ ทั้งนี้การพิจารณาดังกล่าวพึงทำตอนที่หายโกรธบ้างแล้ว เพื่อจะได้ทบทวนดูว่าสาเหตุอะไรที่ทำให้เราโกรธ เช่น ลูกไม่ทำการบ้าน ภรรยาไม่ซื้ออาหารมาให้ รถยนต์เสีย เจ้านายไม่รับฟังความคิดเห็น เป็นต้น การได้ทบทวนถึงสาเหตุต่างๆครั้งแล้วครั้งเล่าจะทำให้เกิดความตระหนักรู้ (insight) โดยเฉพาะสิ่งกระตุ้นเร้าจากปัจจัยภายนอกที่ตัวเราควบคุมไม่ได้ ภาพจาก : Mandyme27 / pixabay 2)ดูลมหายใจเข้าออก เมื่อรู้สึกโกรธให้ย้ายความคิดจากสิ่งที่กระตุ้นเร้าให้โกรธมาดูที่ลมหายใจเข้าออกของตนเอง ดูลมเข้าดูลมออกอยู่เช่นนั้นไปเรื่อยๆ จะสังเกตเห็นว่าตนเองหายใจเร็วแรงและถี่ อันเกิดจากสารแห่งความเครียด(Adrenaline )หลังออกมามากนั่นเอง อนึ่งการพิจารณาดูลมหายใจเข้าออกนี้ในทางธรรมเรียกว่าการน้อมเข้ามาดูตน หากทำอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดความโกรธง่ายหายช้าได้ดีขึ้น 3)รู้ทันอารมณ์โกรธ การรู้ทันอารมณ์โกรธเป็นพุทธจิตวิทยา นั่นคือทันทีที่โกรธให้ใช้สติรับรู้และบริกรรมหรือพูดกับตนเองว่า “จิตมีอาการโกรธ” “จิตมีอาการโกรธ” ไม่ใช่ฉันโกรธ ทั้งนี้ในวิชาอภิธรรมการโกรธเป็นเพียงการทำงานของจิตหรือความคิดและสิ่งประกอบจิตและการปรุงแต่ให้เกิดโทสะ(ความโกรธ)เท่านั่นเอง การมุ่งรับรู้หรือรู้ทันเป็นสัมปชัญญะเป็นปัญญาคือรู้ตัวทั่วพร้อม จะช่วยบรรเทาความโกรธลงเรื่อยๆจนสงบในที่สุด 4)เดินหนีออกจากสถานการณ์ เมื่อถูกกระตุ้นให้เกิดความโกรธจากเหตุการณ์ใดๆก็ตาม หากทำข้อสองและข้อสามคือดูลมหายใจเข้าออกและรับรู้อารมณ์แล้ว อารมณ์ก็ยังรุนแรงอยู่ ให้เดินหนีออกจากสถานการณ์ที่กระตุ้นให้เกิดอารมณ์โกรธ และให้ควบคุมที่วาจาโดยใช้วาจาที่สุภาพและเรียบเฉย เช่นอาจบอกว่า “ขอโทษครับผมขอตัวก่อนนะครับ” จากนั้นก็เดินออกจากเหตุการณ์ไประงับอารมณ์ด้วยวิธีดูลมหายใจเข้าออกและวิธีรู้ทันความโกรธนั่นเอง 5)รับประทานยาระงับอารมณ์โกรธ หากพยายามทำข้อหนึ่งถึงข้อสี่อย่างสม่ำเสมอแล้ว ก็ยังควบคุมอารมณ์โกรธได้ไม่ดี ควรไปปรึกษาจิตแพทย์เพื่ออาจจะรักษาด้วยยาควบคู่กับพฤติกรรมบำบัดไปด้วย กล่าวคือการใช้ยาจะช่วยกระตุ้นสารเคมีในสมองคือสารแห่งความยับยั้งช่างใจและคลายเครียดให้หลังออกมามาก เพื่อช่วยให้ระงับความโกรธและความเครียดให้ดีขึ้นในที่สุด ภาพจาก : Claudio_Scott / pixabay หากผู้ที่เป็นคนโกรธง่ายหายช้าปฏิบัติได้ทั้งห้าข้อดังกล่าวมา จะช่วยแก้ปัญหาความโกรธง่ายหายช้าให้ดีขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นคนโกรธยากหายง่ายได้ในที่สุด และขอย้ำว่าวิธีการเหล่านี้จะใช้ได้ผลดียิ่งในรายที่ตระหนักรู้และประสงค์จะเยียวยาตนเองอย่างแท้จริงนั่นเองภาพปกจาก : 12019 /pixabay รศ. ดร.วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์ •นักวิชาการสื่อสารสุขภาพจิตและศาสนาปรัชญา•นักเขียนสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,มติชน,อมรินทร์ธรรมะ,ดีเอ็มจีและวิชบุ๊ค•ประธานสถาบันพัฒนาคุณภาพมนุษย์wuttipong academy เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี