ความเดิมจากตอนที่แล้ว ที่เราได้เล่าเรื่อง เสริมสร้างสมาธิให้ลูก ด้วยการเล่น "จิ๊กซอว์" ปรากฏว่าได้รับความสนใจ มีคุณพ่อคุณแม่สอบถามเข้ามาว่า ควรจะเริ่มต้นอย่างไรดี เพื่อให้ลูกเล่นต่อจิ๊กซอว์ได้ตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่วิ่งหนี หรือเลิกเล่นเสียก่อนที่จะต่อเสร็จ วิธีการที่เราใช้เวลาเล่นกับลูก คือ "ชวนกันเล่น จับมือกันเล่น ช่วยกันเล่น เล่นให้สนุก" โดยอาจสร้างแรงจูงใจในการเล่นเล็กน้อยว่า เราจะช่วยกันต่อให้เสร็จ เสร็จแล้วเราจะไป ... (กินไอติม / กินนม / กินขนม ฯลฯ ทำอะไรก็ได้ที่ลูกชอบ) ... สำหรับเด็กเล็ก การต่อจิ๊กซอว์อาจจะยากเกินไป อีกทั้งขนาดที่เล็กของจิ๊กซอว์ อาจจะไม่เหมาะกับนิ้วน้อย ๆ ของลูก จึงขอแนะนำให้เริ่มต้นจากหยอกบล็อกง่าย ๆ เล่น เช่น บล็อกสี บล็อก ABC บล็อกรูปทรง ฯลฯ ชวนกันเล่นบ่อย ๆ เพื่อความสนุกสนาน และเกิดทักษะในการเล่นค่ะ ... เด็กเรียนรู้จากการเล่นสนุก ท่องไว้ค่ะ ฮึบ ๆ ลูกชายเราชอบเล่นของเล่นแนวต่อ ๆ มาตั้งแต่ตัวจิ๋วแล้วค่ะ ดังนั้น เมื่อเข้าเรียนอนุบาล นิ้วน้อย ๆ เริ่มคล่องแคล่ว เข้าที่เข้าทาง อายุประมาณ 4 ขวบ 9 เดือน แม่จึงเริ่มหาจิ๊กซอว์ชิ้นใหญ่ ๆ มาให้ฝึกต่อ จิ๊กซอว์ชุดนี้หาซื้อง่ายมากค่ะ มีจำหน่ายใน 7-11 ราคาชุดละไม่เกิน 100 บาท ด้วยความที่เลี้ยงลูกเอง และใกล้ชิดลูกมาก จึงสังเกตเห็นว่า ลูกชอบอะไร นอกจากอ่านหนังสือ ละเลงสี ลูกชอบต่อจิ๊กซอว์นี่เอง ต่อเสร็จแล้วแม่เก็บเพื่อทำความสะอาดบ้าน ลูกก็รื้อมาต่อใหม่ เป็นแบบนี้บ่อยๆ ค่ะ ดังนั้น เมื่อลูก 5 ขวบ 2 เดือน เริ่มขยับจำนวนของจิ๊กซอว์เพิ่มขึ้นเป็น 100 ชิ้น 250 ชิ้น และ 500 ชิ้น ตามลำดับ ด้วยจำนวนชิ้นที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ขนาดของจิ๊กซอว์เล็กลงด้วยค่ะ ซึ่งการต่อครั้งแรก ๆ ยากแน่นอนสำหรับเด็กเล็กและผู้ใหญ่ ดังนั้น "ชวนกันเล่น จับมือกันเล่น ช่วยกันเล่น เล่นให้สนุก" 6 ขวบ 3 เดือน เราเริ่มขยับมาต่อ 1,000 ชิ้นกันแล้วค่ะ หลักการเหมือนเดิม คือ "ชวนกันเล่น จับมือกันเล่น ช่วยกันเล่น เล่นให้สนุก" สุดท้ายก็ต่อได้จนสำเร็จ ถือเป็นความสำเร็จที่เกิดจากความสนุกสนานร่วมกัน การเล่นต่อจิ๊กซอว์ที่บ้านเรา ต่อเล่นเสร็จแล้วจะเก็บเพื่อทำความสะอาดบ้าน แม่เก็บ ลูกต่อใหม่ ทำแบบนี้เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง จนลูกเกิดความชำนาญค่ะ จนช่วงหลัง ๆ ปล่อยเดี่ยวให้ลูกต่อ 1,000 ชิ้นได้เองได้จนจบเกมส์ ทำให้แม่มีเวลาแอบงีบอยู่ข้าง ๆ ประมาณ 2 ชั่วโมง สำหรับมือใหม่หัดต่อจิ๊กซอว์อาจจะเริ่มต้นไม่ถูกว่าจะเริ่มอย่างไรดี เรามีเทคนิคที่ใช้ในการเล่นกับลูก ดังนี้ค่ะ หาขอบ : เริ่มต่อขอบ เพื่อสร้างกรอบของภาพ แล้วขยายเข้ามาด้านใน แยกสี : สีเหมือนกันแยกเอาไว้รวมกัน แยกลาย : ลายใกล้เคียงกันเอาไว้รวมกัน ทั้งนี้ การเล่นกับลูกมีมากมายหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับแต่ละบ้านนะคะ ลูกบางบ้านอาจชอบเล่นต่อตึก ต่อเลโก้ ชอบวาดรูประบายสี ชอบงานประดิษฐ์ ฯลฯ สำหรับบ้านเรา สังเกตเห็นว่า ลูกชอบต่อจิ๊กซอว์ เราจึงมาส่งเสริมการเล่นทางนี้ อย่างไรก็ดี การเล่นต่อจิ๊กซอว์กับลูก ไม่ได้เป็นการเล่นเพื่อหวังผลความเป็นเลิศหรือเป็นอัจฉริยะของลูก ขอให้เล่นอย่างสนุกสนานร่วมกัน ซึ่งผลพลอยได้จากการเล่นต่อจิ๊กซอว์เพื่อให้สมองของลูกเกิดกระบวนการเรียนรู้ ฝึกสมาธิ ความจดจ่อในสิ่งตรงหน้า ความอดทนที่จะเล่นจนจบ การเล่นด้วยกัน การสลับการเล่น การสังเกต การวางแผน และการยอมรับความผิดพลาด ฯลฯ สิ่งเหล่าที่เกิดขึ้นจากการเล่นสนุกเหล่านี้ มีค่ามากในการพัฒนาสมองส่วนหน้า เพื่อให้เขาเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถควบคุมตนเองได้ทั้งอารมณ์ ความคิดและการกระทำ เพื่อเดินทางไปสู่เป้าหมายที่เขาตั้งใจไว้ในแต่ละช่วงของชีวิต รักลูก เล่นกับลูกกันนะคะ :)