ภาพโดย pixabay ภาพโดย pixabay ส่าหรีเป็นเครื่องแต่งกายที่คนไทยคุ้นเคยกันดีเพราะเห็นจากภาพยนต์และซีรีย์อินเดีย ส่าหรีในสายตาของคนส่วนใหญ่ทั่วโลกจะรู้จักว่าคือเครื่องแต่งกายประจำชาติของประเทศอินเดีย แต่ความจริงแล้วส่าหรีเป็นเครื่องแต่งกายของผู้หญิงแถบเอเชียใต้ ซึ่งได้แก่ประเทศอินเดีย เนปาล บังคลาเทศและศรีลังกา อาจจะด้วยความที่ประเทศอินเดียมีอุตสาหกรรมภาพยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทำการผลิตภาพยนต์ส่งออกภาพยนต์ต่อปีมากมายหลายเรื่องจึงทำให้คนส่วนใหญ่รู้จักส่าหรีผ่านอินเดียและมักคิดว่าเป็นชุดแต่งกายประจำชาติของอินเดียเท่านั้น และเมื่อเวลาเราดูหนังดูละครอินเดียเราจะเห็นว่าผู้หญิงอินเดียจะแต่งชุดส่าหรีกันในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นชุดส่าหรีเลยเป็นชุดประจำชาติที่คงมีไม่กี่ชาติที่ผู้คนสวมใส่ในชีวิตประจำวันตลอดเวลา เพราะโดยมากชุดประจำชาติจะถูกนำมาสวมใส่ในวาระโอกาสพิเศษเท่านั้น ใครที่เดินทางไปอินเดียก็จะสังเกตเห็นได้ว่าผู้หญิงอินเดียสวมใสส่าหรีกันเป็นปกติ อาจจะด้วยเหตุผลที่ว่าแม้ชุดส่าหรีจะเป็นชุดที่ใช้ผ้าเป็นจำนวนมากแต่ก็เป็นชุดที่ระบายอากาศได้เป็นอย่างดีเช่นกัน จึงทำให้สตรีอินเดียนิยมสวมใส่เพราะเหมาะกับสภาพอากาศที่แปรปรวนของประเทศอินเดียซึ่งเวลาร้อนก็ร้อนมากและเวลาหนาวก็หนาวจับใจจริง ๆ ค่ะ ภาพโดย pixabay ภาพโดย pixabay คำว่าส่าหรีมาจากภาษาสันสกฤตแปลว่าสติ หากจะดูจากความหมายของคำน่าจะมีความหมายเอาไว้เตือนและสอนใจผู้หญิงชาวภารตะว่าเวลาจะนุ่งห่มผ้าจะต้องดำรงสติเตือนใจในการแสดงออกให้เหมาะสมกับการเป็นผู้หญิงที่ดีงาม ลักษณะของชุดส่าหรีจะเป็นชุดที่มีเป็นผ้าคลุมยาว 5 - 6 เมตร ความกว้างถึง 5 ฟุต การแต่งกายชุดส่าหรีในปัจจุบันก็ยังคงรูปแบบเดิมเพียงแต่วัตถุดิบที่นำมาทำชุดอาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาแต่รูปแบบการนุ่งห่มก็ยังคงเหมือนเดิม จุดเด่นอีกประการของส่าหรีคือลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของชุดส่าหรีคือจะมีสีสันสดใสมาก ๆ ค่ะ ที่เห็นได้ชัดคือมีสีส้ม สีเหลือง สีแดง สีน้ำเงินและสีเขียว ชุดส่าหรีจะแบ่งเป็น 3 ชิ้น คือชิ้นบนเป็นตัวเสื้อแขนสั้น และอีกชิ้นจะเป็นผ้านุ่ง แล้วก็ผ้าห่มสำหรับพันรอบตัวและตวัดปลายผ้าเฉวียงไหล่ ซึ่งผ้าห่มนี้บางผืนอาจยาวถึง 6 เมตรเลยทีเดียว การนุ่งห่มก็จะแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ ซึ่งนี้ก็จะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของส่าหรีซึ่งแตกต่างไปตามแต่ละพื้นที่ เวลาคนอินเดียมองการนุ่งห่มส่าหรีก็จะทราบได้ว่าสตรีคนนี้มาจากภูมิภาคหรือมีภูมิลำเนาอยู่ที่ใดค่ะ ภาพโดย pixabay ภาพโดย pixabay ในสมัยก่อนชาวอินเดียนับถือศาสนาพราหมณ์ฮินดูเป็นหลักปัจจุบันนี้ก็มีศาสนาอื่นที่ชาวอินเดียรับเข้ามานับถือ แต่แฟชั่นการแต่งกายของผู้หญิงก็ยังมีรูปดั่งเดิมอาจมีเพิ่มเติมบางส่วนเพื่อให้ตรงกับหลักความเชื่อในศาสนา ยกตัวอย่างเช่นสตรีมุสลิมก็จะมีเพิ่มมาก็คือเสื้อตัวบนก็จะเป็นเสื้อแขนยาวและมีผ้าสำหรับใช้คลุมศีรษะอีกทีนึง แต่การห่มก็ยังคงรูปแบบสไตล์ส่าหรีเช่นเดิมค่ะ ในปัจจุบันชุดส่าหรีเริ่มมีแบบประยุกต์มากขึ้นตามแฟชั่นที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอื่น ผ้าที่ใช้ทำส่าหรีส่วนใหญ่ทำมาจากผ้าฝ้ายหรือผ้าไหมและใช้การทอที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ที่งดงาม คนไทยหลายคนที่มีโอกาสได้ไปเยือนประเทศอินเดียก็จะนิยมเช่าชุดหรือซื้อชุดส่าหรีเพื่อถ่ายภาพกับสถานที่สำคัญต่าง ๆ ในประเทศอินเดียเพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึก บางคนก็อาจจะหาซื้อชุดส่าหรีสําเร็จรูปพกพาติดตัวไปอินเดียเลยเพื่อความสะดวกไม่ต้องไปซื้อหาโน้น แต่จะบอกว่าชุดส่าหรีอินเดียสวย ๆ และราคาไม่แพงเลยนะคะ เทียบกับบ้านเราบางทีอาจจะถูกกว่าด้วยซ้ำค่ะ แต่หากใครอยากซื้อความสะดวกตื่นเช้ามาแต่งตัวสวย ๆ เก๋ ๆ ออกมาจากโรงแรมได้เลย โดยมากก็จะหาซื้อมาจากไทยซึ่งหาได้ตามประตูน้ำ ชุดส่าหรีเหล่านี้มีตั้งแต่ที่นำเข้าโดยตรงจากประเทศอินเดียรวมถึงตัดเย็บขึ้นในประเทศไทยก็มีค่ะ สามารถซื้อได้ตามสะดวกราคาก็มีตั้งแต่ราคาหลักร้อยจนถึงหลักพันต้น ๆ ค่ะ แต่หากคิดหาซื้อส่าหรีที่ประเทศอินเดียก็ต้องดูว่าทำผ้าชนิดใดและลวดลายการทอสวยงามถูกใจเราหรือไม่แค่ไหน ซึ่งชุดส่าหรีเหล่านี้จะมีขายทั่วไปตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ๆ เนื้อผ้าและลวดลายก็จะเป็นตัวกำหนดราคานะคะ ภาพโดย Unsplash ชุดส่าหรีบางชุดหากสวยงามและทอด้วยกรรมวิธีเฉพาะที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์แบบโบราณซึ่งอาจจะทอด้วยด้ายทองคำหรือด้ายเงินบริสุทธิ์ทำให้ส่าหรีบางชุดราคาหลักหมื่นหรือหลักแสนเลยก็มีค่ะ ปกติสาว ๆ ชาวอินเดียแม้นุ่งส่าหรีในชีวิตประจำแต่จะไม่ได้แต่งเครื่องประดับจัดเต็มแบบในภาพยนต์หรือในซีรีย์นะคะ อันนั้นมันก็ดูลำบากกับการทำกิจวัตรกิจกรรมประจำวันไปนิดหนึ่งค่ะ หากอยากจะดูสาว ๆ ชาวภารตะส่วมใส่ส่าหรีพร้อมเครื่องประดับอย่างสวยงามเหมือนในหนังกันทั้งบ้านทั้งเมือง ก็ต้องไปให้ตรงกับช่วงเทศกาลสำคัญของบ้านเค้าค่ะได้เห็นแน่ ยกตัวอย่างเช่นเทศกาลบูชาพระแม่อุมาเทวีและปางต่าง ๆ ครบทั้ง 9 ปางที่เรียกว่าเทศกาลนวราตรี ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี เทศกาลนวราตีนี้จะมีการจัดงาน 9 - 10 วันเห็นจะได้ ใครไปช่วงนี้ก็จะได้เห็นสาว ๆ อินเดียแต่งตัวสวยงามโดยเฉพาะวันสุดท้ายที่จะส่งพระแม่อุมาเทวีกลับสวรรค์ วันนั้นสาว ๆ ทั้งหลายยิ่งจัดเต็มกันเลยทีเดียวค่ะ ภาพการนุ่งห่มส่าหรีของสตรีชาวภารตะมีมาแต่โบราณโดยดูได้จากภาพปูนปั้นที่วัดคาจูราโฮ ซึ่งสร้างเมื่อประมาณ ค.ศ.930 -950 จะเห็นว่ารูปปั้นเหล่านี้หากเป็นรูปปั้นสตรีที่นุ่งผ้าจะนุ่งห่มแบบส่าหรีค่ะ (ให้ล็งชุดส่าหรีไว้ค่ะ อย่างอื่นดูไว้ก็ยุบหนอพองหนอนะคะ) ภาพโดย pixabay ความพิเศษของชุดส่าหรีอีกอย่างคือเคยมีการค้นพบเทวรูป และภาพปูนปั้นโบราณอายุนานนับพันปี พบว่าการแต่งกายของสตรีชาวภารตะในยุคโบราณก็ไม่ต่างกับการแต่งกายของสาวภารตะยุคนี้เลย ดังนั้นหากจะบอกว่าชุดส่าหรีเป็นแฟชั่นอมตะที่ผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนานก็ไม่ผิดค่ะ